ปัจจุบันผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นจากโครงสร้างประชากรมีจำนวนผู้สูงอายุมากขึ้น ผิวข้อเสื่อมเกิดจากการใช้งานมาเป็นเวลายาวนาน หากไม่ได้รับการรักษาหรือปฏิบัติที่ไม่เหมาะสมอาจทำให้มีอาการแย่ลงและไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ
รศ.นพ.ณัฐพล ธรรมโชติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนากายภาพ และอาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าข้อสะโพกเทียม โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ให้คำแนะนำวิธีการปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมว่า "ภาวะข้อเข่าเสื่อมแบ่งเป็น 3 ระยะ ดังนี้ 1. ระยะแรก ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บปวดข้อเข่าเล็กน้อย รู้สึกตึงเมื่อเดินมาก มีเสียงหัวเข่าขณะเคลื่อนไหว ควรเริ่มพบแพทย์เพื่อป้องกันไม่ให้โรครุนแรงขึ้น 2. ระยะปานกลาง มีกระดูกงอกขนาดใหญ่ขึ้น มีเสียงในข้อเข่าดังขึ้น จะเริ่มมีอาการปวดขณะเดิน ทำงานหนักไม่ได้ 3. ระยะรุนแรง จะมีขาโก่งผิดรูป อาจคลำเจอกระดูกงอกได้บริเวณด้านข้างข้อ อาการปวดจะรุนแรงมากขึ้น ตึงมาที่หน้าแข้งหรือต้นขา เวลาเดินหรือลงน้ำหนักบนข้อเข่า บางครั้งปวดเวลากลางคืน กล้ามเนื้อรอบเข่าอ่อนแรง เหยียดหรืองอข้อเข่าได้ไม่สุด ผู้สูงอายุที่มีข้อเสื่อมรุนแรงมักจะไม่ค่อยเคลื่อนไหวร่างกายเพื่อหลีกเลี่ยงความเจ็บปวด
คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยสูงอายุที่มีภาวะโรคข้อเข่าเสื่อม
ถึงแม้จำนวนผู้สูงอายุที่มีภาวะข้อเข่าเสื่อมรุนแรงมีจำนวนมาก แต่อัตราการเข้ารับการผ่าตัดยังน้อย เนื่องจากผู้ป่วยขาดความมั่นใจ กลัวความเจ็บปวดจากการผ่าตัด การพักฟื้นนาน หรือไม่สามารถกลับไปเดินได้ รวมถึงกลัวอันตรายจากการผ่าตัดเนื่องจากมีอายุมากนั้น
รศ.นพ.ณัฐพล กล่าวว่า "โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติมีความเชี่ยวชาญและได้รับความไว้วางใจจากผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมมาเป็นเวลานาน ปัจจุบันมีผู้ป่วยเข้ามารับการผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเทียมปีละกว่า 1,000 ราย และได้พัฒนากระบวนการผ่าตัดให้มีความปลอดภัยและมีความสำเร็จสูง อาทิ คนไข้สูงอายุที่มีโรคหัวใจทำงานผิดปกติจะได้รับการตรวจความแข็งแรงของหัวใจ ด้วยเทคโนโลยี Dobutamine MRI Stress Test เพื่อประเมินศักยภาพของหัวใจก่อนการผ่าตัด ทำให้มีความปลอดภัยสูงมาก และการใช้นวัตกรรมระงับปวดตั้งแต่ก่อน ระหว่าง และหลังผ่าตัด ที่ได้ทำการศึกษา วิจัย และพัฒนาโดยคณะอาจารย์แพทย์จนได้รับการตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ระดับสากล ผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวกลับบ้านได้อย่างรวดเร็วภายใน 2-3 วัน ช่วยลดความกังวลของผู้ป่วยในเรื่องความเจ็บปวดในทุกระยะการผ่าตัด นอกจากนี้ ทาง รพฯ. ยังได้นำเทคโนโลยีแขนหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม มาช่วยแพทย์ผ่าตัดเพื่อให้มีความเที่ยงตรงแม่นยำมากขึ้น ภาพถ่ายเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และหุ่นยนต์จะช่วยให้แพทย์เห็นภาพข้อเข่าแบบสามมิติชัดเจนขึ้น ช่วยให้วางตำแหน่งข้อที่เหมาะสมและลดความเจ็บปวดจากการผ่าตัด การผ่าตัดข้อของผู้ป่วยแต่ละรายจะมีความเฉพาะตัว เทคโนโลยีดังกล่าวสามารถช่วยแพทย์ในการวางแผนการผ่าตัด เลือกขนาดข้อและจัดสมดุลเนื้อเยื่อ ให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคน เพื่อให้ได้ผลการผ่าตัดที่ดียิ่งขึ้น มีแนวขาที่ตรง งอเข่าได้มาก ฟื้นตัวเร็วขึ้น และลดเวลาการนอนในโรงพยาบาล
ด้วยความพร้อมดังกล่าว เมื่อเร็วๆ นี้ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ได้เปิด "ศูนย์ผ่าตัดเปลี่ยนข้อธรรมศาสตร์" แบบครบวงจรที่รวม 3 จุดเด่น ได้แก่ (1) เทคโนโลยีการแพทย์ที่ทันสมัย (2) การดูแลจากทีมอาจารย์แพทย์สหสาขาและบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง (3) ให้บริการแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จ (One stop service) ตั้งแต่ก่อนผ่าตัด ระหว่างผ่าตัด และหลังผ่าตัดในอัตราค่าบริการที่เหมาะสม
รศ.นพ.ณัฐพล กล่าวเพิ่มเติมว่า "ผู้ป่วยสูงอายุ โรคข้อเข่าเสื่อมระยะรุนแรงที่มีความทุกข์ทรมานมาก ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ การปล่อยให้ผู้สูงอายุอยู่ติดเตียง นั่งๆ นอนๆ เนื่องจากความกลัวการผ่าตัดนั้นจะทำให้สุขภาพกายและใจของผู้ป่วยโดยรวมนั้นแย่ลง มีผู้ป่วยที่เคยเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมกับเรามีอายุมากที่สุดถึง 94 ปี ปัจจุบันถึงแม้ว่าอายุ 98 ปี แล้วก็ตามแต่ผู้ป่วยรายนี้ก็ยังคงใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข ผมจึงอยากแนะนำให้ผู้ป่วยและญาติตระหนักถึงผลเสียของโรคข้อเข่าเสื่อม ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาแนวทางการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วย เพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีในทุกช่วงวัย
"ศูนย์ผ่าตัดเปลี่ยนข้อธรรมศาสตร์" ตั้งอยู่ ณ ชั้น 2 อาคารดุลโสภาคย์ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เปิดให้บริการวันจันทร์ - ศุกร์ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม" โทร 02 926 9260 และ 02 926 9360 (เวลาราชการ) หรือเพิ่มเพื่อนใน LINE Official Account : @tuh_tjrc ซึ่งจะมีทีมงานคอยดูแลและตอบข้อสงสัยของผู้รับบริการทุกท่าน