ไทยประกันชีวิตเผยผลประกอบการ 9 เดือน ปี 2565 เบี้ยประกันรับใหม่เพิ่มขึ้น 26% VONB เพิ่มขึ้นถึง 29% ชี้ทุกช่องทางการขายเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ด้านกำไรสุทธิกว่า 8,000 ล้านบาท ยันไม่กระทบจากประกันโควิดแบบเจอ-จ่าย-จบ พร้อมเดินหน้าเป็นทุกคำตอบของการประกันชีวิต ประกันสุขภาพ และวางแผนการเงินส่วนบุคคล ควบคู่การส่งมอบคุณค่าให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกส่วน
นายไชย ไชยวรรณ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) หรือ TLI เปิดเผยถึงผลประกอบการไตรมาสที่ 3 ปี 2565 ว่า ผลประกอบการของบริษัทฯ ยังคงเติบโตต่อเนื่อง โดยมีเบี้ยประกันภัยรับปีแรกแบบคำนวณรายปี (Annual Premium Equivalent : APE) อยู่ที่ 9,641 ล้านบาท เติบโต 26% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 และมีผลรวมกำไรที่คาดว่าจะได้รับตั้งแต่วันแรกถึงวันสิ้นสุดของกรมธรรม์ (Value of New Business : VONB) 5,151 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29% เมื่อเทียบกับช่วง 9 เดือนของปีก่อนหน้า ส่งผลให้ VONB Margin หรือกำไรจาก VONB เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน อยู่ที่ 53.4% ทำให้บริษัทฯ มีส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 14.1%
ช่องทางการขายทุกช่องทางของบริษัทฯ มีการเติบโตที่แข็งแกร่ง ทั้งในด้าน APE และ VONB สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของช่องทางการการขายที่หลากหลาย โดยช่องทางการขายผ่านตัวแทนฯ มี VONB คำนวณต่อปี เติบโตถึง 25% เป็นผลจากประสิทธิภาพในการขยายตลาด การผลิตเบี้ยฯ และการรีครูทตัวแทนฯ ใหม่ ผ่านแคมเปญการตลาดที่หลากหลาย
"บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับการ Upskill และ Reskill ตัวแทนฯ โดยเฉพาะการเพิ่มทักษะด้านดิจิทัล เพื่อให้เป็น Digital Agent ที่พร้อมเป็น Life Solutions Partner ที่สามารถดูแลชีวิตและวางแผนทางการเงินให้กับลูกค้าได้ในทุกช่วงชีวิต ทุกจังหวะชีวิต และทุกการใช้ชีวิต รวมถึงตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้แบบเฉพาะบุคคลด้วยความรวดเร็ว โดยบริษัทฯ พัฒนาแอปพลิเคชันที่ช่วยในการทำงาน เช่น TL Pro Plus ที่ช่วยให้ตัวแทนฯ สามารถนำเสนอขาย รับชำระเบี้ยประกันภัย และนำส่งเคสเข้าบริษัทฯ ได้อย่างสะดวกผ่านมือถือ หรือแท็ปเล็ต" นายไชยกล่าว
ทางด้านช่องทางพันธมิตรมีการเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมี VONB เติบโตสูงถึง 41% เป็นผลจากการฟื้นตัวภายหลังสถานการณ์โควิด-19 และความสำเร็จจากการกำหนดกลยุทธ์ด้านผลิตภัณฑ์ร่วมกับพันธมิตร
สำหรับกลยุทธ์ด้านผลิตภัณฑ์ บริษัทฯ ยังคงให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สร้างกำไรในระยะยาว และมีความอ่อนไหวน้อยต่ออัตราดอกเบี้ย เช่น ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนร่วมในเงินปันผล หรือ Participating Product, ผลิตภัณฑ์ควบการลงทุน และสัญญาเพิ่มเติม ซึ่งกลยุทธ์ด้านผลิตภัณฑ์นี้จะผลักดันให้บริษัทฯ มีกำไรอย่างยั่งยืน ท่ามกลางความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจ
นายไชยกล่าวว่า ไทยประกันชีวิตยังคงมีอัตรากำไรสุทธิต่อเนื่อง โดยช่วง 9 เดือนของปี 2565 มีกำไรสุทธิ 8,020 ล้านบาท อย่างไรก็ดีกำไรสุทธิที่ลดลงเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นอย่างมากของเบี้ยประกันภัยรับใหม่ ซึ่งธุรกิจประกันชีวิตจะมีผลขาดทุนจากการรับประกันภัยในปีแรก เนื่องจากค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าเบี้ยประกันรับปีแรก แต่จะเริ่มมีกำไรจากการรับประกันที่แข็งแกร่งในปีถัด ๆ ไป เห็นได้จาก VONB Margin ที่เติบโตอย่างมากของบริษัทฯ
นอกจากนี้บริษัทฯ ไม่มีการขายประกันภัยโควิด-19 แบบเจอ จ่าย จบ ซึ่งอัตราการเคลมสินไหมสุขภาพที่เพิ่มขึ้นมาจากสัญญาเพิ่มเติมประกันสุขภาพ ที่ให้ความคุ้มครองกรณีรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลด้วยโรคโควิด-19 อย่างไรก็ดีอัตราการเคลมสินไหมสุขภาพจากโควิด-19 ของบริษัทฯ เริ่มลดลงจากจุดสูงสุดในเดือนมีนาคมปี 2565
"อัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน หรือ CAR Ratio ของบริษัทฯ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2565 อยู่ที่ 358% สูงกว่าเกณฑ์ที่สำนักงาน คปภ.กำหนดอยู่ที่ 140% ซึ่งเราให้ความสำคัญกับสถานะเงินทุนที่แข็งแกร่งอันเป็นรากฐานของการเติบโตอย่างยั่งยืน และแม้ว่าตั้งแต่ต้นปี 2565 เศรษฐกิจโลกจะมีความผันผวนพร้อมกับความไม่แน่นอนที่สูงขึ้น แต่ไทยประกันชีวิตยังสามารถรักษาการเติบโตของมูลค่าธุรกิจใหม่และสถานะทางการเงินไว้ได้ เนื่องจากเรามีผลิตภัณฑ์และกลยุทธ์การเติบโตที่ชัดเจน มีทีมผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์และประสบการณ์ ภายใต้เจตนารมณ์ทางธุรกิจ หรือ Business Purpose ที่จะเป็นทุกคำตอบของการประกันชีวิต การประกันสุขภาพ และการวางแผนทางการเงินส่วนบุคคล หรือ Life Solutions Provider แก่ลูกค้า รวมถึงการสร้างและส่งมอบคุณค่าให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด" นายไชยกล่าว