เอสจีเอส กุญแจสำคัญเพื่อสินค้าไทยปลอดภัย ไร้สาร ด้วยห้องปฎิบัติการตรวจสอบ และคัดเลือกสินค้าคุณภาพสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภค ยกระดับผู้ส่งออกไทยสู่ตลาดโลก

ข่าวทั่วไป Monday August 22, 2005 11:56 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 ส.ค.--พิตอน คอมมิวนิเคชั่น
บริษัท เอสจีเอส (ประเทศไทย) จำกัด เปิดห้องปฎิบัติการให้สื่อมวลชนพิสูจน์เป็นครั้งแรกในรอบห้าทศวรรษ พร้อมยกระดับสินค้าไทยตามมาตรฐานสากล ยกกฎ EU เป็นตัวอย่างนำไทยเข้าสู่ระบบด้วยการทดสอบทางเคมี เผยเตรียมพร้อมรับมือคู่ค้า เน้นคุณภาพกับความซื่อสัตย์เป็นหลัก ตั้งเป้าสนับสนุนรัฐในการส่งออกสินค้าทุกประเภทให้ได้มาตรฐานโลก
บริษัท เอสจีเอส (ประเทศไทย) จำกัด ด้วยชื่อเสียงในด้านการเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านคุณภาพ ในฐานะองค์กรชั้นนำของโลกทางด้านการตรวจสอบ การทดสอบ และการทดลองระบบ กลุ่มบริษัทเอสจีเอส ได้ดำเนินธุรกิจในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องมากว่า 50 ปี เริ่มก่อตั้งในปี พ.ศ. 2495 ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาแห่งการบุกเบิก เอสจีเอสเติบโตขึ้นเป็นบริษัทใหญ่โดยอาศัยประสบการณ์ และความหลากหลายทางธุรกิจ เริ่มขยายจากการตรวจสอบสินค้าเกษตรไปสู่การให้บริการในภาคที่เกี่ยวกับสินค้าแร่ เรือเดินทะเล น้ำมันและก๊าซ รวมถึงภาคอุตสาหกรรม ภาคการผลิต และภาคการค้าปลีก โดยสามารถแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว และคุ้มค่าต่อความต้องการ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการค้าอันสลับซับซ้อนด้วยทรัพยากรทางข้อมูลที่ทันสมัย
ด้วยชื่อเสียงของห้องปฎิบัติการทีสั่งสมมากว่าห้าสิบปีผนวกกับความพร้อมทางด้านบุคคลกรที่ทรงคุณวุฒิ ส่งผลให้ห้องปฎิบัติการของเอสจีเอสมีชื่อเสียงมากที่สุดในภาคพื้นเอเซีย เอสจีเอสมีลูกค้ารายใหญ่ๆ ที่สำคัญทั้งในประเทศและต่างประเทศรวมไปถึงองค์กรสำคัญของภาครัฐบาล อาทิ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย) ที่ไว้วางใจใช้บริการห้องปฎิบัติการของเอสจีเอสในการทดสอบ วิเคราะห์ และตรวจสอบสินค้าก่อนถึงมือผู้บริโภค ด้วยศักยภาพและความถูกต้องเที่ยงตรงในการตรวจสอบที่ครอบคลุมในทุกด้านของการลงทุน และด้วยอุปกรณ์ทดสอบที่ทันสมัยและสอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าทำให้มาตรฐานของเอสจีเอสเป็นที่ยอมรับทั่วโลก
กระบวนการในห้องปฏิบัติการ
การบริการทางห้องปฎิบัติการของเอสจีเอสเลือกใช้ระบบการจัดการข้อมูลในห้องปฎิบัติการแบบ LIMS (Laboratory Information Management System) และใช้ระบบ Barcoding System เป็นขั้นตอนในการออกเอกสารทำให้ไม่เกิดปัญหาการทำงานที่ซ้ำซ้อนและล่าช้า ทำให้การรายงานผลส่งออกถึงลูกค้าได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำเมื่อเปรียบเทียบกับบริษัทคู่แข่ง
