"มากกว่าหน้าที่...คือการดูแลด้วยหัวใจ" พลิกหัวใจทีมบุคลากรทางการแพทย์ "ศูนย์ดูแลผู้ป่วยสูงอายุยันฮี"

ข่าวทั่วไป Monday November 7, 2022 08:50 —ThaiPR.net

"ผู้สูงอายุ" เป็นอีกช่วงอายุหนึ่งที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษ ด้วยภาวะความเจ็บป่วย ซึ่งอาจเกิดความเสี่ยงจนนำไปสู่การเกิดภาวะฉุกเฉินได้ มีผู้ป่วยสูงอายุหลายท่านที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างถูกต้อง จากบุคลากรทางการแพทย์ที่มีประสบการณ์และความชำนาญสูง ประกอบกับความรับผิดชอบและหน้าที่ที่ต้องแบกรับของลูกหลานในปัจจุบัน อาจเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดข้อจำกัดและเป็นอุปสรรคในการดูแลผู้ป่วยสูงอายุ

ด้วยเหตุนี้ บทบาทของ 'สถานบริบาลหรือศูนย์ดูแลผู้ป่วยสูงอายุ' จึงเกิดขึ้นพร้อมกับกลุ่มบุคลากรที่อุทิศตนเพื่อทำหน้าที่เสมือนฮีโร่และเหล่านางฟ้าของคุณตาคุณยาย ผู้เป็นหัวใจหลักของสถานที่แห่งนี้

ดังตัวอย่างที่ศูนย์ผู้สูงอายุยันฮี ได้ก่อตั้งขึ้นภายใต้การดูแลของโรงพยาบาลยันฮี ด้วยความพร้อมและประสบการณ์ในการดูแลผู้สูงอายุแบบมืออาชีพ จุดแรกเริ่มเกิดจากการเปิดรับบริการดูแลผู้ป่วยสูงอายุราวปี 2540 และได้รับความไว้วางใจอย่างต่อเนื่องจนถือกำเนิดเป็น "ศูนย์ดูแลผู้ป่วยสูงอายุยันฮี" อย่างเป็นทางการและเปิดให้บริการเรื่อยมา ณ ปัจจุบันกว่า 20 ปี ประกอบไปด้วยสหวิชาชีพ ไม่ว่าจะเป็นทีมแพทย์ , ทีมพยาบาล , ทีมผู้ช่วยพยาบาล ตลอดจนนักโภชนาการ นักกายภาพบำบัดรวมถึงนักกิจกรรมบำบัด โดยบุคคลากรทุกท่านได้รับการคัดสรรค์มาเป็นอย่างดี ผ่านการอบรมในทุกสาขาวิชาชีพและมีการประเมินการทำงานเพื่อการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรให้พร้อมในการปฏิบัติงานอยู่อย่างต่อเนื่อง

นายแพทย์ชวลิต หล้าคำมี แพทย์ผู้ชำนาญการประจำศูนย์ผู้สูงอายุโรงพยาบาลยันฮี กล่าวกับเราว่า "เป้าหมายสูงสุดก็คือ การดูแลผู้ป่วยสูงอายุให้เหมือนดูแลพ่อแม่ของเราเอง ถ้าคิดว่าเราดูแลญาติผู้ใหญ่หรือพ่อแม่อย่างไรให้เราปฏิบัติตัวอย่างนั้น อันนี้ก็เป็นปณิธานของศูนย์ผู้สูงอายุยันฮี โดยเรามุ่งดูแลเพื่อตอบสนองตามความต้องการของผู้สูงอายุในแต่ละคน เพราะแต่ละบุคคลที่เข้ามาในศูนย์ของเรามาจากหลายครอบครัว มีความต้องการไม่เหมือนกัน เราต้องการให้การดูแลเพื่อตอบสนองความต้องการของบ้านนั้น ครอบครัวนั้นให้ได้มากที่สุด โดยให้ความสำคัญทั้งทางด้านร่างกาย ทางด้านจิตใจ ทางด้านอารมณ์ ทางด้านกิจกรรมสันทนาการต่างๆ เพื่อให้ผู้สูงอายุมีส่วนร่วมในการใช้ความคิดและอยู่กับเราอย่างมีความสุขที่สุดในระยะยาว"

