"วันคนพิการสากล" ตรงวันที่ 3 ธันวาคมของทุกปี กำหนดโดยองค์การสหประชาชาติ เพื่อให้คนทั่วโลกสนับสนุนศักยภาพและเปิดโอกาสให้คนพิการได้ประกอบอาชีพด้วยการพึ่งพาตัวเองได้อย่างเท่าเทียมกับคนทั่วไป อีกหนึ่งอาชีพยุคใหม่ที่ได้ส่งเสริมความเสมอภาคในการทำงานให้กับคนพิการอย่างอาชีพไรเดอร์ ที่เป็นอีกหนึ่งเส้นทางชีวิตของ คุณนันทชัย โชคโสด และ คุณอนุสรณ์ ระยะทอง ไรเดอร์นักสู้ที่ไม่ย่อท้อจนสามารถส่งเสียตัวเองจนเรียนจบมหาวิทยาลัย และมีเงินเก็บหลักแสน
ความพิการไม่ใช่อุปสรรคในการทำงาน ขอแค่ทุกคนยอมรับ
คุณนันทชัย โชคโสด อายุ 23 ปี ในปัจจุบันทำงานธุรการ และมีอาชีพเสริมเป็นไรเดอร์ ผู้พิการทางการเคลื่อนไหวบริเวณขาซ้ายที่สะบ้าเข่าแตก เพราะได้รับอุบัติเหตุ เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการเป็นไรเดอร์ว่า ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ครอบครัวได้รับผลกระทบมาก ทำให้ตัดสินใจสมัครเข้ามาเป็นไรเดอร์บน LINE MAN ตั้งแต่เรียนรัฐศาสตร์ วิทยาลัยการเมืองและการปกครอง มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ในช่วงปีที่สาม โดยใช้เวลาหลังเลิกเรียน ตั้งแต่เวลา 17.00-23.00 น. ในทุกวัน เพื่อหารายได้และในช่วงปิดเทอมก็เลือกทำเต็มตัว ตั้งแต่ 08.00-14.00 น. และในช่วงเย็น 17.00-23.00 น. สร้างรายได้วันละประมาณ 800-1,000 บาท โดยจากการทำงานไรเดอร์ตั้งแต่ปีสามต่อเนื่องจนสามารถส่งเสียตัวเองเรียนจบมหาวิทยาลัยและช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในบ้านได้ จึงยึดเป็นอาชีพหารายได้เสริมมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน เพราะเห็นว่าไรเดอร์เป็นอาชีพที่สามารถทำให้เติบโตมาได้จนถึงทุกวันนี้ แม้ว่าจะเป็นคนพิการแต่ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิต
ความประทับใจในการทำงานตลอดมาคือ ตั้งแต่ร้านอาหารที่ไปรับออเดอร์เป็นประจำ จะได้เจอกับเจ้าของร้านที่จะบอกให้นั่งรอตรงเก้าอี้ตลอด และลูกค้าประจำที่จะบอกให้ส่งอาหารในต้นซอยแทน เพราะจะเดินออกไปรับสินค้าเอง และได้เจอลูกค้าที่มีความเข้าใจว่าการสั่งอาหารจะต้องใช้เวลารอนานในร้าน รวมถึงการทำงานไรเดอร์ที่สามารถหารายได้และส่งตัวเองเรียนจบเป็นความภาคภูมิใจในชีวิตมาก อยากให้ทุกคนมีความเข้าใจว่า เราทำงานได้และความพิการไม่ได้เป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิต
ความสุขของครอบครัวสร้างได้ด้วยมือตัวเอง
ด้านคุณอนุสรณ์ ระยะทอง ผู้พิการที่เป็นโปลิโอตั้งแต่วัยเด็ก เล่าว่า แม้จะสามารถเดินได้ แต่ก็ไม่คล่องตัวเท่าคนปกติ และมีผลต่อการใช้ชีวิตบ้างก่อนหน้านี้เคยทำงานแผนกช่างในโรงงาน และรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม แต่จะออกไปหางานทำที่อื่นก็ยาก เพราะหลายบริษัทก็ยังไม่รับคนพิการ จนเมื่อ 6 ปีก่อนได้ลองสมัครเป็นไรเดอร์ เพื่อหารายได้เสริมในช่วงเย็นหลังเลิกงาน หลังจากทำมาประมาณ 1 ปี รู้สึกมีความสุขในการทำงาน มีความเป็นอิสระ จึงตัดสินใจเลือกทำอาชีพไรเดอร์แบบเต็มตัว แม้ในช่วงเริ่มต้นมีอุปสรรคอยู่บ้าง โดยเฉพาะในเรื่องของเส้นทาง หรืออาจจะใช้เวลามากกว่าในการเข้าถึงร้านค้าบางแห่ง แต่ไม่เคยคิดท้อและยังคงอดทนปรับตัวมาอย่างต่อเนื่อง
ตั้งแต่ทำงานไรเดอร์มาเป็นระยะเวลาร่วม 6 ปีแล้ว มีเหตุการณ์ที่ประทับใจจะเป็น การได้พบเจอกลุ่มลูกค้าและร้านค้าที่ต่างมีความเป็นมิตรและมีน้ำใจกับไรเดอร์ โดยมีเหตุการณ์ที่ได้รับทิปจากลูกค้าในช่วงวันตรุษจีนด้วย อีกความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่จากการทำงานไรเดอร์คือ สามารถทำให้ปลดหนี้ได้สำเร็จ และยังมีเงินเก็บเป็นหลักแสนบาท อีกทั้งมีเงินส่งเสียช่วยเหลือทางบ้านในทุก ๆ เดือน ที่สำคัญมาก ๆ คือ เป็นการทำงานที่มีความสุขและไม่มีความเครียด
"แม้เราจะเป็นคนที่เคลื่อนไหวได้ไม่ปกติ แต่สามารถทำงานได้ตามศักยภาพและขีดความสามารถของเรา สามารถเลือกทำงานในองค์กรที่พร้อมเปิดโอกาสให้ผู้พิการ ซึ่งการมีทำงาน มีรายได้ เราพึ่งพาตัวเองได้ ก็จะมีความสุข เป็นแรงผลักดันที่สำคัญในชีวิต" คุณอนุสรณ์ กล่าวทิ้งท้าย
การสร้างพื้นที่แห่งโอกาสให้แก่ผู้พิการในประเทศไทยที่มีจำนวนประมาณ 1.65 ล้านคน ยังมีความจำเป็นและสำคัญในสังคมไทยเสมอ ในโอกาสวันผู้พิการสากลที่จะเป็นวันหนึ่งสำคัญที่ช่วยตอกย้ำให้ทุกคนร่วมแสดงพลังสร้างสังคมแห่งโอกาสและความเท่าเทียม เพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายการร่วมยกระดับคุณภาพชีวิตของคนพิการให้ดียิ่งขึ้น