แคนนอน จัดงาน PrintHOW Bangkok 2022 ครั้งแรกในไทย ดึงผู้เชี่ยวชาญระดับโลกร่วมเผยเทรนด์การพิมพ์ในโลกยุคใหม่ แนะอุตสาหกรรมเร่งปรับตัวจากการพิมพ์ระบบออฟเซ็ตสู่ดิจิทัลเพื่อรองรับการเติบโตอย่างยั่งยืน
แคนนอน จัดงาน PrintHOW Bangkok 2022 เวทีสัมมนาระดับโลกของแคนนอนที่จัดขึ้นเพื่อเผยเทรนด์ใหม่ล่าสุด องค์ความรู้ และนวัตกรรมใหม่ ๆ ในวงการพิมพ์ มุ่งหวังผลักดันให้ธุรกิจการพิมพ์ปรับตัวให้สามารถตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปและเปิดรับโอกาสใหม่ ๆ โดยครั้งนี้ถือเป็นงานสัมมนา PrintHOW ครั้งที่ 6 ของแคนนอนและเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยได้ทำหน้าที่เจ้าภาพในการจัดงาน โดยงาน PrintHOW ในปีนี้มุ่งเน้นประเด็นเรื่องการเปลี่ยนผ่านจากการพิมพ์ระบบออฟเซ็ตสู่การพิมพ์แบบดิจิทัล ชวนผู้เชี่ยวชาญในวงการร่วมพูดคุยเกี่ยวกับเทรนด์การพิมพ์หลังยุคโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อความต้องการของลูกค้า ตลอดจนอธิบายปัจจัยต่าง ๆ ที่ช่วยขับเคลื่อนธุรกิจให้มีประสิทธิภาพและเติบโตได้อย่างยั่งยืน อีกหนึ่งไฮไลต์สำคัญคือการแชร์เรื่องราวความสำเร็จของสำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ประสบความสำเร็จในการทรานสฟอร์มธุรกิจของสำนักพิมพ์จากระบบออฟเซ็ตเป็นระบบดิจิทัล เพื่อร่วมสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้เข้าร่วมงานสัมมนา
งาน PrintHOW Bangkok 2022 จัดขึ้น ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ มีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากจากหลากหลายภาคส่วน ทั้งพันธมิตรและลูกค้าของแคนนอน รวมถึงตัวแทนจากสมาคมการพิมพ์ต่าง ๆ ซึ่งมาจากทั้งประเทศไทย และเดินทางมาจากเกาหลีใต้ สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และศรีลังกา โดยประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพการจัดงานในปีนี้ ด้วยศักยภาพของธุรกิจการพิมพ์ในประเทศและอุตสาหกรรมการพิมพ์ของไทยที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ งานดังกล่าวยังจัดขึ้นในช่วงเดียวกับงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ซึ่งเป็นมหกรรมหนังสือที่ใหญ่ที่สุดของไทย ถือเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมงานได้สำรวจความเคลื่อนไหวในแวดวงธุรกิจการพิมพ์อย่างใกล้ชิดอีกด้วย
มร.ฟิลลิป ชิว ผู้อำนวยการกลุ่มผลิตภัณฑ์แคนนอน โปรดักชั่น พรินท์ติ้ง แคนนอน(สิงคโปร์) เผยว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นตัวเร่งสำคัญให้เกิดการทรานสฟอร์มสู่ดิจิทัลในทุกอุตสาหกรรม ซึ่งร่วมถึงอุตสาหกรรมการพิมพ์ด้วย ทั้งยังชี้ให้เห็นว่าแวดวงการพิมพ์กำลังเผชิญกับความท้าทายเพราะสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ลูกค้ามีความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
มร. ปีเตอร์ วูฟ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาดและรองประธานอาวุโสกลุ่มผลิตภัณฑ์แคนนอน โปรดักชั่น พรินท์ติ้ง อธิบายว่าวงการพิมพ์ต้องหันมาให้ความสำคัญกับการทรานสฟอร์มสู่ระบบดิจิทัลและคำนึงถึงความยั่นยืน เพื่อที่จะเติบโตในโลกที่เต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลง ทั้งยังชี้ว่าการสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อเสริมทัพประสิทธิภาพของทั้งห่วงโซ่ธุรกิจ ต้องอาศัยทุกความร่วมมือจากทุกภาคส่วน "แคนนอน ทำงานร่วมกับลูกค้าอย่างใกล้ชิดเพื่อดูแลในเส้นทางการทรานสฟอร์มสู่โลกดิจิทัลเป็นไปอย่างราบรื่นและคุ้มค่าการลงทุน เราพร้อมขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจท่ามกลางความท้าทาย ด้วยความรู้ความเชี่ยวชาญอันยาวนานและโซลูชันธุรกิจที่ครบครันของแคนนอน"
