กรุงเทพฯ--4 เม.ย.--เอ็มเทค
เอ็มเทค สวทช. กระทรวงวิทย์ ผนึกกำลัง จุฬา จัดแข่งขัน RDC 2008 หลังจากปีที่แล้วประสบความสำเร็จจากการเป็นเจ้าภาพจัด IDC RoBoCon 2007 เตรียมเฟ้นหานิสิต นักศึกษา วิศวะฯ ระดับหัวกะทิส่งแข่งต่อบราซิล มั่นใจศักยภาพเยาวชนไทยเทียบชั้นนักศึกษาต่างชาติได้ หวังใช้เป็นสนามแลกเปลี่ยนความรู้ด้านวิศวกรรมศาสตร์ การแข่งขันการออกแบบและสร้างหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย หรือ Robot Design Contest 2008
สำหรับนิสิตนักศึกษาครั้งนี้ จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยเพื่อค้นหาตัวแทนของประเทศไทยเข้าร่วมแข่งขันในระดับนานาชาติในงาน International Design Contest RoBoCon 2008 หรือ IDC RoBoCon 2008 ในเดือนกรกฎาคม 2551ที่ประเทศบราซิล โดยการแข่งขันดังกล่าวเป็นการร่วมมือระหว่าง ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยการสนับสนุนของศูนย์การค้าพันธุ์ทิพย์พลาซ่า เพื่อสานต่อความสำเร็จจากการที่ประเทศไทยได้มีโอกาสเข้าร่วมครั้งแรกเมื่อปี 2550 ในฐานะของเจ้าภาพการจัดงาน IDC RoBoCon 2007 ในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ณ ไบเทค บางนา จนได้ก้าวเป็นหนึ่งในสมาชิกจากที่มีอยู่เดิม 7 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา เยอรมนี อังกฤษ ฝรั่งเศส บราซิล และ เกาหลีใต้ นายวุฒิพงศ์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า “รู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่ทุกฝ่ายร่วมมือกันที่เร่งพัฒนาเยาวชนไทย ให้กล้าคิดกล้าแสดงออก รวมถึงมีสนามให้เยาวชนได้ทดสอบความรู้ ความสามารถที่ได้เรียนมา ซึ่งที่ผ่านมา เราต้องยอมรับว่าประเทศไทยมีสนามให้เยาวชนใช้ในการแข่งขันน้อย อาจารย์และผู้เกี่ยวข้องควรต้องหาสนามหรือเวทีแข่งขันจริงให้เยาวชนได้มีโอกาสเข้าร่วมแข่งขัน ซึ่งเยาวชนที่ชนะเลิศ ตนเชื่อว่าการได้ไปแข่งขันในต่างประเทศถือว่าเป็นประสบการณ์ที่มีค่ายิ่ง ความรู้ไม่ใช่อยู่ในเพียงแผ่นกระดาษเท่านั้น แต่ความรู้จะเกิดได้จากประสบการณ์ที่เราได้ลงมือปฏิบัติด้วย” รศ. ดร.วีระศักดิ์ อุดมกิจเดชา ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ ในฐานะประธานการจัดการแข่งขัน กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของการจัดงาน IDC RoBoCon 2008 ในครั้งนี้ เพื่อเป็นการพัฒนาบุคลากรทางด้านการออกแบบและสร้างกลไกสำหรับพัฒนาหุ่นยนต์ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ ระหว่างนิสิตนักศึกษาของสถาบันการศึกษาต่างๆ ในประเทศไทย และเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้เพื่อเป็นฐานสำหรับการพัฒนาวิชาการทางด้านการออกแบบหุ่นยนต์ รวมถึงเพื่อเผยแพร่วิชาการทางด้านการออกแบบวิศวกรรมและหุ่นยนต์ ซึ่งรูปแบบของการแข่งขันและสร้างหุ่นยนต์แห่งประเทศไทยจะเป็นรูปแบบเดียวกับการแข่งขันระดับนานาชาติ IDC RoBoCon คือ จะมีช่วงเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ สำหรับการออกแบบและสร้างหุ่นยนต์เพื่อแก้ปัญหาโจทย์ที่กำหนดให้ โดยจะมีการกำหนดวัสดุและอุปกรณ์ให้สำหรับใช้ในการแข่งขัน และการแข่งขันรอบสุดท้ายจนได้ตัวแทนประเทศไทย ทั้งนี้ทุกทีมที่เข้าแข่งขัน จะเป็นการรวมกลุ่มของนักศึกษาจากต่างสถาบัน เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร และ สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น เป็นต้น แบ่งเป็น 11 ทีมๆ ละ 4 คน รวม 44 คน โดยจับฉลากของนิสิต นักศึกษาจากต่างสถาบัน ให้ร่วมกลุ่มกัน