สนจ. จับมือ สถานทูตอิตาลี จัดงานเสวนาและชมภาพยนตร์สารคดีรอบพิเศษ "Me and the Magic Door" ตามรอยสถาปัตยกรรมสมัย ร.5 และร.6 ตอกย้ำจุดยืน CU Alumni Connex

ข่าวทั่วไป Tuesday November 15, 2022 14:28 —ThaiPR.net

สนจ. จับมือ สถานทูตอิตาลี จัดงานเสวนาและชมภาพยนตร์สารคดีรอบพิเศษ

สนจ. จับมือ สถานทูตอิตาลี จัดงานเสวนาและชมภาพยนตร์สารคดีรอบพิเศษ "Me and the Magic Door" ตามรอยสถาปัตยกรรมสมัย ร.5 และร.6 ตอกย้ำจุดยืน CU Alumni Connex ส่งเสริมยุทธศาสตร์การพัฒนาอย่างยั่งยืน

สร้างสรรค์กิจกรรมดีสู่สังคมอย่างต่อเนื่อง สำหรับ สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (สนจ.) ล่าสุดได้เปิด CU Alumni Connex ห้องรับรองสำหรับนิสิตเก่าที่ตั้งอยู่ที่ชั้นล่างของอาคารศิลปวัฒนธรรม ใกล้คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ เป็นคอมมูนิตี้เล็กๆ สำหรับสมาชิกสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ ได้มารวมตัวแลกเปลี่ยนความคิด สร้างสรรค์กิจกรรมต่างๆ ที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใคร ไว้ข้างหลัง เป้าหมายและแนวทางในการพัฒนาประเทศทั่วทั้งโลกขององค์การสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 70

"The Ultimate 'Walk the Talk' : Italian Architecture and Style in Siam คือ กิจกรรมแรก ที่ สนจ. ร่วมมือกับ สถานทูตอิตาลีประจำประเทศไทย จัดเสวนาและชมภาพยนตร์สารคดีรอบพิเศษ "Me and the Magic Door" ตามรอยสถาปัตยกรรมในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณทั้งสองพระองค์ โดยภาพยนตร์สารคดีชุดนี้ เคยจัดฉายมาแล้วที่เทศกาลภาพยนตร์เมืองเวนิสและเมืองตูริน สถาบันต้นกำเนิดของสถาปนิกและนายช่างที่มารับราชการในสยาม พร้อมจัดกิจกรรม One Day Trip เพื่อให้ความรู้เป็นกรณีศึกษา เยี่ยมชมบ้านพิษณุโลก และวังพญาไท ในวันที่ 14 และ 15 พฤศจิกายนนี้ ซึ่งเป็นการพาไปชมผลงานการสร้างสถาปัตยกรรมของช่างอิตาลีที่ยังคงสะท้อน ความงดงาม คุณค่าผ่านกาลเวลากว่า 100 ปี ยังคงไหลเวียนให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ถึงรากเง้าของวัฒนธรรมและการก่อร่างสร้างชาติให้เป็นประเทศไทยในทุกวันนี้" รัตนาวลี โลหารชุน ประธานกิจกรรม CU Alumni Connex ภายใต้การบริหารของ สนจ. กล่าว

สำหรับการเสวนาตามรอยสถาปัตยกรรมในสมัย ร.5 และ ร.6 ผ่านภาพยนตร์สารคดี "Me and the Magic Door" รศ.ดร.หนึ่งฤดี โลหผล อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาอิตาเลียน คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า "ภาพยนตร์สารคดีชุดนี้ ถูกจุดประกายขึ้นในช่วงโควิด โดย มิสซิส ฟรานเชสก้า อันเดรอินิ ภริยาของ มร.โลเรนโซ กาลันตี เอกอัครราชทูตอิตาลีประจำประเทศไทยคนก่อน ซึ่งเป็นผู้เขียนบท เธอได้มีโอกาสอ่านงานของ เหล่าอาจารย์เกี่ยวกับสถาปัตยกรรมที่ออกแบบและก่อสร้าง โดยสถาปนิกและช่างชาวอิตาลีแล้วรู้สึกประทับใจและชื่นชอบ อีกทั้งยังเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงมิตรสัมพันธ์อันดีระหว่างสยามกับอิตาลีที่มีความเป็นมิตรต่อกันมาอย่างยาวนานผ่านสถาปัตยกรรม ตามหลักฐานพบว่า สถาปนิก และช่างศิลป์เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเล มารับราชการในสยามประเทศจากการแนะนำและคัดเลือก โดยศาสตราจารย์ใหญ่ของ 2 สถาบันที่รัฐบาลสยามในสมัยนั้นได้ทำการติดต่อไป คือ Academy of Fine Art ที่เมืองตูรินและโรงเรียนช่างวิศวกรรมอีกแห่งหนึ่ง

