นายฮิโระโนริ คาเมะซาวา กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (MUFG) เผยว่าเมื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ (Net Zero) ได้กลายมาเป็นหัวข้อหลักของการสนทนาในชีวิตประจำวันของกลุ่มผู้บริหารในวงการธุรกิจต่าง ๆ จึงถือเป็นภาระหน้าที่ของบรรดาสถาบันการเงินต่าง ๆ ในการสร้างนวัตกรรมทางการเงินที่ทั้งสอดคล้องและช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาเพื่อธุรกิจอย่างยั่งยืน
ถ้อยแถลงการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในวาระที่นายคาเมะซาวา เข้าร่วมเวทีเสวนาในงานประชุม APEC CEO Summit 2022 ซึ่งได้กล่าวไว้ว่า ธนาคารมีบทบาทสำคัญในการทำให้แนวคิดด้านเศรษฐกิจยั่งยืนเป็นจริงได้ ด้วยเหตุที่ธนาคาร สามารถแสดงบทบาทการเป็นตัวกลางในการจัดสรรเงินทุนไปสู่ภาคอุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อช่วยสนับสนุน อุตสาหกรรมเหล่านั้นในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ธุรกิจและการดำเนินงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน (Brown to Green businesses)
"ความยั่งยืนได้กลายมาเป็นเมกะเทรนด์ระดับโลกที่ไม่อาจทวนกระแสได้ ทุกวันนี้เวลาผมพูดคุยกับผู้นำธุรกิจ ความยั่งยืนคือองค์ประกอบสำคัญของกลยุทธ์การพลิกโฉมธุรกิจไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมประเภทใดก็ตาม ในทางกลับกัน นับเป็นภารกิจที่สำคัญสำหรับสถาบันการเงินที่จะช่วยให้อุตสาหกรรมหลายหลายประเภทสามารถบรรลุเป้าหมายเพื่อความยั่งยืนได้" นายคาเมะซาวา กล่าว
"ธนาคารจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อการดำเนินกิจการอย่างยั่งยืน และยังหมายถึงความจำเป็นที่จะต้องร่วมมือกันระหว่างธนาคารและลูกค้าในการเรียนรู้และผลักดันซึ่งกันและกันเพื่อก้าวสู่อนาคตข้างหน้าไปด้วยกัน"
โลกในปัจจุบัน ความหมายของความยั่งยืนเป็นมากกว่าประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม เพราะยังครอบคลุมไปถึงประเด็นด้านผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจที่มีต่อทุกการดำเนินงานทางธุรกิจ ซึ่งส่งผลให้สิ่งนี้ได้ขยายจุดสนใจไปที่สถาบันการเงินเพราะพวกเขาต้องพิจารณาทุกเรื่องตั้งแต่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ไปจนถึงการเข้าถึงบริการทางด้านการเงิน (Financial Inclusion)
หนึ่งตัวอย่างการทำงานที่ MUFG กำลังดำเนินงานผ่านธนาคารพันธมิตรสี่แห่งในอาเซียน ได้แก่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ในประเทศไทย Bank Danamon ในอินโดนีเซีย VietinBank ในเวียดนาม และ Security Bank ในฟิลิปปินส์ คือการเงินที่เชื่อมโยงกับความยั่งยืน (Sustainability-Linked finance) ซึ่งผู้กู้จะตั้งเป้า KPI ด้านความยั่งยืนที่มีความเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักของพวกเขา เงื่อนไขการกู้ยืมอย่างอัตราดอกเบี้ยจะเปลี่ยนไปโดยขึ้นกับผลสัมฤทธิ์ของ KPI ช่วยจูงใจลูกค้าให้ไปถึงเป้า KPI ที่ตั้งไว้ และทำให้ธุรกิจเพื่อความยั่งยืนเกิดขึ้นจริงได้
