BRR แรงไม่หยุด!! 9 เดือน บุ๊คกำไรกว่า 922 ลบ. พุ่ง 719% แย้ม Q4 ทะยานต่อจากการเติบโตของทุกกลุ่มธุรกิจ หนุนรายได้ทั้งปีโต 70%

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday November 14, 2022 16:05 —ThaiPR.net

BRR แรงไม่หยุด!! 9 เดือน บุ๊คกำไรกว่า 922 ลบ. พุ่ง 719% แย้ม Q4 ทะยานต่อจากการเติบโตของทุกกลุ่มธุรกิจ หนุนรายได้ทั้งปีโต 70%

"บมจ.น้ำตาลบุรีรัมย์ หรือ BRR" ประกาศผลงานงวด 9 เดือน กำไรทะยานไม่หยุด อยูที่ 922.49 ลบ. เติบโต 719% มีรายได้จากการขายและบริการอยู่ที่ 6,677.48 ล้านบาท เติบโต 124.79% เทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน รับผลบวกจากราคาน้ำตาลเพิ่มสูงขึ้นและรับอานิสงส์เงินบาทอ่อนค่า เติบโตในทุกกลุ่มธุรกิจ เผยผลงานโค้งสุดท้ายปีนี้เติบโตต่อเนื่อง สนับสนุนรายได้พุ่ง 70% ตามแผน เมื่อเทียบกับปีก่อน

นายอนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BRR เปิดเผยว่า ผลประกอบการของบริษัทฯในงวด 9 เดือนแรกของปี 2565 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 922.49 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 809.86 ล้านบาท ซึ่งเติบโตอย่างชัดเจนคิดเป็น 719% จากงวดเดียวกันของปี 2564 ที่มีกำไร 112.62 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิ 13.81% เพิ่มขึ้นจากเดิมที่มีอัตรากำไรสุทธิ 3.79% สาเหตุที่กำไรเพิ่มขึ้น เนื่องจากได้รับผลบวกจากราคาน้ำตาลเพิ่มสูงขึ้น และค่าเงินบาทที่อ่อนค่า โดยมีรายได้จากการขายและบริการอยู่ที่ 6,677.48 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,706.92 ล้านบาท หรือคิดเป็น 124.79% เทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้อยู่ที่ 2,970.56 ล้านบาท รายได้ที่เพิ่มขึ้นสาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นทั้งในส่วนปริมาณและราคาขายน้ำตาล โดยบริษัทมีปริมาณการขายน้ำตาลเพิ่มขึ้นจากปีก่อนจำนวน 167,660 ตัน หรือเพิ่มขึ้น 123% รวมถึงราคาขายน้ำตาลเฉลี่ยในปี 2565 ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาตลาดโลกเมื่อเทียบกับปี 2564 เฉลี่ย 21% ต่อตันน้ำตาล อีกทั้งยังได้อานิสงส์บวกจากอัตราแลกเปลี่ยนที่เงินบาทอ่อนค่าลง เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน

"ผลงานออกมาเป็นที่น่าประทับใจทั้งรายได้และกำไร โดยศักยภาพการเติบโตของกลุ่มธุรกิจ BRR ในปี 2565 บริษัทวางเป้าหมายรายได้เติบโต 70% เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งมากกว่าแผนที่วางไว้ เหตุจากทุกธุรกิจในเครือเติบโต หนุนรายได้เติบโตแข็งแกร่ง และมุ่งสู่การดำเนินธุรกิจที่เน้นความยั่งยืนและใส่ใจสิ่งแวดล้อมอย่างธุรกิจบรรจุภัณฑ์ชานอ้อย และธุรกิจพลังงานเชื้อเพลิงชีวมวล อีกทั้งธุรกิจหลักมีแนวโน้มขาขึ้นจากความต้องการน้ำตาลในตลาดโลกขยายตัว ประกอบกับปริมาณผลผลิตน้ำตาลที่ออกสู่ตลาดมีจำนวนเพิ่มขึ้น " นายอนันต์ กล่าว

