กรุงเทพฯ--4 เม.ย.--ไปรษณีย์
ช่วงที่ 1 ปฐมบทแห่งกิจการไปรษณีย์
ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงศ์ กรมหลวงภาณุพันธุวงศ์วรเดช เป็นผู้นำในการจัดตั้งการไปรษณีย์ร่วมกับเจ้าหมื่นเสมอใจราช หัวหมื่นมหาดเล็กเวรสิทธิ์ ก่อกำเนิดเป็นกิจการไปรษณีย์อย่างเป็นทางการขึ้นในประเทศไทย เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2426
จากจุดเริ่มต้นของการให้บริการในเขตกรุงเทพมหานคร ขยายสู่ปริมณฑล และจังหวัดต่าง ๆ ทั่วภูมิภาคของประเทศ โดยมีที่ทำการตั้งอยู่ ณ ตึกใหญ่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ด้านเหนือของปากคลองโอ่งอ่าง เรียกกันว่า "ไปรษณียาคาร"
หลังจากนั้นเพียง 2 ปี ประเทศไทยได้เข้าเป็นสมาชิกของสหภาพสากลไปรษณีย์อย่างเป็นทางการ ส่งผลให้ไปรษณีย์ไทย เป็นที่ยอมรับนับถือจากต่างประเทศ และเริ่มดำเนินการรับส่งหนังสือกับต่างประเทศได้เอง
กิจการไปรษณีย์ไทย เติบโตมาโดยลำดับ เมื่อสมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงศ์ฯ ในฐานะผู้สำเร็จราชการกรมไปรษณีย์และกรมโทรเลข ทรงขยายกิจการและปรับปรุงให้มีมาตรฐานยิ่งขึ้น ตลอดจนถึงการทำซองจดหมายและดวงตราไปรษณียากรออกจำหน่าย จนกระทั่งต่อมา ได้มีการปรับปรุงระบบบริหารราชการแผ่นดิน ส่งผลให้โอนกรมไปรษณีย์และกรมโทรเลขเข้าด้วยกัน เรียกว่า “กรมไปรษณีย์โทรเลข” ซึ่งต่อมาได้ย้ายไปใช้อาคารและที่ดินริมถนน เจริญกรุงเป็นที่ทำการและเรียกกันโดยทั่วไปว่า "ที่ทำการไปรษณีย์กลาง"
ช่วงที่ 2 สู่เครือข่ายการสื่อสารข้ามโลก
94 ปีต่อมา ใน ปี พ.ศ. 2520 ได้มีการจัดตั้ง “การสื่อสารแห่งประเทศไทย” หรือ กสท. ขึ้น โดยได้รับมอบกิจการด้านไปรษณีย์จากกรมไปรษณีย์โทรเลขมาดำเนินการ ทำให้บริการด้านไปรษณีย์ ผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายการสื่อสารและโทรคมนาคมยุคใหม่ เชื่อมโยงคนไทยสู่โลกกว้าง ด้วยคุณภาพมาตรฐานสากล และความมุ่งมั่นในการพัฒนาบริการให้เจริญก้าวหน้ามาโดยตลอด จนเป็นรัฐวิสาหกิจชั้นนำแห่งหนึ่งของประเทศ
แต่ถึงกระนั้น บริการไปรษณีย์ ก็ยังคงไว้ซึ่งความใกล้ชิดสนิทสนมและรับใช้สังคมไทยอย่างเหนียวแน่นจนถือได้ว่า ไปรษณีย์ไทยกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของคนไทย
ในยุคของความเป็น กสท. นี้เอง ที่เริ่มมีการประกาศใช้รหัสไปรษณีย์ เปิดบริการไปรษณีย์รับประกันภายในประเทศ การจำหน่ายซองจดหมายขนาดมาตรฐาน รวมทั้งการเปิดบริการไปรษณีย์ด่วนพิเศษต่างประเทศ หรือ EMS ซึ่งขณะนั้นนับเป็นปีที่ 100 ของบริการไปรษณีย์ในประเทศไทย
ช่วงที่ 3 ภาพลักษณ์ใหม่ หัวใจดวงเดิม
จวบจนปี 2542 รัฐบาลมีนโยบายแปรสภาพรัฐวิสาหกิจ กิจการไปรษณีย์ จึงได้ถูกแยกออกจากการสื่อสารแห่งประเทศไทย ถือกำเนิดเป็นบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2546 มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยได้มีการปรับปรุงภาพลักษณ์องค์กรใหม่ พัฒนาคุณภาพบริการ และขยายขอบเขตการให้บริการในเชิงธุรกิจ เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตและความเปลี่ยนแปลงในโลกยุคปัจจุบัน
วันนี้ บริการของไปรษณีย์ไทยครอบคลุมตั้งแต่การรับส่งจดหมาย ไปรษณียบัตร ของตีพิมพ์ ไปจนถึงบริการขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ครบวงจร บริการด้านการเงิน และการรับชำระค่าสินค้าบริการต่าง ๆ ตลอดจนการดำเนินธุรกิจค้าปลีก และเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าผ่านเครือข่ายไปรษณีย์ ฯลฯ
จากวันวานสู่วันนี้ กิจการไปรษณีย์ของไทยได้เดินทางมาถึงปีที่ 125 โดยมีการปรับปรุงพัฒนามาอย่างต่อเนื่องยาวนาน แม้จะผ่านจุดเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญขององค์กรหลายต่อหลายครั้ง แต่หัวใจของไปรษณีย์ไทย ยังคงเป็นหัวใจดวงเดิมที่พร้อมให้บริการและรับใช้สังคมไทยในฐานะผู้เชื่อมโยงที่ดีที่สุดของคนไทยอย่างไม่แปรเปลี่ยน โดยจะยังคงมุ่งมั่นพัฒนาในก้าวต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศชาติตลอดไป