คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดย ศูนย์โลจิสติกส์และโซ่อุปทานสุขภาพนานาชาติ (Center for International Healthcare Logistics and Supply Chain: Health CLARE) ภายใต้กลุ่มสาขาวิชาโลจิสติกส์และระบบขนส่งทางราง ร่วมกับ ศูนย์การจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานสุขภาพ (Centre of Logistics Management and Healthcare Supply Chain : LogHealth) จัดประชุมสัมมนา เรื่อง 'การเตรียมความพร้อมข้อมูลของโรงพยาบาลสำหรับการใช้งานระบบ EDI เชื่อมโยงข้อมูล PO / ASN และ e-GP' โดยมีบุคลากรจากโรงพยาบาลทั่วประเทศเข้าร่วมงาน ผ่านระบบออนไลน์
รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (Mahidol Engineering)กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) แสดงความชื่นชมโดยยกย่องประเทศไทยเป็น 'แชมเปี้ยน' ด้านสาธารณสุข นับเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยทุกคน ซึ่งปัจจัยความสำเร็จมาจากการเตรียมความพร้อมด้านสาธารณสุข ระบบการประสานงานด้านสาธารณสุขที่แข็งแกร่ง ระบบดูแลสุขภาพประชาชนแบบถ้วนหน้า การสนับสนุนงานโดยผู้บริหารระดับต่างๆ และความทุ่มเทอุทิศตนของคนทำงานในภาคส่วนที่ร่วมกันปฏิบัติภารกิจ ขับเคลื่อนสอดประสานกัน แม้ว่าการแพร่ระบาดโควิด-19 จะทุเลาลงและเปิดประเทศแล้ว แต่ความร่วมมือของภาควิชาการโดย คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ กระทรวงสาธารณสุข ไม่เคยหยุดนิ่งที่จะพัฒนาดิจิทัลเฮลท์แคร์อย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับมาตรฐานของบริการ คุณภาพเวชภัณฑ์ ประสิทธิภาพการทำงาน การจัดขนส่ง-โลจิสติกส์ และการบริหารจัดการโรงพยาบาล
ดร.รวินกานต์ ศรีนนท์ หัวหน้าศูนย์โลจิสติกส์และโซ่อุปทานสุขภาพนานาชาติ และ รศ.ดร.ดวงพรรณ กริชชาญชัย หัวหน้าศูนย์การจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานสุขภาพ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (Mahidol Engineering) เผยว่า วัตถุประสงค์การจัดสัมมนาครั้งนี้ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการเชื่อมโยงข้อมูล PO / ASN และ e-GP จากระบบอิเล็กทรอนิกส์ของโรงพยาบาลผ่านระบบ EDI และเป็นเวทีร่วมกันบูรณาการระบบสารสนเทศของโรงพยาบาล เพื่อเพิ่มประสิทธิผลด้านข้อมูลในการยกระดับการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ หรือ EDI (Electronic Data Interchange) วิศวะมหิดลได้พัฒนาขึ้น สำหรับเครือข่ายโรงพยาบาลภายใต้สังกัดกระทรวงสาธารณสุข และ โรงพยาบาลทั่วไป เพื่อใช้ในการแลกเปลี่ยนรับ-ส่งข้อมูลระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Government Procurement: e-GP) สำหรับในโรงพยาบาล อีกทั้งเชื่อมโยงรองรับการรับส่งข้อมูล PO /ASN กับซัพพลายเออร์ เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยยกระดับความปลอดภัยในการเข้าถึงข้อมูลในการรับ-ส่งเอกสารทางอิเล็กทรอนิกส์ในโรงพยาบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ข้อมูลถูกต้องครบถ้วน สอดคล้องกับระเบียบจัดซื้อจัดจ้าง พ.ศ. 2560 รวมถึงช่วยลดขั้นตอนของการทำงานที่ซ้ำซ้อนอีกด้วย