เพื่อเป็นการฝึกทักษะในการทำงานร่วมกัน รวมถึงการที่นักศึกษาในแต่ละสถาบันจะได้มีการนำความรู้ และทักษะมาประยุกต์ใช้ให้เกิดผลดีต่อการแข่งขัน ซึ่งการแข่งขันในระดับนานาชาติ ก็จะเป็นการรวมกลุ่มกันของนักศึกษาทุกชาติต่อ 1 ทีม ซึ่งเป็นเสน่ห์ของการจัดการแข่งขัน IDC RoBoCon สำหรับการแข่งขันในประเทศไทยนั้น จะเริ่มการอบรมทฤษฎีและปฏิบัติกระบวนการออกแบบและสร้างหุ่นยนต์ โดยผู้เข้าแข่งขันร่วมเข้ากลุ่มใน วันที่ 1 - 23 เมษายน 2551 ณ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเริ่มการแข่งขันจัดอันดับ ในวันที่ 24 เมษายน — 12 พฤษภาคม 2551 ณ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ส่วนการแข่งขันรอบสุดท้าย จะจัดขึ้นในวันที่ 13 พฤษภาคม 2551 ณ พันธุ์ทิพย์ ฮอลล์ ชั้น 1 ศูนย์การค้าพันธุ์ทิพย์พลาซ่า รศ.ดร. บุญสม เลิศหิรัญวงศ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้การสนับสนุนการแข่งขัน IDC RoBoCon เนื่องจากเป็นการแข่งขันที่มีการจัดอย่างต่อเนี่องในประเทศพันธมิตรทั้ง 7 ประเทศมาอย่างยาวนาน ตัวแทนนักศึกษาจากประเทศที่ร่วมแข่งขันจะมีทักษะในการประยุกต์ใช้ความรู้ด้านวิศวกรรมอย่างเชี่ยวชาญ การที่นักศึกษาของไทย เข้าร่วมการแข่งขันเท่ากับป็นการเปิดโลกทัศน์รวมถึงเป็นการช่วยพัฒนาทักษะในการประดิษฐ์ การคิดค้น พัฒนาศักยภาพของตน ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศไทยได้มีบุคลากรทางด้านเทคโนโลยีรุ่นใหม่ๆ เกิดขึ้นอยู่เสมอ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเยาวชนไทย มีความสามารถในการออกแบบและพัฒนาหุ่นยนต์ไม่แพ้เยาวชนชาติอื่น ๆ และด้วยโจทย์การแข่งขันที่ผู้เข้าแข่งขันต้องใช้ไหวพริบในการออกแบบ และ สร้างหุ่นยนต์เพื่อแก้ปัญหา และอุปสรรคที่จัดเตรียมไว้ รวมทั้งการหลบหลีกคู่ต่อสู้ ในสนามแข่งด้วยเวลาที่จำกัดเพียง นาทีกว่า ช่วยเพิ่มสีสันให้กับการแข่งขันครั้งนี้ได้มากทีเดียว สำหรับโจทย์ในปีนี้เพื่อแก้ไขสภาวะโลกร้อน และมาดูกันว่าเราจะสามารถช่วยป้องกันสภาวะดังกล่าวกันอย่างไร ... น.ส. หทัยรัตน์ เจริญกุลวณิชย์ และนายสุขุม สัตตรัตนามัย 2 นิสิต คณะวิศกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ผู้ผ่านสนามแข่งขันการออกแบบและสร้างหุ่นยนต์นานาชาติ (IDC RoBoCon 2007) มาแล้ว ให้ความเห็นว่า การแข่งขันครั้งนี้ ถือเป็นเวทีสำคัญที่จะทำให้เยาวชนได้นำความรู้ในทุกด้านมาประยุกต์ใช้และฝึกทักษะการทำงานเป็นทีมกับนักศึกษาต่างชาติ ซึ่งแต่ละชาตินอกจากสหรัฐอเมริกาและอังกฤษไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก แต่ด้วยรอยยิ้ม ความเป็นมิตร บวกกับภาษามือ ภาษาภาพ และการยอมรับความคิด ความเห็นที่แตกต่างกัน เป็นอุปสรรคที่สร้างประสบการณ์ที่มีค่ามาก และไม่สามารถหาได้จากเวทีการแข่งขันอื่นๆ สำหรับการแข่งขันในปีนี้ก็นับเป็นโอกาสดีของตัวแทนรุ่นต่อไปซึ่งจะได้เดินทางไปแข่งขันที่ประเทศบราซิลด้วย ผู้ที่สนใจสามารถติดตามข่าวการแข่งขัน รายละเอียดกฎและกติกาการแข่งขันเพิ่มเติมได้ โดยเยี่ยมชมทางเวปไซต์ได้ที่ http://www.mtec.or.th/RDC2008
สอบถามข้อมูลข่าวเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ งานประชาสัมพันธ์และนิทรรศการ ขจรศักดิ์ สงวนสัตย์ ประชาสัมพันธ์ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ โทร 02-5646500 ต่อ 4519 081-6229608 หรือ ที่ปรึกษาเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์โครงการ วารุณี อภิรักษ์สุขุมาล (วา) โทร 08 1867 7789 อภิสรา ธรรมวิไชย (หญิง) โทร 08 7829 3922