ผนึกกำลังเตรียมความพร้อมประเทศไทยสู่การป้องกัน 'โรคปอดอักเสบ' หลังโควิด-19

ข่าวทั่วไป Friday November 11, 2022 17:28 —ThaiPR.net

ผนึกกำลังเตรียมความพร้อมประเทศไทยสู่การป้องกัน 'โรคปอดอักเสบ' หลังโควิด-19

วันที่ 12 พฤศจิกายนเป็นวันปอดอักเสบโลก (World Pneumonia Day 2022) มูลนิธิวัคซีนเพื่อประชาชน กรมควบคุมโรค สถาบันวัคซีนแห่งชาติ และสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย ร่วมแถลงเตรียมความพร้อมประเทศไทยในการป้องกันโรคปอดอักเสบหลังการระบาดโควิด-19 เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคปอดอักเสบและรณรงค์การเสริมภูมิคุ้มกันด้วยวัคซีนแก่ประชาชน เพื่อลดความรุนแรงของโรคและป้องกันการเสียชีวิต โดยได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชน ประกอบด้วย ไฟเซอร์ จีเอสเค เอ็มเอสดี และซาโนฟี่ ตอกย้ำความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (Public Private Partnership) ในการสร้างเสริมสุขภาพดีของคนไทย

โรคปอดอักเสบ (Pneumonia) นับเป็นปัญหาสาธารณสุขระดับโลก โดยเป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่สำคัญของเด็กเล็กและผู้สูงวัย ซึ่งพบว่าในแต่ละปีมีเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปีเสียชีวิตจากโรคปอดอักเสบมากกว่า 2 ล้านคนทั่วโลก โดยในประเทศไทย โรคปอดอักเสบเป็น 5 ลำดับแรกของโรคทางเดินหายใจที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตในทุกปีและมีแนวโน้มอัตราตายจากโรคนี้เพิ่มสูงขึ้น

นายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ ประธานมูลนิธิวัคซีนเพื่อประชาชน กล่าวว่า มูลนิธิวัคซีนเพื่อประชาชนมีเจตนารมณ์ในการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันที่มีต่อคุณภาพชีวิตของคนไทย เนื่องในวันปอดอักเสบโลกซึ่งองค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้ตรงกับวันที่ 12 พฤศจิกายนของทุกปี มูลนิธิฯ จึงได้ร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน เดินหน้าเตรียมความพร้อมประเทศไทยสู่การป้องกันโรคปอดอักเสบหลังการระบาดโควิด-19 เพื่อให้ประชาชนเกิดความตระหนักต่อโรคปอดอักเสบ ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อที่มีอุบัติการณ์การเสียชีวิตสูงสุดโรคหนึ่ง และให้ความสำคัญในการดูแล ป้องกัน และรักษาโรคอย่างถูกต้องเหมาะสม รวมถึงการที่ผู้กำหนดนโยบายเตรียมพร้อมรับมือในการป้องกันโรคปอดอักเสบด้วยวัคซีน ซึ่งเป็นเครื่องมือหนึ่งที่มีประสิทธิภาพในการช่วยชีวิต ด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วนจะเป็นก้าวสำคัญของความสำเร็จที่ประชาชนชาวไทยได้มีสุขภาวะที่ดี ห่างไกลจากโรค

นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงแนวทางและนโยบายด้านการดูแลและป้องกันโรคปอดอักเสบของประเทศไทยว่า กรมควบคุมโรคให้ความสำคัญในการป้องกันโรคและภัยสุขภาพที่เกิดในช่วงฤดูหนาวของประเทศไทย โดยเฉพาะโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคปอดอักเสบ นอกเหนือจากโรคโควิด-19 โดยกรมควบคุมโรคมีการติดตามสถานการณ์ผู้ป่วยโรคปอดอักเสบอย่างใกล้ชิด และพร้อมเฝ้าระวังการแพร่ระบาด รวมทั้งการรณรงค์เสริมสร้างภูมิคุ้มกันก่อนเข้าสู่ช่วงฤดูหนาวที่จะมีการแพร่ระบาดของเชื้อเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งกรมควบคุมโรคได้จัดทำประกาศแจ้งเตือนให้ระมัดระวังโรคและภัยสุขภาพไปยังหน่วยงานในพื้นที่ ได้แก่ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคทั้ง 12 แห่ง และสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง เพื่อดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ และเตรียมภารกิจในการดูแลประชาชน ได้แก่ เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ของโรคในพื้นที่ ในกรณีมีการระบาดของโรคติดต่อ โดยมีทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) เข้าไปดำเนินการสอบสวน ควบคุม และป้องกันการแพร่ระบาดของโรคในพื้นที่ และการสื่อสารความเสี่ยงและประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ประชาชน

