นักเศรษฐศาสตร์โนเบล ชี้ "เด็กปฐมวัย" คือช่วงเวลา 'สมองทอง' ในการบ่มเพาะทักษะเรียนรู้และวางรากฐานการพัฒนา ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมได้

ข่าวทั่วไป Wednesday November 23, 2022 14:31 —ThaiPR.net

นักเศรษฐศาสตร์โนเบล ชี้
  • กสศ. เร่งผสานความร่วมมือทุกภาคส่วน เดินหน้าขับเคลื่อนข้อเสนอเชิงนโยบาย ลดความเหลื่อมล้ำทางการเรียนรู้เด็กไทยในระยะยาว

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ร่วมกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา สถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ และคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดการประชุมวิชาการ "Early Childhood Development Series : First Starts" โดยได้รับเกียรติจาก ศ.ดร.เจมส์ เจ เฮคแมน อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยชิคาโก เจ้าของรางวัลโนเบล กล่าวบรรยายพิเศษ เรื่อง "Promoting Skills To Promote Successful Lives" และการเสวนาเรื่อง การพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต : ปฐมวัย วัยแห่งโอกาสในการยกระดับคุณภาพ ความเสมอภาค และประสิทธิภาพ

ศ.ดร.เจมส์ เจ เฮคแมน อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยชิคาโก เจ้าของรางวัลโนเบล กล่าวว่า การกระตุ้นให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการศึกษาทั่วโลกมุ่งมั่นลงทุนสนับสนุนส่งเสริมให้เด็กทุกคนได้เข้าถึงการศึกษาและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการศึกษาตั้งแต่ยังเล็ก (Early childhood) การมุ่งเน้นการเสริมทักษะชีวิตที่จำเป็นที่จะมีส่วนช่วยในการเลื่อนสถานะทางสังคม ขณะเดียวกันต้องไม่ลืมให้ความสำคัญกับการให้ความรู้กับพ่อแม่เกี่ยวกับทักษะและบทบาทที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการเรียนรู้ของลูกหลานในครอบครัว ซึ่งการพัฒนามนุษย์มีความสำคัญที่สุด โดยการพัฒนาที่จำเป็นที่สุดก็คือการให้การศึกษา เพราะเด็กปฐมวัยเป็นวัยที่คุ้มค่าต่อการลงทุนในเชิงเศรษฐศาสตร์ จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมได้ จากการศึกษาในสหรัฐอเมริกา พบว่า การแก้ไขปัญหาภาษี รวมทั้งการให้สวัสดิการบางส่วนแก่ครอบครัวยากจนที่มีเด็กเล็กในวัยศึกษาเป็นการลงทุนในระยะยาว เพราะพวกเขามีโอกาสสร้างรายได้มากขึ้น จากการพัฒนาทักษะต่าง ๆ ผ่านต้นทุนดังกล่าว และหากพวกเขาได้รับโอกาสที่เหมาะสมก็จะลดปัญหาการส่งต่อความจนจากรุ่นสู่รุ่นได้

ศ.ดร.เฮคแมน กล่าวต่อว่า หนึ่งในกุญแจหลักที่จะช่วยให้การพัฒนาทุนมนุษย์เกิดประสิทธิภาพสูงสุดก็คือ Public Policy หรือ นโยบายสาธารณะ ที่ให้ความสำคัญในเชิงการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ควบคู่ไปกับการจัดการระบบฐานข้อมูลเพื่อคาดการณ์ความเป็นไปได้ต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นอีกในอนาคต ขณะเดียวกันในส่วนของการลงทุนพัฒนามนุษย์นั้น ยิ่งเร็วเท่าไรยิ่งดีเท่านั้น หมายความว่า ต้องลงมือปลูกฝังอบรมบ่มเพาะทักษะของเด็กตั้งแต่ยังเล็ก ๆ (ประมาณ 2 - 3 ขวบ) เป็นต้นไป สิ่งที่ปลูกฝังให้กับเด็กในช่วงวัยนี้จะเป็นสิ่งที่สร้างตัวตนและลักษณะนิสัยของเด็กที่จะมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อโอกาสในการประสบความสำเร็จของเด็กคนนั้นในอนาคต โดยปัจจัยที่จะทำให้เด็กประสบความสำเร็จหลัก ๆ จึงอยู่ที่ทักษะทางอารมณ์และสังคม และความสามารถในการควบคุมตนเอง มากกว่าความฉลาด (IQ) โดย IQ เป็นสิ่งที่สามารถสร้างขึ้นได้ในภายหลัง ภายใต้การอบรมเลี้ยงดูอย่างเอาใจใส่ และการเข้าถึงทรัพยากรและสวัสดิการทางสังคมอย่างทั่วถึงเท่าเทียมเสมอภาค โดยนโยบายในการแก้ปัญหาสังคมนั้นควรเป็นนโยบายสาธารณะร่วมกัน ไม่ใช่แยกส่วน ถ้าพูดถึงเรื่องนี้อยากอ้างอิงกฎพาเรโต หรือ Pareto Principle สำหรับประชากรนิวซีแลนด์ หมายถึง การกระทำด้วยแรงเพียงน้อยนิด 20 % แต่ได้ผลลัพธ์มากถึง 80 % แปลว่าลงทุนน้อยแต่ได้กลับมามาก หรือทำบางอย่างในส่วนน้อยเพื่อแก้ปัญหาส่วนมาก และเราควรให้ความสำคัญกับสิ่งที่เราลงแรงน้อยสุดมากกว่าไปตามแก้ปัญหาสิ่งที่เราต้องลงทุน ลงแรงมากที่สุด เพราะจากการศึกษาพบว่า การลงทุนในเด็กเล็กจะได้รับผลตอบแทนในระยะยาว กลับมา 7 - 10 เท่า

