พาณิชย์ปลุกใช้ประโยชน์ FTA พร้อมรับฟังความคิดเห็น

ข่าวทั่วไป Thursday April 3, 2008 14:43 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 เม.ย.--124 คอมมิวนิเคชั่นส
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศโชว์วิสัยทัศน์ประเทศไทยผ่านการสัมมนา ไทยกับการเจรจาเปิดเสรีทางการค้า (FTA) : ปัจจุบันและย่างก้าวต่อไป มุ่งเน้นสองปัจจัยหลัก ทบทวนแนวทางใช้ประโยชน์จากความตกลง FTA และเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการเจรจาให้มากที่สุด ส่วนสาระสำคัญการอภิปรายเน้นเรื่อง ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ญี่ปุ่น ที่คาดว่าจะลงนามเดือนเมษายน ศกนี้ ซึ่งผลของการตกลงทำให้มีเขตการค้าเสรีขนาดใหญ่มีมูลค่าการค้าระหว่างกัน สูงกว่า 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และความตกลงการค้าเสรีอาเซียน- เกาหลี ที่สรุปการเจรจาในกรอบความตกลงแล้ว
นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ประธานการสัมมนา “ไทยกับการเจรจาการเปิดเสรีทางการค้า (FTA): ปัจจุบันและย่างก้าวต่อไป” เปิดเผยถึงย่างก้าวต่อไปของการเจรจาเปิดเสรีทางการค้าว่าจะมุ่งเน้นสองประเด็นหลักคือ การทบทวนแนวทางการใช้ประโยชน์จากความตกลง FTA ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ทั้ง FTA ที่มีผลบังคับใช้แล้ว และที่กำลังจะลงนามความตกลงในเร็วๆนี้ คือ อาเซียน-ญี่ปุ่น และอาเซียน-เกาหลี เพื่อส่งเสริมให้ภาคเอกชนออกไปเจาะตลาดสินค้า และบริการที่ประเทศไทยมีศักยภาพ และประเด็นที่สองคือ การเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการเจรจาให้มากที่สุด โดยเน้นการรับฟังความเห็นให้ทั่วถึงทุกระดับ ทั้งสมาชิกผู้แทนในรัฐสภา ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ กลุ่มเกษตรกร นักวิชาการ และกลุ่มองค์กรอิสระต่างๆ เพื่อให้การเจรจาจัดทำความตกลงการค้าระหว่างประเทศในเวทีต่างๆที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน และที่รัฐบาลอาจจะต้องเริ่มเจรจาอีกในอนาคตมีความโปร่งใส เป็นที่เข้าใจ และได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วน รวมทั้งเกิดประโยชน์สูงสุดต่อไทยเป็นสำคัญ
“ ประเทศไทยมีการพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศ และการลงทุนจากต่างประเทศค่อนข้างมาก ทั้งในแง่เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ และนำรายได้เข้าประเทศกว่า 4 ล้านล้านบาทต่อปี แต่ปัจจุบันการขยายการค้าในตลาดเดิมและการเข้าสู่ตลาดใหม่ๆใน ต่างประเทศทำได้ยากขึ้น เพราะมีคู่แข่งเกิดขึ้นมากมาย รัฐบาลจึงมีนโยบายการเจรจาความตกลงการค้าเสรีโดยมีวัตถุประสงค์หลายด้าน ได้แก่ เพื่อเป็นช่องทางในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสำหรับสินค้าส่งออกของไทยในตลาดเดิม เช่น สหรัฐอเมริกา
ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ตลอดจนเพิ่มโอกาสในการส่งออกไปยังตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ เช่น จีน อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ โดย FTA จะช่วยลดอุปสรรคทางการค้าทั้งด้านภาษี และมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี ซึ่งจะทำให้ไทยได้เปรียบประเทศคู่แข่งที่ไม่ได้ทำ FTA ช่วยดึงการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาเพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางการลงทุนของภูมิภาคเอเชียและช่วยกระตุ้นให้มีการปรับโครงสร้างการผลิตภายในประเทศให้ทันการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วบนเวทีโลก” นายวิรุฬกล่าว