ถ้อยคำที่กลั่นมาจากหัวใจของแม่ทัพใหญ่ ผู้ที่ทำหน้าที่ประจำศูนย์ผู้สูงอายุแห่งนี้มาตั้งแต่เริ่มต้น และดูแลรับผิดชอบในส่วนการประเมินความพร้อมและคัดกรองผู้ป่วยสูงอายุที่จะเข้ามาพักในศูนย์ฯ ตลอดจนดูแลเรื่องสุขภาพทางด้านร่างกายและจิตใจ อีกทั้งยังเป็นผู้ทำหน้าที่ประสานงานกับญาติและทีมพยาบาลในการร่วมดูแลผู้ป่วยเพื่อให้เกิดความพึงพอใจและประสิทธิภาพสูงสุด ด้วยความตั้งใจและใช้หัวใจนำทาง คุณหมอมีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยสูงอายุมานับไม่ถ้วน "ผู้ป่วยที่จะเข้ามาที่ศูนย์เราค่อนข้างหลากหลาย บางท่านอาจจะเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่มีอายุน้อยกว่า60 ปีและเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่ควรได้รับการดูแล และมาพักที่นี่เนื่องด้วยข้อจำกัดในเรื่องของเวลาหรือสถานภาพการดูแลที่ญาติอาจจะไม่สามารถดูแลที่บ้านได้" คุณหมอกล่าว

ทุกเคสที่เข้ามาในศูนย์ผู้ป่วยสูงอายุแห่งนี้ คุณหมอชวลิตจะเป็นผู้คัดกรองด้วยตนเองก่อน ถึงความพร้อมในการดูแล เพราะผู้ป่วยสูงอายุบางท่านจำเป็นต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ อาทิ มีโรคที่ยังต้องดูแลเฉพาะอยู่ คุณหมออธิบายให้ฟังว่า "ผู้ป่วยสูงอายุนั้น โดยปกติแล้วแต่ละท่านก็จะมีโรคประจำตัวอยู่แล้วเป็นส่วนใหญ่ ฉะนั้นกลุ่มนี้ก็จะต้องมีการนัดหมายกับโรงพยาบาลที่รักษาประจำ มีการรับยา มีการตรวจเลือด เวลารับเข้ามาที่ศูนย์ฯ เราจะประเมินก่อน ซึ่งตรงนี้ถือว่าเป็นข้อดีของศูนย์เรา เพราะศูนย์ผู้สูงอายุของเราตั้งอยู่ใกล้กับโรงพยาบาลยันฮีอยู่แล้ว ในแง่ของผู้ป่วยสูงอายุที่มีโรคประจำตัวหรืออะไรก็ตามที่ต้องได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง เช่น ต้องได้รับการตรวจ Follow up มีการรับยาอย่างต่อเนื่อง เราสามารถที่จะรับดูแลในกรณีแบบนี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นกรณีต้องมีการตรวจเลือดหรือมียา เรามีแพทย์ที่คอยให้คำปรึกษาดูแลที่ครบวงจร

นอกจากนี้ เราอาจจะเป็นตัวช่วยในแง่ของการตรวจเลือดให้ หรือเอาผลเลือดไปรับยาที่โรงพยาบาลเดิม หรืออีกกรณีหนึ่งในกรณีที่ผู้สูงอายุของเราเองมีการเจ็บป่วยแบบเฉียบพลันซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ในผู้สูงอายุอยู่แล้ว เราสามารถ Transfer ผู้ป่วยเข้ามาที่โรงพยาบาลได้เลย โดยที่แพทย์ประสานกับญาติถึงเหตุการณ์ และTransfer ผู้ป่วยเข้ามาทันที ซึ่งตัวญาติเองก็จะอุ่นใจในกรณีแบบนี้" คุณหมอชวลิต กล่าว