นายแพทย์นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวถึงทิศทางนโยบายการใช้วัคซีนในการป้องกันโรคปอดอักเสบว่า โรคปอดอักเสบเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของการเสียชีวิตและการรักษาในโรงพยาบาลของกลุ่มเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี รวมถึงผู้สูงอายุในประเทศไทย โดยหลังจากการที่ประเทศไทยสามารถผ่านพ้นการระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 มาได้นี้ จะทำให้ประเทศไทยสามารถรับมือและป้องกันโรคเพื่อลดอัตราการเจ็บป่วยของโรคปอดอักเสบได้เช่นเดียวกัน โดยโรคปอดอักเสบสามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน ซึ่งนับเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่สำคัญที่จะช่วยในการดูแลสุขภาพป้องกันไม่ให้ติดเชื้อ สามารถลดความรุนแรงของโรค และป้องกันการเสียชีวิตได้ วัคซีนที่สำคัญ ได้แก่ วัคซีนไข้หวัดใหญ่ วัคซีนโควิด-19 ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีให้บริการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และวัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบหรือวัคซีนนิวโมคอคคัส ซึ่งมีการวางแผนจะบรรจุวัคซีนนิวโมคอคคัสในรายการวัคซีนพื้นฐานสำหรับเด็กของกระทรวงสาธารณสุขในอนาคต เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงวัคซีนจำเป็นของเด็กไทย

ในด้านการเตรียมความพร้อมสู่การป้องกันโรคปอดอักเสบหลังการระบาดโควิด-19 นั้น รองศาสตราจารย์ (พิเศษ) นายแพทย์ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า โรคปอดอักเสบเกิดจากการติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส และเชื้อรา โดยเชื้อที่พบโดยส่วนใหญ่จะเกิดจากเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัส (Streptococcus pneumonia) ที่พบการระบาดมากในฤดูฝนและฤดูหนาว สามารถติดต่อได้ตั้งแต่การหายใจรับเชื้อเข้าสู่ปอดโดยตรง การแพร่กระจายทางกระแสเลือด การสำลักอาหาร หรือสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ที่มีเชื้อโรคปะปน จะมีอาการไข้ ไอ มีเสมหะ หายใจหอบเหนื่อย หายใจลำบาก คลื่นไส้ อาเจียนหรือท้องเสีย รวมทั้งอาจมีอาการซึม วิธีการป้องกัน คือ หมั่นล้างมือทำความสะอาดและดูแลสุขอนามัย หลีกเลี่ยงการไปสถานที่แออัด หลีกเลี่ยงมลภาวะทางอากาศ และที่สำคัญคือการฉีดวัคซีนปอดอักเสบเพื่อเสริมภูมิคุ้มกัน

"โรคปอดอักเสบ มันเกิดขึ้นในเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ซึ่งมีความเสี่ยงในการเสียชีวิตสูงที่สุดในโลก โดยหากปล่อยไว้ไม่รักษา อาการอาจลุกลามเข้าสู่กระแสเลือดหรือสมอง ทำให้เยื่อหุ้มสมองอักเสบและเกิดการเสียชีวิตได้ การป้องกันที่ดีที่สุดคือ การรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ หลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้ป่วย และเข้ารับวัคซีนเพื่อป้องกันการเกิดโรคเป็นวิธีที่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะผู้มีความเสี่ยงในการติดโรคปอดอักเสบ ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงวัย และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ควรมีการฉีดวัคซีนป้องกันไว้ก่อน เพราะการป้องกันไว้ดีกว่าการรักษา" รองศาสตราจารย์ (พิเศษ) นายแพทย์ทวี กล่าว

ปัจจุบันสถานการณ์โรคปอดอักเสบที่ไม่รวมการติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย ตั้งแต่ 1 มกราคม - 31 ตุลาคม 2565 พบผู้ป่วย 179,211 ราย มีรายงานผู้เสียชีวิต 176 ราย โดยพบผู้ป่วยมากที่สุดในเดือนสิงหาคมและกันยายนที่ผ่านมา (รายงานสถานการณ์โรคปอดอักเสบ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข)


แท็ก โควิด-19  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