ทางคณะและคณาจารย์ เราพยายามหาข้อมูลจากบ้านของสถาปนิกทุกคนที่เดินทางเข้ามารับราชการในสยาม ช่วงนั้น เพื่อนำมารวบรวมเป็นคลังข้อมูลของแผ่นดินสยาม (The Digital Archive of Modernized Siam) ความรู้ ในรูปแบบของดิจิทัล แพลตฟอร์ม ให้คนไทยได้เข้าถึงเนื้อหาความรู้ในส่วนนี้ เราพยายามนำประวัติศาสตร์ อีกช่วงหนึ่งที่สำคัญให้ชนรุ่นหลังได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่า เรียนรู้จากรากเหง้าต้นกำเนิด เรียนรู้จากแหล่งที่มา เพื่อสร้างความตระหนักถึงคุณค่า เข้าใจ ห่วงแหนในพื้นที่เมืองที่ตั้งของสถาปัตยกรรม อีกทั้งยังเป็น การส่งต่อมรดกทางวัฒนธรรมอีกด้วย ตอนนี้ เรารวบรวมได้กว่า 13,000 รายการ และคาดว่า คลังข้อมูลของแผ่นดินสยาม จะสามารถเริ่มเปิดสู่สาธารณชนได้สิ้นปีหน้า"

ผศ. ดร.พีรศรี โพวาทอง อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ได้แบ่งปันความรู้เชิงสถาปัตยกรรมสิ่งก่อสร้างไว้ว่า "ช่างจากต่างประเทศ เริ่มต้นเดินทางสู่สยามประเทศ ตั้งแต่สมัย ร.5 เป็นต้นมา และอยู่นานกว่า 40 ปี ช่างเหล่านี้เข้ามาช่วยพัฒนาสยามประเทศ และมีบทบาทในการสร้างสถาปัตยกรรมต่างๆ อย่างมาก เรียกว่า เป็นยุคทองของสถาปัตยกรรมคลาสสิกก็ว่าได้ สยามไม่ได้ใช้แต่เฉพาะช่างชาวอิตาลี แต่ยังมีช่างจากประเทศต่างๆ อาทิ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน ในการออกแบบและสร้างตึกรามบ้านช่องมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถ้ามองในมิติของการเมืองการปกครองแล้ว ทั้ง 3 ประเทศนี้ ถือเป็นประเทศมหาอำนาจ มีอาณานิคม แต่อิตาลีเป็นประเทศเดียวที่ไม่มีอาณานิคม ไม่มีส่วนได้เสียในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่เป็นภัยคุกคาม ในมิติของสถาปัตยกรรมการก่อสร้าง ช่างชาวอิตาลีจะมีความเชี่ยวชาญในการออกแบบ โดยเฉพาะงานศิลปกรรม ประติมากรรม งานหินอ่อนมากกว่าชนชาติอื่นๆ และยังมีพัฒนาการก้าวสู่นวัตกรรมทางโยธาธิการ เห็นได้ชัดจากพระที่นั่งอนันตสมาคม ที่ก่อสร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ประดับด้วยหินอ่อนที่ขนมาจากอิตาลี และยังประดับด้วยทองอีกด้วย

การยุติบทบาทของสถาปนิก และช่างชาวอิตาลี เกิดขึ้นในสมัย ร. 6 เมื่อเราเริ่มพยายามผลิตบุคลากรทดแทน ด้วยการส่งคนออกไปศึกษาศิลปะการออกแบบในต่างประเทศมากยิ่งขึ้น สถาปัตยกรรมในช่วงหลังๆ จึงมีการผสมผสานความเป็นไทยมากขึ้น การออกแบบมีความเรียบมากขึ้น ตกแต่งลวดลายน้อยลง เป็นการเข้าสู่สถาปัตยกรรมสมัยใหม่"

สำหรับห้องรับรอง CU Alumni Connex เปิดให้บริการ วันจันทร์ - วันเสาร์ เวลา 8.00 - 21.00 น. ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด โดยสมาชิก สนจ. ต้องสำรองก่อนการเข้าใช้บริการเท่านั้น ติดต่อได้ที่ 081-508-7475 ส่วนหน่วยงานใดที่สนใจอยากนำภาพยนตร์สารคดี "Me and the Magic Door" ไปฉายก่อนเปิดสู่สาธารณชนในปีหน้า สามารถติดต่อได้ที่ สถานทูตอิตาลีประจำประเทศไทย 0-2250-4976


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