ในขณะเดียวกัน คุณยุพาพร ชุมมา พยาบาลวิชาชีพประจำศูนย์ผู้สูงอายุโรงพยาบาลยันฮี นางฟ้าประจำศูนย์ผู้สูงอายุแห่งนี้มากว่า 5 ปี ได้ร่วมเปิดใจกับเราว่า "ด้วย 'ใจรัก' จึงตัดสินใจเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์แห่งนี้ ซึ่งผู้ที่จะมาทำหน้าที่นี้จะต้อง มีความพร้อมของร่างกาย, มองโลกในแง่บวก และต้องมีความเข้าอกเข้าใจในผู้สูงอายุเป็นสำคัญ เพราะนอกจากทักษะในวิชาชีพแล้ว ต้องใช้ความคุ้นเคย ความไว้วางใจ การสื่อสารบางอย่างต้องใช้เวลาและต้องรู้ใจกัน บางเคสไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้เลยและไม่สามารถพูดสื่อสารอะไรได้

ผู้ป่วยสูงอายุที่เข้ามาให้เราดูแลโดยส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุติดเตียง มีการเคลื่อนไหวค่อนข้างน้อย มีปัจจัยเสี่ยงที่พบโดยตลอด คือ การเกิดแผลกดทับ ซึ่งเป็นตัวชี้วัดสำคัญของเรา โดยทางศูนย์ของเราจะเน้น 'ไม่ให้เกิดแผลกดทับ' ถ้ามีแผลกดทับมาจากที่บ้าน เป้าหมายสูงสุดของเราก็คือ 'ทำให้แผลหายเร็วที่สุดและไม่เกิดแผลซ้ำ' ซึ่งทางเราค่อนข้างภูมิใจมากสำหรับเรื่องนี้ เรามีระบบเฝ้าระวังเกี่ยวกับการป้องกันแผลกดทับอย่างดีเยี่ยม ไม่ว่าจะเป็นการพลิกตะแคงตัว การสำรวจจุดกดทับต่าง ๆ ตลอดจนการทำความสะอาดผิวหนังให้แก่ผู้ป่วย นอกจากนี้เรายังมีการเฝ้าระวังการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ และ การติดเชื้อจากการสำลัก เพราะผู้สูงอายุนั้นระบบการกลืนจะเสื่อมไปตามวัย จะสำลักค่อนข้างง่าย ซึ่งอาจทำให้เกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ(ปอดติดเชื้อ)ได้อีกด้วย"

คุณพยาบาลยุพาพร เล่าให้เราฟังว่า "ทุกวัน เราจะผลัดกันดูแลกิจวัตรประจำวันทั้งหมดของผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหาร การทำความสะอาดร่างกาย การขับถ่าย ตลอดจนกระตุ้นกิจกรรมสันทนาการต่างๆ รวมไปถึงการพักผ่อนนอนหลับ อีกทั้งเราจะประเมินความต้องการแต่ละบุคคล เพื่อวางแผนการดูแล การกระตุ้นและการฟื้นฟูสุขภาพ เพื่อตอบสนองความต้องการอย่างดีที่สุด และจะเตรียมความพร้อมอยู่ตลอดเวลาด้วยการประเมินผู้ป่วยสูงอายุถึงความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นจากสภาวะของโรคต่างๆ ที่ท่านเป็นอยู่ด้วย"

