ซีเกทร่วมกับสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย ประกาศรายชื่อ 8 ทีมสุดยอดรถอัจฉริยะไร้คนขับ เพื่อโชว์ฟอร์มในรอบชิงชนะเลิศ

ข่าวเทคโนโลยี Friday April 4, 2008 11:36 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 เม.ย.--ซีเกท เทคโนโลยี
กรุงเทพฯ บริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย ภาควิชาเมคาโทรนิคส์ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย (เอไอที) และสมาคมวิศวกรรมยานยนต์ไทย ประกาศรายชื่อ 8 ทีมสุดยอดรถอัจฉริยะไร้คนขับ ที่ผ่านการแข่งขันรอบคัดเลือก โดยทีมรถอัจฉริยะไร้คนขับเหล่านี้ได้รับรางวัลทีมละ 50,000 บาท เพื่อนำไปพัฒนาประสิทธิภาพของรถอัจฉริยะไร้คนขับ ในการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 4 มิถุนายน ศกนี้
รายชื่อ 8 ทีมรถอัจฉริยะไร้คนขับที่ผ่านการคัดเลือกเข้าแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศ ได้แก่
1. ทีมพลาสม่า ไอวี (PlasmaIV) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รถวิ่งได้ระยะทาง 1,721.70 เมตร และเป็นทีมเดียวที่สามารถหลบหลีกสิ่งกีดขวางได้ทั้ง 4 จุด
2. ทีมปา-ปา-ย่า (PA-PA-YA) สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย (เอไอที) รถวิ่งได้ระยะทาง 1,878 เมตรและสามารถหลบหลีกสิ่งกีดขวางได้ 2 จุด
3. ทีมดาร์คฮอร์ส (Darkhorse) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี รถวิ่งได้ระยะทาง 306.50 เมตร
4. ทีมเรียล (Real) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รถวิ่งได้ระยะทาง 279 เมตร
5. ทีมซิกแซ็ก (Zigzag) มหาวิทยาลัยขอนแก่น รถวิ่งได้ระยะทาง 223.87 เมตร
6. ทีมเอ็มยูที ออโต้บ็อต (MUT Autobot) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร รถวิ่งได้ระยะทาง 143.60 เมตร
7. ทีมอไรว์ (Arrive) มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง รถวิ่งได้ระยะทาง 143.40 เมตร
8. ทีมบาร์ท แล็บ: เวฮิคูลัม (Bart Lab: Vehiculum) มหาวิทยาลัยมหิดล รถวิ่งได้ระยะทาง 117.10 เมตร
รองศาสตราจารย์ ดร. มนูกิจ พานิชกุล ประธานคณะกรรมการจัดการแข่งขันสร้างรถอัจฉริยะชิงแชมป์ ประเทศไทย 2551 กล่าวว่า การแข่งขันในครั้งนี้ ปรากฏว่า ความสามารถของทุกๆทีมค่อนข้างสูสีกันมาก แต่อย่างไรก็ตามคณะกรรมการก็ได้คัดเลือก 8 ทีม ที่มีความสามารถสูงสุด เพื่อเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ แต่เพื่อให้ทีมที่เหลือ ในลำดับ 9 ถึง 15 ซึ่งได้มุ่งมั่นสร้างรถอัจฉริยะได้พิสูจน์ฝีมืออีกครั้งหนึ่ง คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ทีมรถอัจฉริยะไร้คนขับทั้ง 7 ทีมดังกล่าวเข้าร่วมการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศด้วย พร้อมได้รับเงินเพื่อพัฒนารถอัจฉริยะไร้คนขับอีก ทีมละ 10,000 บาท
กติกาการแข่งขันในรอบคัดเลือกปีนี้ เพิ่มความท้าทายแก่ผู้เข้าแข่งขัน “โดยมีการเพิ่มความเร็วสูงสุดของรถจากเดิม 10 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็น 45 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และ เพิ่มระยะทางจากเดิม 1,600 เมตร เป็น 1,800 เมตร ที่สำคัญรถ ต้องสามารถบรรทุกผู้โดยสารจำลองซึ่งมีน้ำหนักประมาณ 60 กิโลกรัม ได้ 1 คน ขณะที่รถเคลื่อนที่
นอกจากนี้ อุปกรณ์ที่ติดตั้งในรถอัจฉริยะไร้คนขับยังเปิดกว้างมากขึ้นทั้งตัวเซ็นเซอร์ อุปกรณ์ควบคุมและรถที่ใช้แข่งขัน ซึ่งผู้ประดิษฐ์รถสามารถตัดสินใจเลือกได้เองแทบทั้งหมด ส่วนอุปกรณ์ที่ได้รับการยืดหยุ่นให้ใช้ในการแข่งขันปีนี้ได้ เช่น เรดาร์ กล้องเลเซอร์ จีพีเอสและแผนที่อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องคอมพิวเตอร์ทั้งแล็ปทอปและพีซี คอมพิวเตอร์อุตสาหกรรมรวมทั้งคอมพิวเตอร์แบบฝังตัว เป็นต้น”