นอกจากนี้ เอสจีเอสยังได้มีการลงทุนในการพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง บริษัทฯ ได้นำเข้าเครื่องตรวจสอบตัวใหม่เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า และเพื่อผลการปฎิบัติงานที่รวดเร็ว คุณประดิษฐ์ ยงค์พันธ์ชัย ผู้จัดการห้องปฎิบัติการ บริษัท เอสจีเอส (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงกระบวนการทำงานของห้องปฏิบัติการ “ปกติเราจะใช้เวลาในการตรวจสอบสินค้าแต่ละครั้งไม่เกิน 24-72 ชั่วโมง แต่ถ้ามีสินค้าที่ต้องใช้เวลาในการตรวจสอบนานกว่าปกติ เราจะบอกลูกค้าก่อนล่วงหน้าเพื่อให้เกิดความเข้าใจและไม่ให้เกิดความล่าช้า เราตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาคุณภาพ ระบบตรวจสอบที่มีมาตรฐานสูง โดยต้องได้รับการรับรองจาก ISO/IEC 17025 จากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (TLAS) และสำนักมาตรฐานห้องปฎิบัติการ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ (BLQS) สิ่งนี้ทำให้บริษัเอสจีเอสเป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและนานาชาติทั้งภาครัฐและเอกชน นั่นหมายถึงลูกค้ารายใดที่ได้รับใบรับรองมาตรฐานจากเอสจีเอสถือเป็นการได้รับการรับรองตามมาตรฐานโลก”
เอสจีเอสมีเครือข่ายห้องปฏิบัติการที่ให้บริการทางด้านการตรวจวิเคราะห์คุณภาพถึงกว่า 350 แห่งทั่วโลก ซึ่งมีความพร้อมที่จะให้บริการอย่างครบครันทุกด้าน โดยเน้นมาตรฐานและความพึงพอใจของลูกค้า ไม่เพียงแต่ให้การสนับสนุนการตรวจสอบเท่านั้น เอสจีเอสยังคงให้ความช่วยเหลือทางด้านการแก้ปัญหา การให้คำแนะนำในการพัฒนาสินค้าให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าและด้านมาตรฐานความปลอดภัย อันนำมาเพื่อผลกำไร ของลูกค้าและเศรษฐกิจของประเทศเป็นหลัก
“เราให้ความสำคัญกับทุกปัญหาอย่างเช่น ปัญหาข้าวหอมมะลิ เอสจีเอสให้ความสำคัญมากเพราะประเทศเราเป็นประเทศที่ส่งออกสินค้าเกษตรซึ่งถือเป็นสินค้าหลักของประเทศ เรามีการศึกษาข้อมูลต่างๆ ทั้งในห้องปฎิบัติการ และจากข้อมูลภายนอก ปัจจุบันเอสจีเอสเป็นบริษัทเอกชนรายแรกที่ทำการพัฒนาระบบตรวจสอบดีเอ็นเอ (DNA) ของข้าวหอมมะลิ เพื่อตรวจสอบหาความบริสุทธิ์ของข้าวหอมมะลิโดยนำระบบทดสอบที่เรียกว่า Real-Time PCR ซึ่งขณะนี้เทคนิคการทดสอบอยู่ในขั้นตอนของการพัฒนา คาดว่าจะสามารถใช้ได้ในอนาคตอันใกล้ และจะสามารถพัฒนาให้สามารถใช้กับสินค้าอื่นๆ ได้อีกด้วย” คุณประดิษฐ์ กล่าวเสริม
ห้องปฎิบัติการของเอสจีเอสในปัจจุบันยังคงเป็นห้องปฎิบัติการตรวจวิเคราะห์อิสระที่ให้บริการทดสอบ และตรวจวิเคราะห์แก่ภาคธุรกิจอุตสาหกรรม และภาครัฐบาล ด้วยความเป็นกลางและอิสระปราศจากความซับซ้อนทางด้านผลประโยชน์ และด้วยระบบที่เป็นมาตรฐานสากล จึงเป็นที่ยอมรับจากลูกค้าผู้ใช้บริการของเอสจีเอสทั่วโลกในเรื่องของคุณภาพ ความน่าเชื่อถือ และความรวดเร็วในการให้บริการตรวจสอบวิเคราะห์ที่ดำรงอย่างต่อเนื่อง
เกี่ยวกับเอสจีเอส
กลุ่มบริษัทเอสจีเอส เป็นบริษัทชั้นนำของโลกที่มีนวัตกรรมทันสมัยในการให้บริการด้านการตรวจสอบ การทดสอบ และการรับรองระบบ บริษัทเอสจีเอส ได้ก่อตั้งขึ้นในปี พศ. 2421 และได้รับการยอมรับว่าเป็นบรรทัดฐานระดับสากลในด้านคุณภาพและความซื่อสัตย์ ด้วยจำนวนพนักงานกว่า 42,000 คน บริษัทเอสจีเอส ได้ขยายเครือข่ายสำนักงานและห้องปกิบัติการกว่า 1,000 แห่งทั่วโลก
