มูลนิธิซิเมนต์ไทย ปันน้ำใจให้ “น้องอิ่ม”

ข่าวอสังหา Tuesday April 8, 2008 10:58 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 เม.ย.--มูลนิธิซิเมนต์ไทย
ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะบริหารโครงการอาหารกลางวันอย่างมีคุณภาพให้แก่นักเรียน และสร้างความมั่นคงให้กับสังคมและชุมชนได้อย่างยั่งยืน แต่ 6 โรงเรียนต้นแบบจากทั่วประเทศ ภายใต้โครงการอาหารกลางวัน “น้องอิ่ม” โดยมูลนิธิซิเมนต์ไทย (SCG Foundation) ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจจริงของทีมผู้บริหาร อาจารย์ และนักเรียน ที่เดินทางมาจากทั่วสารทิศ พร้อมใจกันเผยเคล็ดลับการบริหารโครงการและโชว์ผลงานนิทรรศการที่สร้างสรรค์แนวทางพัฒนากองทุนอาหารกลางวันได้อย่างยอดเยี่ยมและน่าภาคภูมิใจทีเดียว
มูลนิธิซิเมนต์ไทย เริ่มดำเนินโครงการ “น้องอิ่ม” มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 เป็นกองทุนอาหารกลางวันแบบกองทุนหมุนเวียน จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมให้ครู นักเรียน และชุมชนในพื้นที่ขาดแคลน ร่วมกันคิดสร้างสรรค์โครงการที่สามารถสร้างรายได้เข้ากองทุนอาหารกลางวัน หรือดัดแปลงสภาพผลผลิตของโครงการมาประกอบเป็นอาหารกลางวันสำหรับนักเรียน เพื่อให้นักเรียนมีอาหารกลางวันรับประทานอย่างพอเพียง และถูกต้องตามหลักโภชนาการ ทั้งยังฝึกให้เด็กเรียนรู้การทำงานเป็นทีม และสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ โดยในปีพ.ศ.2551 โครงการฯ จะมอบเงินสนับสนุนให้แก่โรงเรียนที่ผ่านการคัดเลือกจำนวน 160 โรงเรียน กองทุนละ 30,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 5 ล้านบาท
แทบไม่น่าเชื่อว่าเงินทุนตั้งต้นนี้ จะสานต่อให้เกิดโครงการดี ๆ มายมาย สร้างประโยชน์มหาศาลให้กับครูและนักเรียนในโรงเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ได้มีโอกาสยกระดับคุณภาพชีวิต ให้ดีขึ้น จากเวทีเสวนาการบริหารโครงการอย่างไรให้ “น้องอิ่ม” โดยตัวแทนจากโรงเรียนต้นแบบทั้ง 6 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนคลองยางนุสรณ์ จ.สระแก้ว โรงเรียนบ้านโปร่งเกตุ จ.ฉะเชิงเทรา โรงเรียนบ้านนาซ่าว และโรงเรียนชุมชนบ้านนาบอน จ.เลย โรงเรียนบ้านห้วยสิงห์ จ.แม่ฮ่องสอน และโรงเรียนบ้านโคกเพิ่มโคกกลาง จ.มหาสารคาม ทำให้ผู้มาร่วมงานกว่า 100 ชีวิต ได้สัมผัสกับองค์ความรู้และภูมิปัญญาอันเต็มเปี่ยมด้วยสาระประโยชน์
ฉันทนา ศรีศิลป์ อาจารย์จากโรงเรียนบ้านห้วยสิงห์ จังหวัดแม่ฮ่องสอน เล่าว่า “โรงเรียนได้นำงบประมาณมาดำเนินกิจกรรมทางการเกษตร ได้แก่ การปลูกผัก เพาะเห็ดนางฟ้า ปลูกพืชสมุนไพร เลี้ยงปลาน้ำจืด และเลี้ยงไก่ เป็นต้น จากนั้นนำผลผลิตที่ได้เข้าสู่โครงการอาหารสำหรับนักเรียนที่อยู่หอทั้งสามมื้อ ซึ่งร้อยละ 80 เป็นชนชาวเขาเผ่าต่าง ๆ ที่มีฐานะยากจน และอยู่ห่างไกลความเจริญ นอกจากเด็ก ๆ จะได้รับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการแล้ว สิ่งสำคัญคือการได้เรียนรู้จากการปฏิบัติจริง การทำการเกษตรได้ซึมซับเข้าในสายเลือดของทุกคน พร้อมกับสายใยรักที่เกิดขึ้นจากความช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ถือว่าเป็นโครงการ “น้องอิ่ม” จริง ๆ ค่ะ”
สมจิตร สิงหวิบูลย์ ผู้อำนวยการโรงเรียนคลองยางนุสรณ์ จังหวัดสระแก้ว กล่าวถึงการเทคนิคการบริหารโครงการอาหารกลางวันและพัฒนาให้เกิดความยั่งยืนในอนาคตว่า “การดำเนินการทุกอย่างจะประสบความสำเร็จไม่ได้เลย หากไม่ได้รับความร่วมมือจากผู้บริหาร ผู้ปกครอง อาจารย์ และนักเรียน ที่เสียสละทุ่มเทแรงกายแรงใจในการสร้างสรรค์ให้เกิดโครงการดีๆ ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงปลาดุก หรือปลูกผักหมุนเวียนตามฤดูกาล ซึ่งเทคนิคในการพัฒนาให้เกิดความยั่งยืนนั้น เราพยายามทำทุกอย่างให้เป็นเรื่องสนุก เช่น กิจกรรมพี่ชวนน้องเข้าสวน ปลูกฝังให้เกิดจิตสำนึกที่ดี จัดสวนสนุกในแปลงผัก โดยดีไซน์ให้เกิดความสวยงาม มีการปลูกดอกไม้ มีชิงช้า นอกจากนี้ เด็ก ๆ ยังนำผักที่เหลือจากการรับประทานไปจำหน่ายเป็นผลกำไรคืนกลับมาเป็นทุนหมุนเวียนต่อไปในภายภาคหน้า ทำให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืนในที่สุด”
โครงการอาหารกลางวัน “น้องอิ่ม” ของมูลนิธิซิเมนต์ไทย ไม่เพียงแต่ทำให้นักเรียนทุกคนได้รับประทานอาหารกลางวันที่ถูกต้องตามหลักโภชนาการ แต่ยังส่งเสริมให้เกิดกระบวนการที่ก่อให้เกิดเป็นสัมพันธภาพที่ดี ความสามัคคีของชุมชน ตลอดจนช่วยให้เกิดการทำงานเป็นทีม ซึ่งเป็นพื้นฐานของการประกอบอาชีพต่อไปในอนาคต

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