นายวิรุฬกล่าวเสริมต่อไปว่า “ปัจจุบันไทยได้เป็นส่วนหนึ่งในกระแส FTA ค่อนข้างมาก โดยมีการเจรจาทั้งรูปแบบ 2 ฝ่าย และ FTA ภายใต้กรอบอาเซียน โดยเฉพาะการเจรจาของอาเซียนกับคู่เจรจานอกอาเซียนนั้น เป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายการรวมตัวเพื่อนำไปสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2015 (พ.ศ. 2558) นอกจากแผนการเปิดเสรีแล้ว ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนยังกำหนดให้อาเซียนมีการเจรจา FTA กับประเทศนอกกลุ่ม อันนอกจากจะเป็นการช่วยกระตุ้นให้การเปิดเสรีในด้านต่างๆเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้แล้ว ยังจะช่วยให้มีการเชื่อมโยงอาเซียนกับประเทศคู่ค้าที่สำคัญอย่างเป็นรูปธรรม โดยอาเซียนได้กำหนดให้มีการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีกับแต่ละประเทศนอกกลุ่มที่สำคัญได้แก่ จีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี อินเดีย ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ และสหภาพยุโรป
นายวิรุฬกล่าวต่อไปว่า ในส่วนของ FTA ที่เจรจาเสร็จแล้ว 5 ฉบับคือ ไทย-ออสเตรเลีย, ไทย-นิวซีแลนด์, ไทย-อินเดีย จำนวน 82 รายการ ,ไทย-ญี่ปุ่น และอาเซียน-จีนนั้น มีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการส่งออกของประเทศไทย โดยที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือ การค้ากับทุกประเทศมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นมาก และไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้ากับออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย แต่สำหรับประเทศจีน แม้ว่าไทยจะยังขาดดุลการค้าอยู่ แต่หลังจากทำ FTA อาเซียน — จีนแล้ว การขาดดุลมีอัตราลดลงอย่างต่อเนื่อง “แต่อย่างไรก็ตามการตัดสินใจทำ FTA นั้นรัฐบาลคำนึงถึงผลประโยชน์โดยรวมสูงสุดที่ประเทศจะได้รับเป็นหลัก สำหรับสินค้าที่ได้รับผลกระทบได้กำหนดให้ดูแลตั้งแต่ในขั้นตอนการเจรจา โดยเจรจาให้มีการเปิดเสรีน้อยที่สุด ช้าที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เช่น 15-20 ปี เพื่อเพิ่มเวลาในการปรับตัวให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันกับสินค้าจากต่างประเทศ อีกทั้งยังมีการเตรียมมาตรการรองรับโดยการจัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือในการปรับตัวทั้งภาคเกษตร อุตสาหกรรม และบริการ ที่ได้รับผลกระทบจาก FTA ด้วย”
“ในปัจจุบันสินค้าที่ไทยส่งออกได้มากขึ้นในตลาดออสเตรเลีย ได้แก่ รถปิกอัพ เครื่องปรับอากาศ ทูน่ากระป๋อง เครื่องประดับต่างๆ และผลไม้ไทยที่เคยติดมาตรการสุขอนามัยที่เข้มงวดก็เข้าไปในออสเตรเลียได้แล้ว เช่น มังคุด ลิ้นจี่ ลำไย และผลไม้ที่แกะเปลือก เช่น สับประรด ทุเรียน และส้มโอ ขณะที่สินค้าที่ไทยส่งไปนิวซีแลนด์ ได้แก่ รถยนต์ เครื่องปรับอากาศ เครื่องใช้ไฟฟ้า เม็ดพลาสติกอาหารทะเลกระป๋อง และผักผลไม้ที่เข้าตลาดได้แล้ว ได้แก่ ลำไย ลิ้นจี่ มังคุด ขิงสด ทุเรียน (แกะเปลือก) และยังมีโครงการความร่วมมือด้านปศุสัตว์กับนิวซีแลนด์อีกด้วย ส่วนประเทศจีน สินค้าที่ได้ประโยชน์จาก FTA ชัดเจน เช่น มันสำปะหลัง ยางพารา และผลไม้เมืองร้อน เช่น ลำไย ทุเรียน มะม่วง มังคุด เป็นต้น สำหรับในส่วนของอินเดีย นั้นสินค้าส่งออกที่เพิ่มขึ้นมาก คือ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เช่น เครื่องปรับอากาศ โทรทัศน์ ตู้เย็น เม็ดพลาสติก อัญมณี และเครื่องประดับ เป็นต้น
รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
เอกภพ พันธุรัตน์ (เอก)
EAKKAPOP PANTHURAT (EAK)
Officer-Media Relations & Operations
124 COMMUNICATIONS PUBLIC COMPANY LIMITED
16th Floor, The United Business Center II (UBC II)
591 Sukhumvit Rood, North Klongton
Wattana, Bangkok 10110
Tel: + 66 (0) 2662-2266 Ext: 156
Mobile: + 66 (0) 9676-6234
Fax: + 66 (0) 2204-2661
e-mail: eakkapop@124comm.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