เอกสารแนบที่ 1
มาตรฐานและกระบวนการรับรองของหสภาพยุโรป (EU) อีกก้าวของมาตรฐานโลก
1. EU กับกฎหมายที่เกี่ยวกับ ELV
สหภาพยุโรปได้ออกกฎข้อบังคับ 2000/53/EC ว่าด้วยวาระการหมดอายุการใช้งานของยานพาหนะตั้งแต่ เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2546 เพื่อเป็นบทบังคับการสั่งห้ามใช้ยานพาหนะที่มีส่วนประกอบของสารตะกั่ว แคดเมียม ปรอท และโครเมียม 6 เกินกว่าปริมาณที่กำหนด
ทุกๆ ปีมียานพานะที่หมดอายุการใช้งานกว่าสิบล้านคันในทวีปยุโรป ซึ่งกลายเป็นขยะในปริมาณ 8 ถึง 9 ล้านตัน ในปี พ.ศ. 2549 ยานพานะที่หมดอายุการใช้งานอย่างน้อย 80% จะถูกนำมาแปรรูป หรือรีไซเคิล และ 85% จะถูกนำมาซ่อมแซมเพื่อนำกลับไปใช้ใหม่ คาดการณ์ว่าในปี พ.ศ. 2558 เปอร์เซ็นต์จะสูงขึ้นเป็น 85% และ 95% ตามลำดับ
ประเทศไทยได้ออกนโยบายเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยให้กลายเป็น “ดีทรอยท์แห่งเอเชีย” ด้วยการจัดตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ 12 แห่งในประเทศไทย รวมถึง 500 OEMs, 800 of 2nd Tiers และโรงงานผู้ผลิตชิ้นส่วน และอะไหล่กว่า 1,200 แห่ง บริษัทผู้ส่งออกยานยนต์คือตลาดกลุ่มเป้าหมายสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยมีจำนวนรถยนต์ที่ส่งออกในปี พ.ศ. 2547 ถึง 320,000 คัน และปีพ.ศ. 2548 ถึง 400,000 คัน
ห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ เอสจีเอส ดำเนินการวิเคราะห์ และตรวจสอบหาสาร Pb, Cd, Hg และCr 6 ที่ถูกสั่งห้ามด้วยอุปกรณ์ ICP — Inductive Couple Plasma และ UV Vis Spectrophotometer ซึ่งในปัจจุบัน เอส จี เอส ได้ทำการทดสอบมาตรฐาน ELV ให้กับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ขนาดใหญ่ เช่น โตโยต้า ฟอร์ด และมิตซูบิชิ รวมถึง OEM และผู้ผลิตต่างๆ เพื่อเป็นการรับรองมาตรฐานให้กับผลิตภัณฑ์ และวัตถุดิบที่ใช้อย่างถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด เช่นเดียวกับนโยบายการสั่งห้ามใช้สารบางชนิดโดยโรงงานผู้ผลิตรถยนต์ขนาดใหญ่ทั่วโลก
2. EU กับกฎหมายที่เกี่ยวกับ RoHS
สหภาพยุโรปได้ออกกฎข้อบังคับ 2002/95/EC ว่าด้วยข้อกำหนดการใช้สารต้องห้ามที่เป็นอันตรายบางประเภท (RoHS — Restriction of the Use of Certain Hazardous Substances) ที่จะมีผลบังคับใช้ทั่วสหภาพยุโรปเริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ปีพ.ศ. 2549 เพื่อเป็นบทบังคับการสั่งห้ามใช้สารต้องห้ามในผลิตภัณฑ์ประเภทอุปกรณ์ไฟฟ้า และอิเลคทรอนิคส์ ที่มีส่วนประกอบของตะกั่ว แคดเมียม ปรอท โครเมียม6 PBB และPBDE
กฎข้อบังคับไม่อนุญาตให้โรงงานผู้ผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้า และอิเลคทรอนิคส์ ที่มีสารเคมีดังกล่าวเป็นส่วนประกอบเกินกำหนด วางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในตลาดกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป โรงงานผู้ผลิตเหล่านั้นจำเป็นต้องมีใบรับรองว่าผ่านตามมาตรฐาน RoHS มิเช่นนั้นจะไม่ได้รับอนุญาตให้วางจำหน่ายในตลาดยุโรป
