SPU เดินหน้าผลิตบุคลากร "ดิจิทัลมีเดีย" ป้อนอุตสาหกรรมเกมไทย แหล่งจ้างงานสำคัญของโลก ชูจุดแข็งหลักสูตรเข้มข้น สะท้อนผลลัพธ์นักศึกษาคว้าเหรียญระดับนานาชาติให้ไทย จากเวที "Worldskills Competition 2022 Special Edition" ที่เกาหลีใต้
กรุงเทพฯ - เพื่อให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักการพัฒนาทั้งเชิงเศรษฐกิจและสังคม ภาครัฐจึงได้เริ่มพัฒนาการเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างจริงจังในปี 2560 จากผลสำรวจสถานภาพอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ไทยปี 2564 โดยดีป้า ระบุว่า ตลาดดิจิทัลคอนเทนต์ไทยเติบโตร้อยละ 7 มีมูลค่าแตะ 42,065 ล้านบาท โดยมีตลาดเกมเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ อัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นจากปี 2563 ร้อยละ 9 และมีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 37,063 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังมีข้อจำกัดในเรื่องการขาดบุคลากร ด้วยเหตุนี้ มหาวิทยาลัยศรีปทุม (Sripatum University: SPU) จึงได้ก่อตั้งคณะดิจิทัลมีเดียขึ้นในปี 2551 และมุ่งมั่นผลิตคนป้อนตลาดแรงงานที่มีความต้องการสูง
"ผศ.วรากร ใช้เทียมวงศ์" อาจารย์มหาวิทยาลัยศรีปทุม (SPU) ซึ่งเป็นผู้ที่อบรมนักศึกษาเพื่อไปแข่งขัน Worldskills Competition 2022 Special Edition กล่าวว่า คณะดิจิทัลมีเดียของ SPU มีด้วยกัน 4 สาขา คือ สาขาการออกแบบอินเทอร์แอคทีฟและเกม สาขาการออกแบบกราฟิก สาขาคอมพิวเตอร์แอนิเมชันและวิชวลเอฟเฟกต์ และสาขาดิจิทัลอาร์ตส์ ทั้ง 4 สาขาสอนเกี่ยวกับแต่ละศาสตร์โดยตรง และมีความเข้มข้นเพราะแยกเป็นสาขาชัดเจน
สำหรับการแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติ ครั้งที่ 46 (WorldSkills Competition 2022 Special Edition) ระหว่างวันที่ 9-18 ตุลาคม 2565 ที่เมืองโกยาง สาธารณรัฐเกาหลีใต้ SPU ได้บ่มเพาะทักษะ ความรู้ และความสามารถในเชิงวิชาชีพให้กับเยาวชน จนเยาวชนไทยได้รับการยอมรับในเวทีนานาชาติ โดยทางมหาวิทยาลัยได้หาผู้เชี่ยวชาญแต่ละด้านมาสอนผู้เข้าอบรม มีผู้เชี่ยวชาญประมาณ 10 คนอบรมหัวข้อให้ครอบคลุมทุกด้านตามเกณฑ์การตัดสิน
"เวทีนี้เปรียบได้กับการแข่งขันโอลิมปิกวิชาชีพสำหรับเยาวชน ซึ่งปีนี้ WorldSkills แยกจัดหลายประเทศ โดยไทยส่งหลายสาขา แต่การแข่งขันที่ประเทศเกาหลีได้ส่งเยาวชนร่วมแข่งขันจำนวน 2 สาขา คือสาขาการออกแบบเกมเชิงสามมิติ (3D Digital Game Art) ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ไทยส่งสาขานี้ สำหรับอีกสาขาได้แก่ สาขาการสร้างประกอบแม่พิมพ์ (Plastic Die Engineering) โดยนายเจษฎาภรณ์ แก่นนอก นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะดิจิทัลมีเดีย มหาวิทยาลัยศรีปทุม ได้โชว์ทักษะในสาขา 3D Digital Game Art จนสามารถคว้ารางวัลเหรียญฝีมือยอดเยี่ยม (Medallion for Excellence)"
