เส้นทางจุดประกายนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ

ข่าวทั่วไป Wednesday November 9, 2022 09:13 —ThaiPR.net

หากพูดถึงคำว่า "นวัตกรรม" หลายคนเข้าใจว่าเป็นด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี หรือโลกดิจิทัล เพียงอย่างเดียว แต่แท้ที่จริงแล้วยังหมายถึง แนวคิดหรือกระบวนการใหม่ที่แก้ไขปัญหา เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง และในมุมของสุขภาพ ก็มีการสร้าง "นวัตกรรมสร้างสุขภาพ" ที่จะนำไปสู่การพัฒนาสังคม สิ่งแวดล้อม ครอบคลุมไปถึงสุขภาวะองค์รวม เป็นได้ทั้งแนวคิดหรือสิ่งประดิษฐ์ ที่เกิดจากการผสมผสานความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ให้เกิดเป็นผลงานครอบคลุมทั้ง 4 มิติ กาย จิต ปัญญา สังคม

ด้วยเหตุนี้เอง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในฐานะองค์กรสร้างเสริมสุขภาพ ที่มีพันธกิจ "จุดประกาย กระตุ้น สาน และเสริมพลัง บุคคล ชุมชน และองค์กรทุกภาคส่วน ให้มีขีดความสามารถ และสร้างสรรค์ระบบสังคมที่สนับสนุนต่อการมีสุขภาวะ" จึงหนุนเสริมพัฒนานวัตกรรมสุขภาวะ สร้างนวัตกรเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนา สรรค์สร้างผลงานที่เป็นประโยชน์กับประชาชนที่ใช้งานได้จริง

สสส. จุดประกายการพัฒนานวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ ผ่านโครงการที่หลากหลาย และได้เริ่มโครงการประกวดนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ ภายใต้ชื่อ 'ThaiHealth Inno Awards' ตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบัน เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และนักศึกษาอาชีวศึกษาระดับ ปวช. ทั่วประเทศ เสนอผลงานนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ ที่ช่วยลดพฤติกรรมเสี่ยงทางสุขภาพ ส่งเสริมให้คนมีสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน

ในปี 2564 ซึ่งเป็นปีที่ 4 สสส. ได้รับอนุญาตจากนายกรัฐมนตรีในการใช้ชื่อรางวัล "Prime Minister's Awards for Health Promotion Innovation 2021" ยกระดับขึ้นเป็นรางวัลเกียรติยศจากนายกรัฐมนตรี สู่การขับเคลื่อนนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพระดับชาติ เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติเยาวชน ครู อาจารย์ และสถาบันการศึกษา ที่ร่วมขบวนการขับเคลื่อนการพัฒนานวัตกรสร้างเสริมสุขภาพของสังคมไทยอย่างยั่งยืน ผลักดันให้นวัตกรรมต่าง ๆ ที่ได้รับการพัฒนาขึ้นจากการประกวดสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง เกิดการขยายผลต่อไป

ความสำเร็จที่ผ่านมา ได้รับความสนใจ และมีสถานศึกษาส่งผลงานนวัตกรรมเข้าประกวดเพิ่มมากขึ้นจากครั้งแรกมี 134 ทีม เพิ่มเป็น 362 ทีมจากผู้เข้าสมัครทั่วประเทศ มีผลงานส่งเข้าประกวด 1,234 ชิ้น มีนวัตกรรมที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ของเยาวชนถูกนำไปพัฒนาต่อยอดเพื่อใช้ได้จริงหลายชิ้นงาน อาทิ ผลงาน NPK นวัตกรรมกระบวนการต่อยอดวิสาหกิจชุมชนให้เกิดรายได้ และใส่ใจสุขภาพ เสาหลักจากยางพารา เครื่องสลัดน้ำมันจากการทอด นวัตกรรมฟิลเตอร์ใน Instagram 4 แบบ เพิ่มการขยับร่างกายเพื่อลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง เครื่องฆ่าเชื้อโรคในหมวกนิรภัย เพื่อเสริมสร้างสุขภาวะของผู้ขับขี่จักรยานยนต์และผู้โดยสาร Connecting Depression Therapy แอปพลิเคชันคัดกรองภาวะซึมเศร้าสำหรับวัยรุ่น

