อธิบดีกรมวิชาการเกษตรลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสวนทุเรียน จ.นครศรีธรรมราชชี้ฝนตกมากกว่าปกติช่วงใกล้เก็บเกี่ยวทำให้ทุเรียนมีเนื้อซีด ไม่สีเหลืองทอง ยันไม่ใช่ทุเรียนอ่อน

ข่าวทั่วไป Friday December 2, 2022 09:37 —ThaiPR.net

อธิบดีกรมวิชาการเกษตรลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสวนทุเรียน จ.นครศรีธรรมราชชี้ฝนตกมากกว่าปกติช่วงใกล้เก็บเกี่ยวทำให้ทุเรียนมีเนื้อซีด ไม่สีเหลืองทอง ยันไม่ใช่ทุเรียนอ่อน

วันที่ 1 ธันวาคม 2565 นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ลุยแจก GAP รหัสใหม่ ครบ 100 เปอร์เซ็นต์ที่ จ.นครศรีธรรมราช พร้อมลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสวนทุเรียนแปลงใหญ่ ต.ตะลิงชัน อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช โดยได้รับรายงานจากจ.นายชวิศร์ สวัสดิสาร ผอ.ศวพ.นครศรีธรรมราช ว่า ได้ดำเนินการติดตามทวนสอบประเด็นปัญหาทุเรียนอ่อนในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยเฉพาะอำเภอท่าศาลา อำเภอนบพิตำ และอำเภอสิชล ซึ่งเป็นพื้นที่ผลิตทุเรียนนอกฤดูเพื่อการส่งออก (ต.ค-ธ.ค) โดยได้ประสานผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งระบบ ได้แก่ หัวหน้าราชการส่วนจังหวัด อำเภอผู้ประกอบการ เกษตรกร มือมีดตัดทุเรียน ตำรวจ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดในพื้นที่ พบว่าประเด็นทุเรียนอ่อนมีสาเหตุมาจากฝนตกปริมาณมากและต่อเนื่องก่อนการเก็บเกี่ยวผลผลิตทุเรียน ไม่ได้มีการตัดทุเรียนอ่อนจำหน่ายหรือส่งออกแต่อย่างใด ปัญหาเกิดขึ้นจากปริมาณฝนที่ตกลงมามากและต่อเนื่องในช่วงก่อนการเก็บเกี่ยวผลผลิตทุเรียนนอกฤดู (กลางเดือน ต.ค - พ.ย) ที่ผ่านมาทำให้ทุเรียนมีเนื้อซีด ไม่เหลืองทอง แต่สามารถบ่มสุกเป็นทุเรียนคุณภาพได้

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครศรีธรรมราช ได้รายงานให้ทราบว่า มีแนวทางและได้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันและแก้ไข ปัญหาทุเรียนอ่อนภายในจังหวัดโดยมีประกาศจังหวัดนครศรีธรรมราช เรื่อง ขอความร่วมมือเกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้จำหน่ายทุเรียน ไม่ซื้อ-จำหน่าย ทุเรียนด้อยคุณภาพ (ทุเรียนอ่อน) การกำหนดเปอร์เซ็นต์น้ำหนักเนื้อแห้งของผลทุเรียน ตามพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ 2551 และจากการประชุม เสวนา ถ่ายทอดความรู้การผลิตทุเรียนคุณภาพได้มาตรฐาน ดัชนีการเก็บเกี่ยวทุเรียน รวมทั้งการรณรงค์สาธิตการตรวจวัดเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งเนื้อทุเรียน เพื่อป้องกันทุเรียนอ่อนออกสู่ตลาด สร้างการรับรู้ ความเข้าใจ แก่เจ้าหน้าที่หน่วยงานบูรณาการที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ และกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนในการเก็บเกี่ยวให้มีคุณภาพเพื่อการจำหน่ายและส่งออกมีมาตรการการสุ่ม วิเคราะห์ ผลผลิตทุเรียนในโรงคัดบรรจุผลไม้เพื่อการส่งออก โดยบูรณาการร่วมกับทางด่านตรวจพืชเกาะสมุย เพื่อทวนสอบแหล่งที่มาและตรวจวัดเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งเนื้อทุเรียนก่อนการส่งออก หากมีการสงสัยหรือได้รับแจ้งทุเรียนอ่อน

นอกจากนี้ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครศรีธรรมราชยังประชาสัมพันธ์ "หยุดทุเรียนอ่อน" ไม่ตัด ไม่ขาย ไม่ซื้อ ทุเรียนอ่อน ซึ่งทำลายราคา ทำลายอนาคตทุเรียนไทย ทำลายเศรษฐกิจชาติ ผ่านช่องทางเอกสาร ไวนิล รายการวิทยุ website สื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ โดยบูรณาการร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด เกษตรและสหกรณ์จังหวัด เกษตรจังหวัด พาณิชย์จังหวัด ประธานสภาเกษตรกรจังหวัด ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