"ผศ.วรากร" กล่าวด้วยว่า บุคลากรสาขานี้ในไทยถือว่าขาดแคลน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ตลาดแรงงานยิ่งต้องการคนมีทักษะดิจิทัลเพิ่มสูงขึ้น เพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป นอกจากนั้นฐานกำลังการผลิตด้านเกมส์เริ่มเปลี่ยนแปลง จากที่เคยอยู่ฝั่งยุโรป ก็ย้ายฐานมาที่ไทย ไทยจึงเป็นแหล่งรับจ้างงานแอนิเมชันสำคัญของโลก เพราะบุคลากรมีทักษะระดับสูง ทั้งในด้านฝีมือ เทคนิค และมีราคาที่เหมาะสมกับคุณภาพงาน
"แต่ละปีมีเยาวชนเข้ามาเรียนด้านดิจิทัลที่มหาวิทยาลัยศรีปทุมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งปี 2565 มีนักศึกษาปี 1 ในคณะกว่า 1,500 คน การที่มหาวิทยาลัยศรีปทุมประสบความสำเร็จในระดับนานาชาติยิ่งทำให้เรามั่นใจมากขึ้นว่า วิธีการพัฒนาหลักสูตรที่ทำอยู่ทุกวันนี้ตอบโจทย์อุตสาหกรรม อย่างไรก็ตามเรายังต้องการพัฒนาหลักสูตรนี้ให้เฉพาะทางมากขึ้น เพื่อผลิตบัณฑิตเข้าสู่อุตสหกรรมเกม ให้มีทักษะและความสามารถเป็นที่ยอมรับทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ"
"เจษฎาภรณ์ แก่นนอก" นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะดิจิทัลมีเดีย มหาวิทยาลัยศรีปทุม ตัวแทนเยาวชนไทยร่วมแข่งขันในสาขา 3D Digital Game Art กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมว่า ทางอาจารย์คณะดิจิทัลมีเดียของมหาวิทยาลัยศรีปทุมช่วยในเรื่องการฝึกอบรบ ซึ่งการขึ้นโมเดล 3 มิติสำหรับเกม (3D Model) และการสร้างพื้นผิว (Texture) รวมถึงการใส่กระดูกสร้างการเคลื่อนไหว (Rigging & Animation) ให้สมจริง ต้องอาศัยทักษะในการใช้ซอฟท์แวร์ที่แตกต่าง และทักษะการทำงานที่หลากหลาย
"โดยส่วนตัวแล้วเป็นคนชอบการขึ้นโมเดล 3D และงานแอนิเมชัน มาตั้งแต่ระดับมัธยม และสนใจที่จะพัฒนาทักษะฝีมือตนเองด้านนี้ เลยเลือกมาเรียนที่มหาวิทยาลัยศรีปทุม เพราะมีสาขานี้ที่สอนทางด้านแอนิเมชัน 3D โดยตรง ซึ่งไม่เหมือนกับที่อื่นที่จะรวมแอนิเมชันไว้กับสาขาหรือคณะอื่นที่ไม่ใช่สายตรง
เคล็ดลับในการแข่งขันคือ ต้องฝึกซ้อมอย่างสม่ำเสมอทุกวัน เพื่อเป็นการสร้างความจำในระยะยาว และมีการฝึกซ้อมเป็นลำดับ พอเริ่มมีความชำนาญแล้วจึงฝึกซ้อมแบบจับเวลา เพื่อเวลาไปแข่งจริงจะได้ไม่กดดัน ตอนนี้ผมวางอนาคตไว้ว่า อยากเป็นอาจารย์สอนด้าน 3D Digital Game Art เพื่อจะได้เทรนคนรุ่นต่อไปที่จะไปแข่งขัน"