ผลงานนวัตกรรมที่สร้างความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือ "เสาหลักจากยางพารา" ผลงานจากวิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี คว้ารางวัลชนะเลิศระดับ ปวช. ในการประกวดครั้งที่ 1 ที่คิดค้นนวัตกรรมเสาหลักนำทางจากยางพารา เพื่อมาตรฐานความปลอดภัยทางถนน และได้ขยายผลเสาหลักยางพาราในถนนบางสายของจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยการสนับสนุนของผู้ว่าราชการจังหวัด และกรมทางหลวงชนบทขานรับนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปลี่ยนเสาหลักนำทางยางพาราทั่วประเทศกว่า 7 แสนต้น เพื่อช่วยลดอุบัติเหตุ ภายในปีงบประมาณ 2565 โดยใช้งบประมาณรวม 1,402.172 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังมีผลงาน "เครื่องฆ่าเชื้อโรคในหมวกนิรภัยเสริมสร้างสุขภาวะของผู้ขับขี่จักรยานยนต์และผู้โดยสาร" จาก วิทยาลัยการอาชีพนวมินทราชูทิศ กรุงเทพฯ ได้รับรางวัลเยาวชนดีเด่นกรุงเทพมหานคร (ประกายเพชร) ครั้งที่ 17 ประจำปี 2565 ในด้านพัฒนาเยาวชน ประเภทกลุ่มเยาวชนประกายเพชรจรัสแสง โดยเยาวชนทีมนี้ได้รับรางวัลชนะเลิศในระดับอาชีวศึกษา จากการประกวด Prime Minister's Award for Health Promotion Innovation 2021 โดย สสส. ได้สนับสนุนการพัฒนาต่อยอดผลงานให้สามารถใช้ได้จริง ภายใต้โครงการ Innovation Booster ถือเป็นตัวอย่างของนวัตกรที่ยังคงพัฒนาต่อยอดผลงาน เพื่อให้นวัตกรรมเกิดประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้น

ในการประกวดปีนี้ ถือเป็นปีที่ 5 ซึ่งเข้าสู่ทศวรรษที่ 3 ของ สสส. ได้ตั้งโจทย์จากพันธกิจหลักของ สสส. ในการสร้างเสริมสุขภาวะของประชาชนเป็นหมุดหมายในการพัฒนานวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ ที่สำคัญได้ขยายกลุ่มเป้าหมายเพิ่ม 2 กลุ่ม คือ บุคคลทั่วไป/Startup และภาคีเครือข่าย ทั้งเกษตรกร ชุมชน ชมรม ธุรกิจต่าง ๆ ที่มองเห็นปัญหาด้านสุขภาพร่วมกัน เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ เปิดกว้างทางความคิด สร้างสรรค์ สานพลังเครือข่ายนวัตกรรุ่นใหม่ สร้างนวัตกรรมเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ ที่มาตอบโจทย์ในการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ปัจจุบัน ส่งเสริมสุขภาพของชุมชน

ขณะนี้ถือเป็นโค้งสุดท้ายของการประกวด ซึ่งจะมีพิธีประกาศ "Prime Minister's Award for Health Promotion Innovation 2022ในวันที่ 10 พ.ย. 2565 มีผลงานนวัตกรรมจำนวน 39 ผลงาน จะได้รับการพัฒนาความคิด และคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ ต่อยอดงานนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพที่สามารถขยายผลในวงกว้างได้

"นวัตกรรมอยู่รอบตัวเรา นวัตกรรมไม่ใช่เรื่องไกลตัว ไม่ใช่เรื่องยาก หากเข้าใจหลักการและวิธีคิดนวัตกรรมเกิดได้ทุกที่ ทุกเวลา นวัตกรรมบางครั้งอาจเป็นเพียงสิ่งที่เราสามารถเข้าถึง และใช้ในชีวิตประจำวัน และทุกคนสามารถเป็นนวัตกร สร้างสรรค์ผลงาน เพื่อเปลี่ยนแปลง แก้ไขปัญหา สู่สิ่งที่ดีกว่า"

ท้ายนี้ สสส. ในฐานะผู้จัดการประกวด ไม่ได้มุ่งหวังเพียงแค่ผลงานที่ได้รับรางวัลเท่านั้น แต่คือ การสร้างเมล็ดพันธุ์นวัตกรสร้างเสริมสุขภาพ หรือคนรุ่นใหม่ที่จะช่วยสาน เสริมการดำเนินงานสร้างเสริมสุขภาพให้ขยายครอบคลุมทั่วประเทศไทยอย่างยั่งยืน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