กรุงศรี เป็นผู้นำในด้าน ESG และได้นำเสนอโซลูชันทางการเงินดังกล่าวให้กับบริษัทใหญ่ ๆ มากมายในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยปีที่ผ่านมากรุงศรีมีส่วนแบ่งอันดับหนึ่งด้านการเป็นผู้จัดจำหน่ายหุ้นกู้ ESG
การให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีดิจิทัลและการเข้าถึงบริการทางด้านการเงินยังมีบทบาทสำคัญในการนำเสนอบริการทางการเงินสำหรับคนรุ่นใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับประเทศไทยเมื่อปี 2563 MUFG และ กรุงศรีได้เข้าเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์กับแกร็บ (Grab) ซูเปอร์แอปชั้นนำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และนำเสนอบริการสินเชื่อกับพาร์ทเนอร์ร้านอาหารและพาร์ทเนอร์คนขับ ด้วยการผสมผสานข้อมูลแบบไดนามิกและเทคโนโลยี AI เข้ากับความเชี่ยวชาญในด้านสินเชื่อผู้บริโภคและการบริหารความเสี่ยงของกรุงศรี จึงทำให้การสมัครเพื่อขอสินเชื่อสามารถทำได้สะดวกผ่านแอป และยังเป็นการช่วยเหลือด้านกระแสเงินหมุนเวียนให้กับพาร์ทเนอร์ร้านอาหารและพาร์ทเนอร์คนขับอีกด้วย
ในฐานะที่เป็นหนึ่งในกลุ่มสถาบันการเงินที่มีความสำคัญต่อระบบการเงินโลก (Global Systemically Important Financial Institutions: G-SIFs) MUFG ยืนหยัดอยู่แถวหน้าด้านการเงินเพื่อความยั่งยืนและได้ "ประกาศเป้าหมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน" ในปี 2564 โดยมุ่งหวังที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ในการดำเนินกิจการในปี 2573 และพอร์ตด้านการเงินในปี 2593
MUFG ยังแสดงบทบาทการเป็นผู้นำระดับโลกที่ริเริ่มโครงการต่าง ๆ อาทิ การร่วมเป็นภาคีสมาชิกของ Net Zero Banking Alliance (NZBA) และกลุ่ม Asia Transition Finance Study Group (ATFSG) โดย NZBA เป็นภาคีในกลุ่มธนาคารระดับโลกชั้นนำที่ให้คำมั่นที่จะปรับพอร์ตสินเชื่อและการลงทุนให้สอดคล้องกันกับเป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิให้เป็นศูนย์ในปี 2593 ขณะที่กลุ่ม ATFSG ซึ่ง MUFG เป็นผู้นำร่วมกับธนาคารระดับโลกและองค์กรผู้ออกระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ เพื่อสร้างแนวทางด้านการเงินในช่วงการเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจเพื่อความยั่งยืนซึ่งใช้งานได้จริงสำหรับสถาบันการเงิน
"มีหลายขั้นตอนที่ช่วยให้ลูกค้าไปถึงเป้าหมายด้านความยั่งยืนได้จริง ประการแรก เราเชื่อว่าการให้ความสำคัญในการสร้างการมีส่วนร่วมของลูกค้าเป็นสิ่งจำเป็นต่อการไปถึงเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ประการที่สอง การได้พูดคุยกับลูกค้าจะทำให้เราเข้าใจแผนงานที่วางไว้และความท้าทายต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น จากนั้นจึงช่วยให้พวกเขาก้าวไปให้ถึงจุดหมายด้านความยั่งยืนได้สำเร็จ การยอมรับแนวคิดเรื่องความยั่งยืนนี้เป็นการเปิดโอกาสให้แก่ผู้ประกอบการทั่วทั้งอาเซียนได้ตระหนักถึงศักยภาพของตนเอง ขณะเดียวกันก็เป็นการสร้างโลกที่น่าอยู่ยิ่งขึ้นสำหรับพวกเราทุกคนด้วย และ MUFG ก็พร้อมจะอยู่เคียงข้างเพื่อสนับสนุนให้ไปถึงเป้าหมายนั้น" นายคาเมะซาวา กล่าวเสริม