กว่า 10 ปี ที่หมู่บ้านคีรีวง ตำบลกำโลน อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช แก้ปัญหาความต้องการพลังงานน้ำที่ต้องส่งไปยังสวนผลไม้ ด้วยการนำหลักการทำงานของเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานน้ำมาประยุกต์ใช้กับแหล่งน้ำจากเทือกเขาหลวง ที่มีลำธารน้ำไหลตลอดทั้งปี
ผศ.ดร. อุสาห์ บุญบำรุง สถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่า จากโจทย์การทำงานที่ผ่านมาทำให้มีการพัฒนากังหันน้ำผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีการทำงานร่วมกับชาวบ้านในหมู่บ้านคีรีวง ซึ่งการทำงานดังกล่าวนำไปสู่การพัฒนาแผนแม่บทเพื่อส่งเสริมกังหันน้ำขนาดเล็กในชุมชนรอบเทือกเขานครศรีธรรมราช โดยใช้กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในรูปแบบการแสดงความคิดเห็นถึงประโยชน์ของทุกฝ่ายแบบมีส่วนร่วม
ทั้งนี้ แผนแม่บทดังกล่าว ถือเป็นการออกแบบการทำงานร่วมกันในชุมชนคีรีวงและชุมชนโดยรอบเทือกเขาหลวงในโจทย์ด้านต่างๆ เช่น เรื่องปัญหาการใช้งาน การรวบรวมข้อมูลต่างๆ การวางแผนและดำเนินการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ และสุดท้ายคือการต่อยอดการทำงานไปยังชุมชนอื่นๆ ใกล้เคียง
"การจัดทำแผนแม่บทในครั้งนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะการนำกังหันน้ำมาใช้งานในพื้นที่คีรีวง ถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง ซึ่งในอนาคตมองว่าการจะทำอะไรต่อ หรือการเดินหน้าต่อจะเป็นไปในทิศทางไหน รูปแบบใด หากทำในเฉพาะลำพังชุมชนคีรีวงเองอาจจะมองภาพได้ไม่กว้าง จึงต้องชักชวนพลังงานจังหวัดหรือนักเรียนนักศึกษาจากวิทยาลัยเทคนิคหลายๆ ต่างๆในพื้นที่ใกล้เคียง เข้ามาช่วยกันแสดงความคิดเห็น เพื่อนำไปสู่การกำหนดทิศทางการใช้งานกังหันน้ำขนาดเล็กและการบริหารจัดการน้ำที่มีความชัดเจนมากขึ้น"
จากการสำรวจพบว่า การใช้งานของกังหันน้ำประกอบด้วย 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มคนที่ใช้น้ำในช่วงการเก็บเกี่ยวผลไม้ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-กันยายน ของทุกปี 2.กลุ่มคนที่ใช้น้ำตลอดทั้งปี เป็นกลุ่มคนที่พักอาศัยอยู่บนที่ราบภูเขาซึ่งต้องใช้ไฟฟ้าในการอุปโภคบริโภค ดังนั้น การจัดทำแผนแม่บทครั้งนี้ถือเป็นการเดินหน้าแผนพัฒนากังหันน้ำที่นำไปสู่การทำงานเพื่อหนุนเสริมความเข้มแข็งของกลุ่มคนที่ใช้กังหันน้ำและการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นรูปธรรม
ด้านนายวิรัตน์ ตรีโชติ เลขาวิสาหกิจชุมชนกลุ่มกังหันน้ำคีรีวง กล่าวว่า แม้ว่าชุมชนคีรีวงจะมีแม่น้ำที่มีน้ำไหลผ่านตลอดทั้งปี แต่บริบทพื้นที่ของคีรีวงมีพื้นที่ราบสูงอย่างบนภูเขาหลวง ซึ่งเป็นสวนผลไม้ชาวบ้านบางส่วนไม่สามารถใช้น้ำได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ จึงต้องอาศัยการใช้กังหันน้ำขนาดเล็กที่นักวิจัยมาติดตั้งเข้ามาตอบโจทย์ ซึ่งที่ผ่านมากังหันน้ำขนาดเล็กสามารถใช้แก้ปัญหาเรื่องน้ำแล้งในชุมชนคีรีวงได้เป็นอย่างดี