แน่นอนว่า งานดูแลผู้ป่วยสูงอายุนั้นจะต้องใช้ความรักและความอดทนสูง ซึ่งใน วารสารพยาบาลกระทรวงสาธารณสุข ให้คำจำกัดความสิ่งเหล่านี้ว่า "Humanize Health Care" คือ เป็นกระบวนการดูแลที่มี "ความเป็นมนุษย์" ที่ให้ความเมตตาดูแลด้วยความจริงใจ อยากช่วยเหลือให้ผู้ป่วยพ้นทุกข์ทรมาน ไม่ว่าจะเจ็บป่วยทางกายหรือจิตใจ คุณหมอชวลิต เสริมว่า "โดยส่วนตัวของผม ผมรู้สึกว่าเหมือนเราดูแลพ่อแม่ตัวเอง ท่านคือผู้สูงอายุ เราดูแลแบบญาติเรา สามารถพูดคุยเฮฮา บทสนทนาก็จะนอกเหนือจากการแพทย์อยู่แล้ว จะถามสาระทุกข์ฯ ถามสิ่งที่ท่านชอบ อันนี้ก็จะเป็นเหมือนการเก็บข้อมูลและเราก็จะเข้ามาคุยกับทีมว่าผู้ป่วยท่านนี้ต้องการอะไร เราก็จะประสานกับผู้ป่วยกับญาติ และประสานกับทีมเราว่า ผู้ป่วยท่านนี้ควรจะจัดหาอะไรให้ท่านดี เช่น ท่านสนใจเรื่องการอ่านหนังสือหรือสนใจเรื่องการร้องเพลง ก็จะจัดคาราโอเกะให้ท่าน เป็นต้น เราจะมีจัดแบบนี้ตามความต้องการให้เรื่อย ๆ มันไม่เหมือนเป็นการรักษา มันเหมือนเราไปเยี่ยมญาติ เพราะแต่ละคนสไตล์ก็ไม่เหมือนกัน ก็เป็นความสุขอย่างหนึ่ง"

"ปัจจุบันต้องยอมรับว่าทุกคนต่างก็มีภาระหน้าที่ บางครอบครัวลูกหลานอาจพิจารณาแล้วว่าการดูแลพ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่นั้นอาจไม่ทั่วถึง สิ่งที่จะกังวลมากที่สุดในสังคมไทยคือ คิดว่าการเอาผู้สูงอายุมาพักในศูนย์ผู้ป่วย คือการเอาท่านมาทิ้งไว้ บางท่านรู้สึกผิด มันเป็นความรู้สึกว่าไม่ได้ดูแล แต่แท้จริงแล้วอยากให้มองอีกมุมว่า 'เป็นการพาผู้สูงอายุมาอยู่ในความดูแลที่ดีขึ้น ปลอดภัยขึ้น' และเราจะยินดีเป็นอย่างมาก หากญาติติดต่อมาเพื่อขอดูสถานที่ก่อน หรือว่ามาคุยกับแพทย์ก่อน หมอยินดีให้ข้อมูลเป็นอย่างยิ่ง เพราะในแง่ของทางการแพทย์ เราจะประเมินได้ว่า ท่านมีโรคประจำตัวอะไรบ้าง เหมาะหรือไม่ที่จะเข้ามาพักในศูนย์ฯ ในแง่ของการปฏิบัติงานเราก็จะมีเกณฑ์ว่า "ทุกเคสที่เข้ามาจะต้องผ่านแพทย์ก่อน" เพื่อความมั่นใจว่า ญาติ, ผู้ป่วย กับแพทย์และทีมการรักษาของเรามีความเห็นตรงกัน โดยผมเองก็จะเป็นหลักที่จะคุยให้ข้อมูลได้ในระดับหนึ่งครับ" คุณหมอชวลิต กล่าวทิ้งท้าย และในขณะเดียวกันคุณพยาบาลยุพาพร เป็นตัวแทนทีมพยาบาลสาว กล่าวปิดท้ายกับเราว่า "ผู้ป่วยสูงอายุทุกท่าน เป็นหนึ่งในดวงใจของเราทุกเคสเลยค่ะ"

ผู้สูงอายุเปรียบเสมือนต้นไม้ใหญ่ที่ใบไม้ค่อยๆ ร่วงหล่น หรือลำต้นอาจผุพังไปตามกาลเวลา แต่หากได้รับการดูแลเอาใจใส่และเติมเต็มด้วยความรักอย่างเต็มที่แล้ว อาจช่วยคืนความสดชื่นแก่ต้นไม้ใหญ่ ดุจดอกไม้ที่ได้รับการบำรุงอย่างเหมาะสมอยู่ตลอดเวลา สอบถามหรือรับคำปรึกษาศูนย์ดูแลผู้สูงอายุยันฮี ได้ที่ศูนย์บริการข้อมูล โรงพยาบาลยันฮี โทร.1723 หรือ Facebook: โรงพยาบาลยันฮี Yanhee Hospital / Line: @Yanhee Hospital และ IG: yanheehospital_official


แท็ก ยันฮี  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