NDTP (National Digital Trade Platform) แพลตฟอร์มการค้าดิจิทัลระหว่างประเทศของไทย เป็นโครงการที่ขับเคลื่อนโดยคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) คือ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ สมาคมธนาคารไทย ซึ่งในเฟสแรก พัฒนาและดำเนินการโดย บริษัท เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ๊กซ์ จำกัด (NITMX) และบริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด เป็นผู้ดูแลจัดการเกี่ยวกับเอกสารสัญญาที่เกี่ยวข้อง
แพลตฟอร์ม NDTP ถูกพัฒนาด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) และดำเนินการโดย บริษัท เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ๊กซ์ จำกัด (NITMX) ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้พัฒนาและให้บริการโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินของไทย รวมทั้ง PromptPay และได้ขยายบริการไปยังโครงสร้างพื้นฐานการค้าและการให้สินเชื่อ ทั้ง PromptBiz และ Trade Document Registry (TDR) สำหรับธนาคาร เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงบริการทางการเงินในรูปแบบใหม่ๆ และสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน NDTP เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในเวทีการค้าโลกต่อไป
แพลตฟอร์มดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของผู้ส่งออก ผู้นำเข้า และผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ เพื่อให้การส่งออกนำเข้า ง่าย สะดวก รวดเร็ว ขึ้น ช่วยป้องกันการทำธุรกรรมในเชิงมิชอบหรือการทำธุรกรรมซ้ำซ้อน และช่วยเพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อการทำการค้าแก่กลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยหรือ SMEs ในประเทศ
ภาครัฐให้การสนับสนุนโดยจัดตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเกี่ยวกับการศึกษาและการกำหนดแนวทางการพัฒนาแพลตฟอร์มการค้าดิจิทัลระหว่างประเทศของไทย เพื่อขับเคลื่อนหน่วยงานภาครัฐในการสนับสนุนการพัฒนา NDTP ภายใต้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ
NDTP ประสบความสำเร็จในพัฒนาแพลตฟอร์ม และการทดสอบรายการ Proof-of-Concept (POC)/Pilot Live ในเฟสที่ 1 ร่วมกับ แพลตฟอร์ม TradeWaltz ของญี่ปุ่น และแพลตฟอร์ม NTP (Networked Trade Platform) ของประเทศสิงคโปร์ เรียบร้อยแล้วในเดือนตุลาคม 2565 โดยมีขอบเขตรวมถึงการใช้เอกสารการค้าอิเล็กทรอนิกส์ตามมาตรฐาน UNCEFACT สำหรับใบสั่งซื้ออิเล็กทรอนิกส์ (electronic purchase order) ใบแจ้งหนี้อิเล็กทรอนิกส์ (electronic invoice) และ ใบกำกับหีบห่ออิเล็กทรอนิกส์ (electronic packing list) และเอกสารอื่นๆ ที่ยังเป็นรูปภาพ
สำหรับผู้ส่งออกนำเข้าที่ร่วมทำรายการ POC กับคู่ค้าในญี่ปุ่น คือ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) บริษัท โตโยต้า ทูโช (ไทยแลนด์) จำกัด และบริษัท ยูนิคอร์ด จำกัด (มหาชน)
ผู้ส่งออกนำเข้าที่ร่วมทำรายการ Pilot Live กับคู่ค้าในสิงคโปร์ คือ บริษัท บี.ฟู้ดส์ โปรดักส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ในเครือกลุ่มริษัทเบทาโกร และบริษัท แปซิฟิก ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ในเครือกลุ่มบริษัทน้ำตาลมิตรผล
ในเฟสที่ 1 POC นี้ ได้รวมถึงการตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารที่ธนาคารได้รับเพื่อปล่อยสินเขื่อด้วย โดยเป็นการเชื่อมต่อระหว่าง NDTP และ TDR (Trade Document Registry) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่เริ่มใช้ตั้งแต่ต้นปี 2565 สำหรับธนาคารที่ให้สินเชื่อแก่ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศในการตรวจสอบการขอสินเชื่อซ้ำซ้อน (double financing) โดยมีธนาคารที่ร่วมโครงการระหว่าง NDTP เฟสที่ 1 และTDR ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคาร กรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ธนาคารกสิกรไทยจำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคาร ไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน)
การทำงานเฟสต่อไป จะเป็นการก่อตั้ง สรรหา องค์กรและหน่วยงานที่จะพัฒนาและดำเนินการ NDTP ต่อไปเพื่อนำไปสู่การใช้งานจริง ให้ได้ผล บรรลุตามจุดมุ่งหมายอย่างเป็นรูปธรรม