"ช่วงเวลาที่ใช้น้ำเยอะที่สุดคือช่วงฤดูเก็บเกี่ยวผลไม้ เพราะชาวบ้านหลายคนมีสวนอยู่บนภูเขา และมีกลุ่มคนที่พักอาศัยอยู่ต้องใช้ทุกวัน กังหันน้ำสามารถแก้ปัญหาน้ำแล้งโดยเฉพาะในช่วงเดือนเมษายนได้เป็นอย่างดี ซึ่งในหน้าแล้งชาวบ้านจะดึงน้ำจากคลองไปใช้ในสวน ดังนั้น การจัดทำแผนแม่บทนี้ขึ้นมาเป็นการเชื่อมโยงชุมชนคีรีวงและชุมชนโดยรอบเพื่อบริหารจัดการน้ำให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุด"
ขณะที่นายอรุณ อินทสะระ พลังงานจังหวัดพัทลุง กล่าวว่า ในฐานะตัวแทนของพลังงานจังหวัด เบื้องต้นพลังงานจังหวัดทุกพื้นที่ได้มีการดูแลเรื่องงบประมาณในการทำงานเรื่องพลังงานร่วมกันท้องถิ่น ซึ่งการจัดทำแผนแม่บทในครั้งนี้ถือเป็นวาระเร่งด่วนที่ทำให้หลายพื้นที่ได้ตระหนักถึงการใช้น้ำได้อย่างมีแบบแผน รวมทั้งการมีเครือข่ายที่เข้ามาช่วยหนุนเสริมและเรียนรู้การทำงานด้านพลังงานน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
"เรื่องพลังงานกังหันน้ำโซลาเซลล์ เป็นหน้าที่โดยตรงของพลังงานจังหวัดที่จะช่วยในเรื่องการดูแลงบประมาณและให้คำปรึกษาในแต่ละพื้นที่ที่รับผิดชอบ ซึ่งการเข้าร่วมประชุมแผนแม่บทในครั้งนี้ เพื่อนำไปสู่การทำงานร่วมกันระหว่างจังหวัดและพื้นที่โดยรอบที่อยู่ใกล้เคียงพื้นที่เขาหลวง ซึ่งนำไปสู่การขยายผลในพื้นที่ต่างๆ ต่อไป"
ปัจจุบัน ทีมผู้วิจัยได้ศึกษาพัฒนาต้นแบบชุดกังหันน้ำผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กที่ครอบคลุมทุกลักษณะการใช้งาน เพื่อเพิ่มความสามารถในการเข้าถึงนวัตกรรมกังหันน้ำผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กในประเทศ ที่ขนาดกำลังการผลิตไม่เกิน 10 กิโลวัตต์ ซึ่งเพียงพอสำหรับการใช้งานในแต่ละครัวเรือน โดยมีการติดตั้งสาธิตในพื้นที่บ้านคีรีวงจังหวัดนครศรีธรรมราชแล้วกว่า 140 ชุด พิกัดกำลังไฟฟ้ารวมกว่า 91 กิโลวัตต์ และสามารถขยายผลไปยังชุมชนในพื้นที่ห่างไกลอื่นๆ ใกล้เคียง
สำหรับการจัดทำแผนแม่บทดังกล่าว จึงเป็นความร่วมมือกันในการพัฒนาองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีไฟฟ้าพลังงานน้ำในประเทศที่เกิดขึ้นระหว่างนักวิจัยและชาวบ้านในพื้นที่ ที่มีการพึ่งพาเทคโนโลยีของตนเองในการออกแบบและผลิตเครื่องกังหันน้ำผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก อันเป็นทางเลือกที่มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ประเทศไทยในปัจจุบัน ซึ่งการจัดทำแผนแม่บทในครั้งนี้ถือเป็นการสร้างคนรุ่นใหม่ให้เข้ามามีบทบาทในเรื่องการบำรุงรักษาและการทำงานในด้านพลังงาน อันจะนำไปสู่การพัฒนาเรื่องการตอบโจทย์การใช้พลังงานน้ำในชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