มิสมิเคล่า ไซกุส - ผู้อำนวยการฝ่ายการจัดการธุรกิจ และ มร. คริสตอฟ เกาส์ - ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด กลุ่มผลิตภัณฑ์แคนนอน โปรดักชั่น พรินท์ติ้ง เผยว่าความต้องการงานพิมพ์ในปริมาณน้อย งานพิมพ์ที่ปรับแต่งได้ตามความต้องการ และระบบการพิมพ์อัตโนมัติ เป็นปัจจัยที่ทำให้ระบบการพิมพ์แบบดิจิทัลเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ และเทคโนโลยีการพิมพ์ระบบอิงค์เจ็ทที่ล้ำสมัยก็สามารถสร้างสรรค์งานพิมพ์จำนวนน้อยที่ผลิตได้อย่างรวดเร็วและคงคุณภาพระดับสูงไว้ได้ พร้อมยังเผยว่า สำนักพิมพ์ชั้นนำในสหรัฐอเมริกาและในยุโรป เริ่มนำรูปแบบการพิมพ์แบบ "On-demand หรือสั่งซื้อแล้วค่อยพิมพ์" มาใช้มากขึ้น ซึ่งเป็นการช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายและลดขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ด้าน ศาสตราจารย์ ดร. อรัญ หาญสืบสาย ที่ปรึกษาสำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ให้เกียรติมาเป็นผู้บรรยายหลักในงาน ได้ร่วมแบ่งปันมุมมองต่อธุรกิจการพิมพ์ในประเทศไทย พร้อมเล่าถึงเทรนด์การพิมพ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไว้ว่า "องค์กรวิจัย Smithers ชี้ว่า 3 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ อินโดนีเซีย เวียดนาม และประเทศไทย ติดอันดับ 10 ตลาดการพิมพ์ที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก"
นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ ดร. อรัญ ยังได้เผยถึงความท้าทายที่อุตสาหกรรมการพิมพ์ในไทยต้องเผชิญและการใช้ระบบการพิมพ์ดิจิทัลที่เข้ามาช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว "เรื่องท้าทายหลักของธุรกิจสิ่งพิมพ์ในปัจจุบัน ก็คือ อุตสาหกรรมกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากการผลิตงานในปริมาณมาก สู่การสร้างงานพิมพ์จำนวนน้อยที่ยืดหยุ่นและปรับได้ตามความต้องการของลูกค้า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ธุรกิจต้องคำนึงถึงการประหยัดค่าใช้จ่ายและประสิทธิภาพในการผลิตให้มากขึ้น เพื่อให้โตได้อย่างมั่นคง"
สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU Press) ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2520 โดยให้บริการผลิตตำรา หนังสือวิชาการระดับอุดมศึกษาและหนังสือทั่วไปในประเทศไทย ด้วยธุรกิจการพิมพ์เป็นตลาดที่มีการแข่งขันสูง ทาง CU Press จึงเล็งเห็นถึงโอกาสในการทรานสฟอร์มสู่การพิมพ์ดิจิทัลเพื่อก้าวนำหน้าเทรนด์ที่กำลังเปลี่ยนอุตสาหกรรม พร้อมปรับธุรกิจให้พร้อมรองรับโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ศาสตราจารย์ ดร. อรัญ กล่าวว่า "หลังจากที่ CU Press ได้ติดตั้งแท่นพิมพ์ดิจิทัลอิงก์เจ็ต Canon ColorStream 6700 Chroma เราก็สามารถสร้างงานคุณภาพสูงที่ผลิตในจำนวนน้อยด้วยราคาที่คุ้มค่ามากขึ้น และแท่นพิมพ์ดิจิทัลนี้ยังช่วยขับเคลื่อนพันธกิจของสำนักพิมพ์ในการเป็นธุรกิจปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (carbon-neutral) เพราะการใช้หมึก Water-based ระบบการทำงานที่ประหยัดพลังงาน และลดการปล่อยคาร์บอนตลอดทั้งกระบวนการผลิต"
ศาสตราจารย์ ดร. อรัญ ยังทิ้งท้ายว่ารัฐบาลไทยและทั่วโลก กำลังขอความร่วมมือจากธุรกิจต่าง ๆ ให้คำนึงถึงความยั่งยืนในการดำเนินงาน และการพิมพ์ดิจิทัลก็เป็นตัวช่วยสำคัญในการสร้างสรรค์งานพิมพ์ที่ทรงประสิทธิภาพ ผลิตได้ในจำนวนน้อย และลดขยะจากการพิมพ์เกิน ในขณะที่ทั่วโลกกำลังดำเนินการเพื่อสร้างโลกที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรมการพิมพ์ก็ต้องเร่งทรานสฟอร์มสู่ระบบดิจิทัลเพื่อการเติบโตที่อย่างยั่งยืนเช่นเดียวกัน
งานสัมมนา PrintHOW Bangkok 2022 ยังได้พาผู้เข้าร่วมไปเยี่ยมชมสำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อให้เหล่าพาร์ทเนอร์และลูกค้าแคนนอนได้สัมผัสถึงนวัตกรรมการพิมพ์ที่ล้ำสมัยที่ทำให้สำนักพิมพ์สามารถสร้างสรรค์งานในหลากหลายรูปแบบได้อย่างรวดเร็ว
สำหรับข้อมูลอัปเดตล่าสุดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และบริการของแคนนอน สามารถเข้าชมได้ที่ https://th.canon