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ประเทศไทยได้เปิดตัวแพลตฟอร์มการค้าดิจิทัลระดับชาติ ซึ่งจะรวมศูนย์และปรับปรุงขั้นตอนการนำเข้าและส่งออก เพื่อให้ประเทศไทยแข่งขันทางการค้าได้มากขึ้น โดยเฉพาะการค้าดิจิทัล โดยนำเสนอความยืดหยุ่นให้ธุรกิจสู่ความเป็นเลิศในโลกการค้ายุคใหม่ ดังนั้น ความสะดวกในการทำธุรกิจจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการดึงดูดการค้าและการลงทุนจากต่างประเทศ
นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธานร่วมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กล่าวว่า ความสำเร็จของ NDTP ในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญของประเทศไทยในการยกระดับการค้าระหว่างประเทศสู่ระบบดิจิทัล ซึ่งจะทำให้การทำธุรกรรมการค้า การนำเข้า และการส่งออกสะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ ลดขั้นตอนการจัดเตรียมเอกสารกระดาษ จากการใช้อิเล็กทรอนิกส์ทำการค้า ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจสอบความถูกต้องของเอกสาร เสริมขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น ด้วยต้นทุนที่เหมาะสม ขณะที่สถาบันการเงินสามารถตรวจสอบการขอสินเชื่อซ้ำซ้อน (Double Financing) เพื่อพิจารณาสินเชื่อตามศักยภาพของผู้ประกอบการแต่ละรายได้แม่นยำยิ่งขึ้น ซึ่งปัจจุบันธนาคารมีการตรวจสอบผ่านระบบ Trade Document Registry (TDR) อยู่แล้ว
ความสำเร็จของ NDTP เฟสที่ 1 เกิดจากการผนึกกำลังของภาคส่วนต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชน ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศแรกๆ ที่มีความคืบหน้าในด้านการค้าดิจิทัลระหว่างประเทศ ซึ่งหวังว่าจะสามารถขยายความร่วมมือในการพัฒนาเชื่อมโยงระบบระหว่างประเทศ และผลักดันให้เกิดการขยายผลการพัฒนาที่เชื่อมโยงกันทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก พร้อมส่งเสริมให้ทุกกลุ่มธุรกิจมีโอกาสที่เท่าเทียมกันในการทำการค้าและเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจ ABAC ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และประธานร่วมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กล่าวว่า โครงการ NDTP นี้จะช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมที่เป็นส่วนสำคัญในการนำเข้าและส่งออกสินค้าของประเทศ มีประสิทธิภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น ปัจจุบันการนำเข้าและส่งออกสินค้ามีมูลค่าสูงถึง 17 ล้านล้านบาทในปี 2564 มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงโควิดที่ผ่านมาภาคการส่งออกสินค้าเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย
ทุกวันนี้การนำเข้าและการส่งออกสินค้าไทยยังมีขั้นตอนและการใช้เอกสารจำนวนมาก มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากถึง 20-30 หน่วยงานต่อการนำเข้าหรือส่งออกแต่ละครั้ง ซึ่งใช้เวลาและค่าใช้จ่ายสูงมากเมื่อเทียบกับหลายๆประเทศ ดังนั้น การที่ กกร.ได้ขับเคลื่อนโครงการนี้จะเป็นการอำนวยความสะดวกทางธุรกิจ (Ease of Doing Business) และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ (Thailand Competitiveness) ได้อย่างมาก สอดคล้องกับข้อเสนอของสภาที่ปรึกษาธุรกิจ (ABAC) ที่เสนอต่อผู้นำเขตเศรษฐกิจ APEC (Letter to Leader) ที่ผลักดันเรื่องการค้าระหว่างประเทศด้วยระบบดิจิทัล (Cross Border Digital Trade)
นอกจากนี้โครงการ NDTP ยังสามารถช่วยเหลือ SME เข้าถึงสินเชื่อทางการเงินได้ง่ายขึ้น เนื่องจากระบบจะมีการเชื่อมต่อกับธนาคารด้วยระบบ Trade Document Registry (TDR) เพื่อตรวจสอบข้อมูลการนำเข้าและส่งออกสินค้าที่น่าเชื่อจากระบบ และตรวจสอบการป้องกันการขอสินเชื่อซ้ำซ้อน (Double Financing) ด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน ทำให้สถาบันการเงินสามารถลดความเสี่ยงจะทำให้การช่วยเหลือ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุน (SMEs Access to Finance) ได้มากขึ้น
