คณะศิลปกรรมฯ มรภ.สงขลา จัดอบรมหลักสูตรระยะสั้น "แนวทางรวมวงเครื่องสายสากล สำหรับครูประถมฯ และครูมัธยมศึกษา" เพิ่มพูนทักษะองค์ความรู้ บูรณาการจัดการเรียนการสอน ควบคู่เสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์จินตนาการให้กับผู้เรียนในท้องถิ่น
ผศ.วีระศักดิ์ อักษรถึง คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) กล่าวระหว่างเป็นประธานเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตรระยะสั้น "แนวทางการรวมวงเครื่องสายสากล สำหรับครูประถมศึกษา และครูมัธยมศึกษา" จัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-18 พฤศจิกายน 2565 ณ ห้องประชุมจรินทร์ ชาติรุ่ง อาคาร 58 คณะศิลปกรรมศาสตร์ มรภ.สงขลา ว่า การจัดอบรมในครั้งนี้เพื่อให้บุคลากรทางการศึกษาและบุคคลทั่วไปที่สนใจ ได้เข้ารับการเรียนรู้และเพิ่มพูนทักษะด้านการปฏิบัติเครื่องสายสากลเบื้องต้นจนถึงระดับกลาง การเรียบเรียงเพลงสำหรับวงเครื่องสายสากล ตลอดจนเทคนิควิธีการและแนวทางการรวมวงเครื่องสายสากลในระดับเบื้องต้นจนถึงระดับกลาง โดยมีการจัดกระบวนการเรียนการสอนตามขั้นตอนในช่วงเวลาที่เหมาะสม ทั้งยังเป็นการสร้างความเข้มแข็งด้านการจัดการเรียนการสอนให้กับชุมชน สถานศึกษา และหน่วยงานต่าง ๆ ในท้องถิ่น และภูมิศาสตร์ภาคใต้ โดยมี ดร.สุทธิรักษ์ เอียดปุ่ม ผศ.วิชัย มีศรี และ ผศ.อติพล อนุกูล อาจารย์สาขาดุริยางคศิลป์ตะวันตก คณะศิลปกรรมศาสตร์ มรภ.สงขลา เป็นวิทยากร
ทั้งนี้ การบริการวิชาการถือเป็นพันธกิจสำคัญประการหนึ่งของสถาบันอุดมศึกษา มรภ.สงขลา เป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นที่มีความโดดเด่นทางด้านการผลิตครูและบุคคลากรทางการศึกษาของภาคใต้ ประกอบกับนโยบายสภามหาวิทยาลัยฯ มีเป้าหมายด้านการบริการความรู้และพัฒนาท้องถิ่นให้มีความเจริญก้าวหน้าในทุกสาขาอาชีพและสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน การบริการความรู้ในศาสตร์ต่าง ๆ ให้กับ นักเรียน นักศึกษา ครู อาจารย์ และบุคคลภายนอกที่สนใจ นอกจากจะเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้องค์ความรู้ในแต่ละศาสตร์เพื่อพัฒนาท้องถิ่นแล้ว ยังจะเป็นประสบการณ์ตรงในการพัฒนาทั้งบุคลากรของ มรภ.สงขลา นักเรียน นักศึกษา บุคลากรทางการศึกษา และบุคคลทั่วไป อีกทั้งยังเป็นการประชาสัมพันธ์และสร้างชื่อเสียงให้กับทางมหาวิทยาลัยอีกด้วย
ด้าน ดร.สุทธิรักษ์ เอียดปุ่ม รองคณบดีฝ่ายนโยบายแผนงานและการประกันคุณภาพ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มรภ.สงขลา ผู้รับผิดชอบโครงการ กล่าวว่า การบรรเลงดนตรีในรูปแบบรวมวงไม่ว่าจะเป็นรวมวงขนาดเล็กหรือ small chamber-music groups หรือรวมวงขนาดใหญ่ มีประโยชน์อย่างมากในการช่วยพัฒนาเทคนิคการเล่นดนตรีของผู้บรรเลง ตัวอย่างพื้นฐานของวงดนตรีประเภทนี้คือ String Ensemble (การรวมวงเครื่องสายสากล) แลรี่ ซึ่ง ดอริส นักดนตรีศึกษาชาวอเมริกัน ได้กล่าวไว้ว่า การบรรเลงดนตรีในรูปแบบการรวมวงเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้บรรเลงร่วมกับเครื่องดนตรีชนิดอื่น ๆ ในวงจะสามารถฝึกทักษะด้านต่าง ๆ ให้กับนักเรียน นักศึกษา ในหลายแง่มุม ที่สำคัญที่สุดเป็นการเอื้อต่อการเรียนรู้ทักษะที่สำคัญทางดนตรีไม่ว่าจะเป็นเรื่อง คุณภาพเสียง (tone quality) ความแม่นยำของเสียง (intonation) เทคนิคการบรรเลง และทักษะการรวมวง ก็สามารถพัฒนาได้เป็นอย่างดีจากขั้นตอนการเรียนรู้ผ่านการบรรเลงในรูปแบบการรวมวง
การศึกษาเทคนิคทางด้านการปฏิบัติเครื่องสายสากลเบื้องต้น บทเพลงและการเรียบเรียงเสียงประสานสำหรับวงเครื่องสายเบื้องต้น และการรวมวงเครื่องสายสากลเบื้องต้น จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับครู บุคลากรทางการศึกษา และบุคคลทั่วไป ที่มีความสนใจหรือกำลังทำหน้าที่จัดการเรียนการสอนรวมวงเครื่องสายสากลอยู่ เพี่อจะนำเอาองค์ความรู้และกิจกรรมต่างๆ เหล่านี้มาบูรณาการในการจัดการเรียนการสอนการรวมวงเครื่องสายสากลที่มีคุณภาพและเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์จินตนาการและคุณภาพที่ดีมีความสุขให้กับผู้เรียนในท้องถิ่นต่อไป