นอกเหนือจากกฎข้อบังคับดังกล่าว เจ้าของตราสินค้า และโรงงานผู้ผลิตอุปกรณ์ต้นแบบ (OEM — Original Equipment Manufacturers) ยังสนับสนุนนโยบาย Green Products เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
ผลิตภัณฑ์ที่ต้องการตรวจสอบมาตรฐานดังกล่าวประกอบไปด้วย อุปกรณ์ไฟฟ้า และอิเลคทรอนิคส์ทางไอที โทรคมนาคม อุปโภคบริโภค อุปกรณ์กีฬา เครื่องเล่น และเครื่องมือเครื่องใช้อัตโนมัติ
การปฏิบัติตามกฎข้อบังคับมิใช่งานที่ง่าย ดังที่เห็นได้จากกลุ่มชาวแคลิฟอร์เนียนที่รวมกลุ่มกันต่อต้านเพื่อสิ่งแวดล้อมได้รายงานว่าคอมพิวเตอร์ และจอมอนิเตอร์เก่าจำนวนกว่า 315 ล้านเครื่องเฉพาะในสหรัฐอเมริการะหว่างปี พ.ศ. 2530 ถึง 2547 เป็นแหล่งที่มาของตะกั่วกว่า 550,000 ตัน
การทดสอบ และอนุญาตตามมาตรฐานการตรวจสอบ RoHS คืองานหลักที่ห้องทดลอง เอส จี เอส ได้ดำเนินการด้วยอุปกรณ์คุณภาพ และเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญ เราทดสอบหาสารเคมีที่มีข้อกำหนดพิเศษสำหรับโรงงานผู้ผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้า และอิเลคทรอนิคส์ ตั้งแต่ OEM, 1st Tier, 2nd Tier ตลอดจนถึงสาขาบริการย่อย เพื่อรับรองว่าผลิตภัณฑ์ และวัตถุดิบที่ใช้ได้มาตรฐานถูกต้องตามข้อกำหนด ลูกค้าคนสำคัญของเรา ได้แก่ โซนี มัตซูชิตะ เดลต้า มินนิแบ ซัมซุง แอลจี ไมโครซอฟท์ เอชพี 3เอ็ม เป็นต้น
3. EU กับกฎหมาย ที่เกี่ยวกับสารมาลาไคท์ กรีน (Malachite Green)
มาลาไคท์ กรีน คือสารอินทรีย์สำหรับการฆ่าเชื้อรา และปรสิตที่ใช้กันในธุรกิจบ่อเลี้ยงปลาทั่วโลก สารดังกล่าวแท้จริงแล้วยังมิได้รับอนุญาตให้ใช้ในวงการสัตวแพทย์ในทวีปยุโรป เนื่องจากมีผลข้างเคียงที่อาจเป็นพิษได้ มาลาไคท์จะถูกแปรสภาพเป็นลูคามาลาไคท์ (Leucomalachite) ที่เป็นสีขาวเมื่อถูกบริโภคเข้าสู่ระบบ อย่างไรก็ตามได้มีการใช้สารดังกล่าวในการเลี้ยงสัตว์ และปลูกพืชใต้น้ำ ถึงแม้ว่าจะยังมิได้รับอนุญาตอย่างถูกต้อง เนื่องจากเป็นสารที่มีราคาถูก หาง่าย และมีประสิทธิภาพสูง
สัตว์น้ำ และ ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องที่จะส่งไปตลาดร่วมยุโรปได้รับต้องผ่านการทดสอบทางห้องปฏิบัติการเพื่อให้แน่ใจว่าระดับของสารตกค้างไม่เกินกว่าระดับ MRPL ที่ตลาดร่วมยุโรปกำหนด และหากพบว่ามีค่าสูงเกินกว่าระดับที่กำหนด สินค้าจะถูกส่งกลับไปยังประเทศผู้ผลิต มาตรฐานเหล่านี้ได้ถูกกำหนดโดยคณะกรรมาธิการตลาดร่วมยุโรปสำหรับการทดสอบสารมาลาไคท์ และลูคามาลาไคท์ ที่เป็นสารต้องห้ามที่ตกค้างในผลิตภัณฑ์สำหรับสัตว์น้ำเฉพาะอย่างที่นำเข้าจากประเทศที่สาม
ห้องปฏิบัติการของเอสจีเอส ประเทศไทย ในปัจจุบันสามารถทำการวิเคราะห์ และตรวจสอบสารมาลาไคท์ และลูคามาลาไคท์ด้วยเทคโนโลยี LC-MS-MS เพื่อตรวจสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์อาหารส่งออกให้ได้มาตรฐานตามที่กำหนด อีกทั้งเพื่อความปลอดภัยสูงสุดสำหรับผู้บริโภคอีกด้วย
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