"การมีชีวิตที่ดีขึ้นไม่ใช่เพียง IQ ดีเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีทักษะการเรียนรู้ที่เหมาะสมควบคู่กันไป ไม่ว่าจะเป็นการเข้ากับบุคคลอื่น การควบคุมตนเอง การมีส่วนร่วมในสังคม และการคิดวิเคราะห์ ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อความสำเร็จในชีวิตไม่น้อยในปัจจุบัน และความฉลาด (IQ) ไม่ได้ถ่ายทอดกันทางพันธุกรรมอย่างที่ใครหลายคนเชื่อกัน" ศ.ดร.เฮคแมน กล่าวทิ้งท้าย

รองศาสตราจารย์ ดร.ดารณี อุทัยรัตนกิจ กรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และ กรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย กล่าวว่า กสศ. เป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ มีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและเสริมสร้างและพัฒนาประสิทธิภาพครู สำหรับ เด็กปฐมวัย นับเป็น 1 ในกลุ่มเป้าหมายที่ กสศ. ให้ความสำคัญเสมอ เพื่อให้ได้รับการพัฒนาทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาที่เหมาะสมกับวัย ตลอดจนดำเนินการหรือจัดให้มีการศึกษา วิจัย และพัฒนาองค์ความรู้เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ตลอดจนส่งเสริมและสนับสนุนการนำองค์ความรู้ดังกล่าวไปใช้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา และสำหรับการพัฒนากลุ่มเด็กปฐมวัย เราไม่สามารถดำเนินการไปเฉพาะเจาะจงที่ตัวเด็กได้เพียงอย่างเดียว จำเป็นต้องขยับไปทั้งหมดขององคาพยพที่ส่งผลกระทบกับตัวเด็ก ย่อมต้องมีหน่วยนโยบาย ภาครัฐ เป็นผู้กำกับดูแลพัฒนา และมีภาควิชาการเสนอแนวทางการพัฒนาต่าง ๆ ให้เหล่าครูหรือโรงเรียนหรือภาคนโยบาย

รศ.ดร.ดารณี กล่าวต่อว่า กสศ. ดำเนินการทั้งในส่วนของงานวิชาการ การสร้างต้นแบบ การนำสู่ปฏิบัติ ขยายผล ตลอดจนพยายามทำข้อเสนอเชิงนโยบายหรือทำงานร่วมกับภาคนโยบาย เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบที่ยั่งยืน การพัฒนาคุณภาพสถานศึกษาหรือสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย ตรงนี้จะพัฒนาให้คุณครู โรงเรียนจัดการเรียนรู้ การดูแลที่มีคุณภาพให้เด็กได้ กสศ. เองก็มุ่งเน้นดำเนินงานไปโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล โรงเรียนขนาดเล็ก ขนาดกลาง เพื่อเปิดโอกาสให้เด็ก ๆ สามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพได้เช่นเดียวกัน ตัวอย่างเช่น โรงเรียนในโครงการ TSQP หรือ การพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้ตามแนวทางของ High Scope

