ชุดการสอนเปรียบเทียบทางเดินอาหารสัตว์ เด็กเล็กเด็กโตสนุกได้ไม่แพ้กัน

ข่าวเทคโนโลยี Friday April 4, 2008 09:07 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 เม.ย.--สสวท.
ในการเรียนรู้เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารในชั้นเรียนวิทยาศาสตร์ โดยทั่วไปนักเรียนมักจะเรียนรู้ผ่านสื่อประเภทภาพแสดงทางเดินอาหาร หรือโมเดลมนุษย์ แต่แบบหลังก็มีราคาแพงเกินกว่าจะจัดซื้อได้ทุกโรงเรียนจึงเป็นที่มาของการสร้างชุดการสอนขึ้นมาให้เป็นทางเลือกสำหรับการเรียนการสอนในเรื่องนี้
ชุดการสอนนี้ได้นำเสนอรูปแบบของการเรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติกับสิ่งมีชีวิตจริงๆ โดยการศึกษาเปรียบเทียบทางเดินอาหารของปลาชนิดต่างๆ เหมาะสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย จุดประสงค์หลักของการเรียนรู้ในเรื่องนี้ก็คือ นักเรียนต้องสามารถระบุตำแหน่ง และหน้าที่ของส่วนประกอบต่างๆ ของทางเดินอาหารได้ สามารถเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างทางเดินอาหารของสัตว์ที่ศึกษาได้ โดยเฉพาะความแตกต่างระหว่างสัตว์กินเนื้อและสัตว์กินพืช นอกจากนี้ควรระบุถึงกระบวนการย่อยเซลลูโลสในสัตว์ได้ด้วย
สำหรับเด็กประถมปลายและมัธยมต้น ถ้าคุณครูจะนำเรื่องนี้ไปสอนก็ได้ โดยเน้นแค่ในขอบเขตของเนื้อหาที่ระบุไว้ในหลักสูตร หลักๆ ก็เพื่อให้นักเรียนได้เห็นทางเดินอาหารของปลาที่นำมาศึกษา ทั้งในเรื่องของลักษณะของความหนา-บาง และความยาวของทางเดินอาหาร แต่สิ่งที่คุณครูต้องระมัดระวังเป็นพิเศษสำหรับเด็กประถมปลาย ก็คือเรื่องการใช้มีดผ่าปลา คุณครูอาจจะแก้ปัญหาในเรื่องนี้ได้ง่ายๆ โดย คุณครูทำการผ่าท้องปลาเปิดไว้ให้นักเรียนเลย และให้นักเรียนค่อยๆ คลี่ลำไส้ปลาที่ขดกันออกมาเป็นเส้นตรงและนำมาวัดความยาว และศึกษาลักษณะผนังลำไส้ได้โดยไม่ต้องใช้มีดสำหรับกรณีนี้
จากการทดลองนำไปใช้ในโรงเรียนและทดลองใช้กับนักเรียนระดับมัธยมปลาย พบว่า ถ้าการเรียนการสอนในชั้นเรียน คุณครูเพียงแต่สอนว่า”ทางเดินอาหารของมนุษย์มีความยาวประมาณ 30 ฟุต” นักเรียนอาจจะทึ่งกับตัวเลข จากนั้นเมื่อเวลาผ่านไปก็จะลืม
แต่จากผลการนำไปทดลองใช้ในโรงเรียนระดับมัธยมปลาย สิ่งที่สังเกตได้ก็คือ ผู้สอนจะได้เห็นปรากฏการณ์แห่งความสุข สนุก และตื่นเต้นที่นักเรียนแสดงออกมาทางสีหน้า ในขณะที่กำลังทำกิจกรรม โดยเฉพาะในช่วงของการสาวไส้ปลานิลออกมาวัดความยาว นักเรียนจะต้องอาศัยความอดทนและความประณีตเป็นอย่างมาก นักเรียนจะได้ฝึกทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ และทางสังคมไปพร้อมๆ กัน
ถ้าคุณครูกังวลเรื่องเวลาในการจัดกิจกรรม เพื่อไม่ให้เสียเวลากับตัวอย่างสัตว์หลายๆ ชนิด คุณครูอาจจะให้นักเรียนแต่ละกลุ่มศึกษาตัวอย่างสัตว์ที่แตกต่างกัน หรือนักเรียนศึกษาตัวอย่างสัตว์หนึ่งชนิด และคุณครูศึกษาหรือเตรียมไว้ล่วงหน้าหนึ่งชนิด จากนั้นให้นักเรียนนำเอาสิ่งที่ศึกษาได้มาเปรียบเทียบกับตัวอย่างของคุณครู ก็จะช่วยลดเวลาในการทำการทดลองลงไปได้
สำหรับรายละเอียดของชุดการสอน และขั้นตอนการผ่าปลา พร้อมภาพประกอบ สามารถดาวน์โหลดไฟล์ได้จากเว็บไซต์สาขาชีววิทยา สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตรืและเทคโนโลยี (สสวท.) http://www.ipst.ac.th/biology/index.html โดยเมื่อเข้ามาที่หน้าแรกของเว็บสาขาชีววิทยาแล้ว ให้มองหาเมนูที่ชื่อ Download File แล้วคลิ๊กเข้าไป ก็จะพบกับชุดการสอนดังกล่าว หวังว่าชุดการสอนนี้คงจะทำให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ไปพร้อมๆ กับความสนุกสนานในชั้นเรียนวิทยาศาสตร์ ถ้ามีข้อเสนอแนะ ปัญหา หรือข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อได้ที่ สาขาชีววิทยา สสวท.
สุทธิพงษ์ พงษ์วร นักวิชาการ สาขาชีววิทยา สสวท.
spong@ipst.ac.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