หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท เป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งของอาการปวดหลัง หากเส้นประสาทเกิดการอักเสบจะทำให้ผู้ป่วยมาพบแพทย์ด้วยอาการปวดขา ชาขา แต่ถ้าไปกดทับที่เส้นประสาท จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการอ่อนแรงชัดเจน โดยปกติแล้วหลังจากที่เกิดการอักเสบที่เส้นประสาทจะทำให้ปวดมากในช่วงแรก ๆ แต่อีกประมาณ 2 สัปดาห์ อาการจะดีขึ้นแต่จะยังเหลืออาการปวดตึงๆ อยู่
การตรวจวินิจฉัย เมื่อแพทย์ซักประวัติก็พอจะทราบแล้วว่ามีสาเหตุจากหมอนรองกระดูกหรือไม่ และถ้าสงสัยว่าจะเป็นหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท แพทย์จะส่งผู้ป่วยเข้ารับการสแกนด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือ MRI ซึ่งสามารถมองเห็นลักษณะของหมอนรองกระดูกที่มาทับเส้นประสาทได้อย่างชัดเจน
เมื่อเป็นแล้วรักษาอย่างไร? การรักษาทำได้หลายวิธี ส่วนใหญ่แพทย์จะพิจารณาเป็นรายๆ ไป โดยดูหลายอย่างตั้งแต่ตำแหน่ง ความรุนแรงของการกดทับ ความเสื่อมของตัวกระดูกสันหลัง หรือหมอนรองกระดูกสันหลังของผู้ป่วย โดยการรักษาสามารถทำได้ตั้งแต่การทานยาร่วมกับการทำกายภาพบำบัด หรือการฉีดยาสเตียรอยด์เข้าไปในโพรงประสาท เพื่อลดอาการปวด ในผู้ป่วยบางคนที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาข้างต้น และยังมีอาการปวดมากจนไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ปกติ แพทย์จะแนะนำให้ทำการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดแผลเล็กผ่านกล้อง
การผ่าตัดแผลเล็กผ่านกล้อง ศัลยแพทย์จะสอดกล้องเข้าไปยังเส้นประสาทส่วนที่ถูกกดทับ ผ่านทางแผลผ่าตัดขนาดเล็กประมาณ 1 ซม. ซึ่งจะช่วยให้แพทย์มองเห็นเส้นประสาทได้ชัดเจนมากขึ้น และเลือกตัดเฉพาะส่วนของหมอนรองกระดูกที่ไปกดทับเส้นประสาทออกได้โดยไม่ต้องตัดเลาะกล้ามเนื้อส่วนที่ดีออกลดการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อโดยรอบ ใช้เวลาไม่นานประมาณ 45 นาที ถึง 1 ชั่วโมง ผู้ป่วยเจ็บตัวน้อย แผลมีขนาดเล็ก ลดภาวะแทรกซ้อนและฟื้นตัวหลังผ่าตัดเร็วขึ้น
** โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท สามารถรักษาได้โดยไม่ต้องผ่าตัด ถ้ารีบมาพบแพทย์ตั้งแต่เริ่มมีอาการ แต่ถ้าอาการรุนแรงและจำเป็นต้องผ่าตัดจริงๆ ปัจจุบันด้วยเครื่องมือและเทคโนโลยีทางการแพทย์ รวมถึงความเชี่ยวชาญของแพทย์ จึงช่วยให้การผ่าตัดมีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดการบาดเจ็บ ลดการนอนโรงพยาบาล และช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น...
"เทคโนโลยีการผ่าตัดแผลเล็กผ่านกล้องเอ็นโดสโคป" คลิกชม >> https://bit.ly/3CzHf0e