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และประธานร่วมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กล่าวว่า สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย มีความยินดีที่ภาคเอกชนไทยได้พัฒนาแพลตฟอร์ม NDTP เฟสที่ 1และนำไปสู่การทดสอบเชื่อมต่อจนสำเร็จ ความสำเร็จในครั้งนี้ เกิดจากความร่วมมืออย่างเข้มแข็งของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อก้าวสู่ระบบการค้าระหว่างประเทศแบบ fully digital ซึ่งสามารถลดต้นทุนและเวลา ช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน ตลอดจนเพิ่มความปลอดภัยของข้อมูลและความโปร่งใสในกระบวนการนำเข้า-ส่งออก
สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้สนับสนุนการพัฒนาแพลตฟอร์ม NDTP มาอย่างต่อเนื่องและมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนต่อไปเพื่อยกระดับโดยขยายขอบเขตการเชื่อมโยงข้อมูลกับประเทศต่างๆ ผ่านแพลตฟอร์ม NDTPจึงอยากจะเชิญชวนผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศให้เข้ามาใช้บริการแพลตฟอร์ม NDTP โดยเราเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าแพลตฟอร์มนี้จะช่วยทำให้ธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศของเราอยู่ในรูปแบบ digital ซึ่งจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในอนาคตอันใกล้นี้
นางสาวอ้อนฟ้า เวชชาชีวะ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ กล่าวว่า สำนักงาน ก.พ.ร. เป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรีในการพัฒนาแพลตฟอร์ม NDTP โดยใช้กลไกการแต่งตั้ง อ.ก.พ.ร. เฉพาะกิจ เกี่ยวกับการศึกษาและกำหนดแนวทางการพัฒนาแพลตฟอร์มการค้าดิจิทัลระหว่างประเทศของไทยที่ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมกันพัฒนาต้นแบบ (Prototype) เพื่อทดสอบความถูกต้องของการเชื่อมโยงข้อมูลเมื่อระบบเริ่มปฏิบัติการจริง ส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูลด้านการนำเข้า-ส่งออกกับระบบ NSW โดยมีหน่วยงานภาครัฐเกี่ยวข้องกว่า 36 หน่วยงาน ตลอดจนปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าดิจิทัล อาทิ การตราพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 ที่กำหนดให้ภาครัฐต้องให้บริการด้วยช่องทางดิจิทัลเป็นหลัก เพื่ออำนวยความสะดวกและสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ประกอบการ เพิ่มการขยายตัวทางธุรกิจ และสร้างโอกาสในการแข่งขันของภาคเอกชนไทยในทุกระดับ
สำนักงาน ก.พ.ร. เร่งผลักดันการพัฒนาแพลตฟอร์ม NDTP ในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) ซึ่งเป็นแนวทางที่มีความเหมาะสมในการนำจุดเด่นของภาครัฐและภาคเอกชนมาดำเนินงานร่วมกันในการให้บริการแพลตฟอร์ม NDTP ให้สามารถเปิดให้บริการได้ภายในปี 2567 ในปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุน (Feasibility) เพื่อให้ NDTP สามารถตอบโจทย์ความต้องการและความคาดหวังของภาคธุรกิจและประชาชนต่อไป
ดร กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานคณะทำงานย่อยโครงการ NDTP ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ กล่าวว่า แพลตฟอร์มการค้าดิจิทัล เป็นส่วนประกอบสำคัญที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยให้มีความก้าวหน้าและเป็นเศรษฐกิจดิจิทัลที่สมบูรณ์ ในการทำงานและการขับเคลื่อนดังกล่าวมีความยากลำบากและสลับซับซ้อน เพราะมีผู้เกี่ยวข้องที่หลากหลายจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน และมีเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าและส่งออกเป็นจำนวนมาก รวมถึงการที่ต้องมีการปรับปรุงกฏหมายและระเบียบเพื่อให้เอื้อต่อเอกสารและการทำธุรกรรมดิจิทัล จึงต้องอาศัยความร่วมมือสนับสนุนจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่จะมาร่วมกันทำงานแบบบูรณาการทั้งองคาพยพ ดังนั้นความสำเร็จของการพัฒนาระบบและการทดสอบการใช้งานของระบบ NDTP เฟสที่ 1 นับเป็นก้าวสำคัญของการพัฒนาสู่ยุคดิจิทัลของประเทศไทย ผมขอขอบคุณคณะทำงานทุกท่าน ทุกคณะทั้งจากภาคเอกชนและภาครัฐ สมาคมธนาคารไทย กกร บริษัท เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ๊กซ์ จำกัด บริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) ที่ทำงานกันอย่างแข็งขันจนประสบความสำเร็จในก้าวนี้ และขอขอบคุณหน่วยรัฐอื่นๆที่ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ด้วย