ขณะนี้ธุรกิจทุก BU ของ BRR ทั้งน้ำตาล บรรจุภัณฑ์ และธุรกิจเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่ง หรือ Wood Pellet รวมทั้งความร่วมมือกับซิงเกอร์และกลุ่มเจมาร์ท ล้วนมีทิศทางที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะธุรกิจน้ำตาลที่ขณะนี้กำลังทยอยกำหนดราคาของสัญญาซื้อขายในฤดูการผลิตปี 2565/66 หลังราคาน้ำตาลในตลาดปัจจุบันขยับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันเคลื่อนไหวอยู่ที่ราว 19.60 เซ็นต์ต่อปอนด์ ถือเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยผลักดันให้รายได้ของธุรกิจเติบโตได้ดียิ่งขึ้นด้วย

โดยธุรกิจบรรจุภัณฑ์จากชานอ้อยนั้น ภายใต้การดำเนินงานของ บริษัท ชูการ์เคน อีโคแวร์ จำกัด (SEW) ปัจจุบันมีคำสั่งซื้อเต็ม 100% แล้ว จากกำลังการผลิตในเฟสที่ 1 จำนวน 14 เครื่อง หรือประมาณ 250 ตันต่อเดือน และบริษัทเตรียมที่จะนำเครื่องจักรติดตั้งเพิ่มเติมอีก 14 เครื่องในอนาคต ซึ่งจะทำให้สามารถขยายกำลังการผลิตได้อีกเท่าตัว ทำให้บริษัทมีมาร์จิ้น จากการผลิตภาชนะจากเยื่อชานอ้อยมากขึ้น โดยทิศทางตลาดบรรจุภัณฑ์จากเยื่อพืชธรรมชาติและจากชานอ้อยมีโอกาสเติบโตสูง และผลิตภัณฑ์ของบริษัทได้รับการตอบรับจากลูกค้าต่างประเทศค่อนข้างดี

นอกจากนี้ บริษัทยังเตรียมที่จะรับรู้รายได้จากธุรกิจเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่ง หรือ Wood Pellet โดยได้ร่วมกับพันธมิตรจากญี่ปุ่น ลาวและบริษัท ราชกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH จัดตั้งโรงงานที่สปป.ลาว และมีการปลูกไม้โตเร็ว เช่น กระถินณรงค์ จำนวน 4 หมื่นไร่ โดยลูกค้าญี่ปุ่นได้เซ็นสัญญาจองซื้อแล้ว 15 ปี เพื่อนำไปผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทน โดยคาดว่าจะเริ่มจำหน่ายเชิงพาณิชย์ได้ในครึ่งหลังของปีหน้า

สำหรับแนวโน้มผลงานในช่วงไตรมาส 4/65 โค้งสุดท้ายของปี คาดว่าจะเติบโตต่อเนื่องจากไตรมาส 3/65 โดยรับปัจจัยเชิงบวกด้วยราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่อาจปรับตัวเพิ่มขึ้นจากการลดกำลังผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงของกลุ่มโอเปกพลัส (OPEC+) ที่ส่งผลดีต่อราคาเอทานอล ทำให้ผู้ประกอบการเพิ่มสัดส่วนการนำอ้อยไปผลิตเอทานอลมากกว่าผลิตน้ำตาล และคาดว่าปริมาณผลผลิตน้ำตาลของบราซิลและอินเดียอาจออกมาล่าช้ากว่ากำหนด เนื่องจากฝนที่ตกอย่างต่อเนื่อง ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการเก็บเกี่ยวอ้อย ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกน้ำตาลล่าช้า และอาจเกิดภาวะน้ำตาล ขาดดุลในตลาดโลกในช่วง 3-4 เดือนข้างหน้า

ส่วนแนวโน้มค่าเงินบาทล่าสุดที่ยังอ่อนค่าที่ระดับประมาณ 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ นับเป็นปัจจัยบวกต่อธุรกิจอีกทางหนึ่ง เนื่องจากปัจจุบันธุรกิจน้ำตาลมีรายได้จากการส่งออกไปยังต่างประเทศ อยู่ที่ประมาณ 70% จึงจะช่วยผลักดันให้รายได้จากการส่งออกขยายตัวได้ดียิ่งขึ้นด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