กรุงเทพฯ--4 เม.ย.--กรมบัญชีกลาง
รมช. ระนองรักษ์ จะผลักดันกฎหมายบำเหน็จดำรงชีพเข้า ครม.ในเร็ว ๆ นี้ ร.ต.หญิงระนองรักษ์ สุวรรณฉวี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ได้หารือกับอธิบดีกรมบัญชีกลางเมื่อต้นเดือนมีนาคม 2551 และได้ข้อสรุปว่า จะสนับสนุนให้มีการขยายเพดานวงเงินบำเหน็จดำรงชีพให้แก่ผู้รับบำนาญที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป เพิ่มขึ้นอีก 1 เท่า จากเดิมที่กำหนดให้ ขอรับได้ในอัตรา 15 เท่า ของบำนาญรายเดือนแต่ไม่เกิน 200,000 บาท เป็น ให้ขอรับได้ในอัตรา 15 เท่าของบำนาญรายเดือน แต่ไม่เกิน 400,000 บาท โดยปรับปรุงแก้ไขกฎกระทรวงกำหนดอัตราและวิธีการรับบำเหน็จดำรงชีพ พ.ศ. 2546 รวม 2 ฉบับ (ออกตามความในพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 และ พระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2539) เพื่อให้ผู้รับบำนาญดังกล่าวสามารถดำรงชีพได้อย่างเหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันที่อัตราค่าครองชีพมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น
นายมนัส แจ่มเวหา รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง ในฐานะโฆษกกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า การขอรับบำเหน็จดำรงชีพในกรณีนี้ ผู้รับบำนาญต้องมีอายุตั้งแต่ 65 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และต้องมีวัตถุประสงค์ ดังนี้
1). เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการ 2). เพื่อชำระหนี้ค่าซื้อที่ดินพร้อมอาคารหรืออาคารหรือห้องชุด 3). เพื่อชำระหนี้ค่าปลูกสร้างอาคารหรือต่อเติม ขยาย ซ่อมแซมอาคารบ้านเรือนหรือห้องชุด และ 4). เพื่อชำระหนี้เงินกู้นอกระบบ ผู้รับบำนาญที่จะได้รับความช่วยเหลือตามโครงการนี้กรมบัญชีกลางตรวจสอบแล้ว มีจำนวน 68,128 คน ซึ่งนอกจากจะทำให้ได้รับประโยชน์ในการครองชีพของผู้รับบำนาญและครอบครัวแล้ว ยังเป็นการกระตุ้นการใช้จ่ายซึ่งจะทำให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจอีกด้วย
โครงการนี้เดิมถูกทักท้วงว่า ยังไม่มีการวิจัยสนับสนุนกรมบัญชีกลางจึงได้ให้สถาบันวิจัยและพัฒนามหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชทำการวิจัย ปรากฏว่าผู้รับบำนาญมีความต้องการใช้จ่ายเงินแต่มีเงินไม่เพียงพอสำหรับใช้จ่าย โดยร้อยละ 62.8 ต้องการนำสิทธิในบำเหน็จตกทอดไปเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการกู้เงิน ร้อยละ 56.9 ต้องการกู้เงินเพื่อซื้อ/ซ่อม/สร้างที่อยู่อาศัย ร้อยละ 46.1 ต้องการนำไปลงทุน และร้อยละ 39.4 ต้องการนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน
นายมนัส แจ่มเวหา กล่าวเพิ่มเติมว่า งบประมาณที่ต้องใช้ในการดำเนินการดังกล่าว คาดว่าประมาณ 6,945 ล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่ไม่สูงมากนัก เนื่องจากโครงการนี้ไม่ได้ตั้งงบประมาณเอาไว้ จึงต้องจ่ายจากเงินคงคลัง แต่คาดว่าจะมีเพียงพอที่จะนำมาจ่ายได้ จึงจะได้ผลักดันกฎกระทรวงเรื่องการรับบำเหน็จดำรงชีพ
เพื่อช่วยเหลือด้านการดำรงชีพของผู้รับบำนาญต่อไป ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาไม่นานนักเนื่องจากเป็นกฎกระทรวงเมื่อ ครม.เห็นชอบก็สามารถจะประกาศใช้ได้ทันที