"ตอนนี้ประเทศไทยเองน่าจะใกล้เข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ เด็กที่เกิดใหม่มีจำนวนน้อย หากไม่ร่วมมือกันทุกฝ่ายเร่งพัฒนา และสร้างทุนมนุษย์ที่เข้มแข็งให้สังคมและประเทศชาติ เราน่าจะพอมองเห็นว่าในอนาคตประเทศไทยจะหน้าตาเป็นอย่างไร อยากให้ทุกฝ่ายทั้งหน่วยวิชาการ หน่วยนโยบายทุกระดับ หรือผู้ปฏิบัติทุกภาคส่วนบูรณาการการทำงานร่วมกัน อย่าง กสศ. เอง ก็พร้อมจะเป็นส่วนในการหนุนเสริมการทำงาน เชื่อมร้อยเครือข่ายทุกภาคส่วน เพื่อขับเคลื่อนการทำงานในเรื่องนี้อย่างมุ่งมั่น" รศ.ดร.ดารณี กล่าวเสริม

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า กสศ. ดำเนินการด้วยการใช้องค์ความรู้ นวัตกรรม งานวิจัย ข้อมูล และความร่วมมือ ทั้งจากองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม ในการช่วยกันร่วมเป็นกระบวนการในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ต้นทาง และแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำโดยกระบวนการมีส่วนร่วมในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นระดับพื้นที่จังหวัด หรือระดับประเทศ โดย กสศ. ได้เชิญ ศ.ดร.เจมส์ เจ เฮคแมน ( Prof. James J. Heckman) นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลปี 2000 ด้านงานวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนามนุษย์และผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐศาสตร์เพื่อการพัฒนามนุษย์ แห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก สหรัฐอเมริกา ผู้ศึกษาวิจัยและค้นพบว่า 'การลงทุนพัฒนาเด็กในช่วงปฐมวัย คุ้มค่ามากที่สุด' มาบรรยายผลการศึกษา เกี่ยวกับการพัฒนาเด็กโดยเน้นที่การพัฒนาทักษะตั้งแต่ระดับปฐมวัย เพื่อแสดงถึงจุดยืนและกลยุทธ์ในการทำงานของ กสศ. ร่วมกับหน่วยงานภาคีต่าง ๆ ในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ โดยยกโจทย์ของการพัฒนาเด็กปฐมวัยตั้งแต่ต้นทาง เป็นการปิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำตั้งแต่ต้นทาง เพื่อให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย ได้รับการแก้ปัญหาในระยะยาวต่อไป

ดร.ไกรยส กล่าวต่อว่าว่า การพัฒนาเหล่านี้ที่บอกว่าใช้เวลาเพียงสัปดาห์ละ 1 - 2 ชั่วโมง คือ จะต้องมีหน่วยงานภายนอก อาจเป็นอาสาสมัคร หรือว่ากลไกต่าง ๆ ในพื้นที่เป็นผู้ช่วยเตือนมากระตุ้น เพื่อให้การสนับสนุนให้เห็นว่าการพัฒนาเด็กไม่ใช่เรื่องยาก ใช้เวลาไม่มากและต้องทำอย่างต่อเนื่อง มาตรการเหล่านี้เป็นมาตรการที่ กสศ. และภาคีเครือข่ายที่ร่วมกันจัดงานนี้ จะเริ่มทดลอง จะเริ่มพัฒนา ในพื้นที่จังหวัดที่มีความยากจนเข้มข้น หรือพื้นที่จังหวัดที่มีผู้ด้อยโอกาสอยู่จำนวนมากในอนาคตต่อไป

ด้าน รศ.ดร.วีระชาติ กิเลนทอง อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ และผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ต้องยอมรับว่า การศึกษาของ ศ.ดร.เฮคแมน นั้นมีประโยชน์มาก ในปีนี้ กสศ.มุ่งเน้นเรื่องการศึกษาวิจัยด้าน Parenting หรือการปกครองเลี้ยงดู เพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัย เพราะเชื่อว่า ครอบครัวมีส่วนสำคัญในการพัฒนาเด็กวัยนี้ ซึ่งการศึกษาดังกล่าวอยู่ระหว่างการดำเนินงาน โดยใช้วิธีการเยี่ยมบ้านของเด็กปฐมวัย ไปคุยกับครอบครัว ผู้เลี้ยงดูว่ามีปัญหาอะไรบ้าง มีสิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงการศึกษาหรือไม่ ซึ่งวิธีที่น่าสนใจ คือ ศ.ดร.เฮคแมน ย้ำว่า ครอบครัวแวดล้อมเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาทุก ๆ ด้าน ดังนั้นเราอยากรู้ว่า ถ้าพัฒนาเหมาะสมแล้วจะส่งผลอย่างไร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