ในการแข่งขันสร้างรถอัจฉริยะชิงแชมป์ประเทศไทย 2551 รอบคัดเลือก รถของแต่ละทีมจะต้องสามารถขับเคลื่อนได้ด้วยตัวเองโดยปราศจากคนขับทั้งโดยตรง หรือแบบบังคับทางไกล รถจะต้องสามารถเคลื่อนที่ไปบนเส้นทางที่กำหนดให้โดยใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะต่าง ๆ ที่ทำให้สามารถแบ่งแยกถนนออกจากสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ และบังคับรถให้วิ่งบนถนนได้
รถอัจฉริยะที่เคลื่อนที่ ได้ระยะทางไกลที่สุด เร็วที่สุด จะเป็นทีมชนะเลิศ และที่สำคัญรถทุกคันต้องติดตั้งฮาร์ดดิสก์ซีเกท รุ่น EE25.2 ความจุ 60 กิกะไบต์ เพื่อใช้ในการเก็บข้อมูลการขับเคลื่อนและข้อมูลอื่น ๆ และรายงานผลต่อคณะกรรมการด้วย
นายเจฟฟรี่ ไนการ์ด รองประธานและผู้จัดการประจำประเทศไทย กล่าวว่า การแข่งรถอัจฉริยะไร้คนขับ จะช่วยพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถของนิสิตนักศึกษาให้สามารถนำความรู้เชิงทฤษฎีมาปฏิบัติจริง หัวใจสำคัญคือ นักศึกษาจะประสบความสำเร็จได้นั้น นอกจากจะเกิดจากความสามารถแล้ว พวกเขาจะต้องรักในสิ่งที่เขาทำและมีความสุขที่ได้ทำ ด้วย จึงจะเป็นสูตรสำเร็จที่สมบูรณ์
การแข่งขันสร้างรถอัจฉริยะชิงแชมป์ประเทศไทย จัดขึ้นเป็นครั้งที่สอง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาความคิด สร้างสรรค์ และความชำนาญ ในสาขาเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติและยานยนต์ ตลอดจนเพื่อกระตุ้นให้เกิด การตื่นตัวและสนับสนุนการทำกิจกรรมนอกหลักสูตร เตรียมความพร้อมให้กับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในประเทศไทย ในการทำโครงการรถอัจฉริยะ
สมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย
สมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2543 โดยกลุ่มบุคคลที่มีความสนใจและดำเนินงานเกี่ยวข้องกับ วิศวกรรมหุ่นยนต์อันประกอบไปด้วย นักวิชาการ นักวิจัย และนักอุตสาหกรรม มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและ เผยแพร่ความรู้และความเข้าใจในวิทยาการด้านหุ่นยนต์ จัดกิจกรรมการปฏิบัติงานทางวิชาการ เพื่อพัฒนาความรู้ และเทคโนโลยีด้านหุ่นยนต์ เป็นศูนย์กลางทางด้านข่าวสารในวิทยาการใหม่ ๆ ของหุ่นยนต์ ทั้งในประเทศและ ต่างประเทศและสร้างเครือข่ายนักวิจัยและวิชาการเพื่อส่งเสริมการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษา ในสาขาหุ่นยนต์ และวิศวกรรมอัตโนมัติ ท่านสามารถติดต่อสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทยได้ที่ โทร. 0-2889-2138 ต่อ 6446 หรือเว็บไซต์ www.trs.or.th
บริษัทซีเกท
ซีเกทคือผู้นำทั่วโลกในการออกแบบ การผลิตและการตลาดฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์และโซลูชั่นสำหรับบันทึกข้อมูล จากการนำเสนอผลิตภัณฑ์สำหรับระบบปฏิบัติการต่าง ๆ รวมทั้งองค์กร เครื่องคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ เครื่องคอมพิวเตอร์มือถือ (Mobile Computing) อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า (Consumer Electronics) และโซลูชั่นที่มียี่ห้อ (Branded Solutions) รูปแบบการดำเนินธุรกิจของซีเกทช่วยเสริมสร้างความเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีและการผลิตระดับโลก เพื่อส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และมีคุณภาพในระดับชั้นนำของอุตสาหกรรมไปยังลูกค้าทั่วโลก ด้วยเป้าหมายในการเป็นผู้นำในการนำผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดเป็นรายแรกในตลาดทั้งหมดที่เรามีส่วนร่วม บริษัทฯ มีความมุ่งมั่นในการส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่ได้รับรางวัล การให้การสนับสนุนแก่ลูกค้าและมีความน่าเชื่อถือเพื่อตอบสนองความต้องการบันทึกข้อมูลที่เพิ่มขึ้นตลอดเวลาในโลก ท่านสามารถพบซีเกทได้ทั่วโลกและค้นหาข้อมูลซีเกทเพิ่มเติมที่ www.seagate.com
ข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
รศ. ดร. มนูกิจ พานิชกุล โทรศัพท์ 0-2524-5229 Email: manukid@ait.ac.th
หรือนางสาวขวัญจิต สุดสวัสดิ์ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด โทรศัพท์ 0-2715-2919

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