ไทยเปิดศักราชมุ่งเข้าสู่ยุคหุ่นยนต์ เร่งรัฐลงทุนทดแทนแรงงานคนใช้ทำงานอันตราย

ข่าวเทคโนโลยี Tuesday April 8, 2008 11:02 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 เม.ย.--รี้ด เทรดเด็กซ์
สถาบันไทย-เยอรมันแนะรัฐบาลเร่งพัฒนาบุคลากรด้านหุ่นยนต์ เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมายทั้งยานยนต์/ อิเล็กทรอนิกส์เคมีคอล+พลาสติก และ ยาง ใช้หุ่นยนต์ทำงานอันตรายแทนคน แถมยังเป็นการดึงดูดการลงทุนเข้าประเทศ ชี้ไทยตื่นตัวด้านนี้ช้ากว่าสิงคโปร์กับมาเลเซียมาก ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา มีการนำเข้าหุ่นยนต์ไม่ถึง 4,000 ตัว ขณะที่อุตฯเป้าหมายมีการพัฒนามากกว่าประเทศเพื่อนบ้าน
นายมงคล อาทิภานุ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอัตโนมัติ สถาบันไทย-เยอรมัน กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า รัฐบาลควรสนับสนุนให้บุคลากรในประเทศไทย มีความรู้ หรือความสามารถในการผลิต หุ่นยนต์สำหรับใช้ในภาคอุตสาหกรรม มากขึ้น เพื่อเป็นการรองรับการเติบโต ของอุตสาหกรรมเป้าหมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมยานยนต์ กับอุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ และยังเป็นการดึงดูดนักลงทุนให้มาลงทุนในประเทศไทยอีก ด้านหนึ่งด้วย ปัจจุบันหุ่นยนต์ที่ใช้อยู่ในประเทศไทยส่วนใหญ่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น จากสถิติในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาปรากฏว่า ปี 2548 มีการนำเข้ามาประมาณ 1,458 ตัว ปี 2549 นำเข้าประมาณ 1,102 ตัว และปี 2550 นำเข้าประมาณกว่า 1,000 ตัว รวมแล้วขณะนี้ประเทศไทยมีการใช้หุ่นยนต์ในภาคอุตสาหกรรมอยู่ประมาณ 4,000 ตัว ขณะที่ทั่วโลกมีใช้อยู่ประมาณ 1,000,000 ตัว ทางศูนย์คาดการณ์ว่าในปี 2553จะมีการใช้หุ่นยนต์ทั่วโลกเพิ่มขึ้น 1,170,000 ตัว อุตสาหกรรมที่ใช้มากๆ อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์/ชิ้นส่วนยานยนต์, เคมีคอล, พลาสติก, ยาง, อิเล็ก ทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมอาหาร เป็นต้น เหตุผลของอัตราการใช้หุ่นยนต์เพิ่มมากขึ้นนั้น เกิดจาก 1)เพื่อทดแทนแรงงานในส่วนการผลิตที่น่าเบื่อหรือที่เป็นอันตราย ให้มีความปลอดภัยมากขึ้น 2)ทดแทนต้นทุนค่าจ้างแรงงานที่สูงขึ้น และ 3)เป็นการเพิ่มพูนเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมหลายๆ ประเภท เช่น ก่อสร้าง, อิเล็กทรอนิกส์ "แม้ว่าปัจจุบันจะมีการนำหุ่นยนต์มาทดแทนแรงงานในอุตสาหกรรมต่างๆ แต่ผมคิดว่าเรื่องของการว่างงานของคนไทยไม่น่าจะทำให้เกิดปัญหา เพราะหุ่นยนต์ที่มาทำงานทดแทนแรงงานในอุตสาหกรรม จัดเป็นงานที่อันตรายหรือน่าเบื่อซึ่งปัจจุบันคนไทยทำน้อยอยู่แล้ว ส่วนใหญ่จะนำเข้าแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านมาทำ นั่นหมายความว่าเรามีการใช้หุ่นยนต์ทดแทนแรงงานต่างชาติเท่านั้น ไม่ใช่มาแย่งงานคนไทยทำ" นายมงคลกล่าว นายมงคลกล่าวต่อไปว่า ประเทศไทย ยังตื่นตัวเรื่องของการพัฒนาบุคลากรด้านหุ่นยนต์ "ช้ากว่า" สิงคโปร์และมาเลเซีย ทั้งๆ ที่ไทยมีอุตสาหกรรมยานยนต์ที่พัฒนามากกว่า ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องเร่งสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาให้คนไทยสามารถผลิตหุ่นยนต์ใช้เองได้ ซึ่งอาจจะไม่ใช่หุ่นยนต์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมอย่างเดียว อาจจะเป็นหุ่นยนต์ที่ใช้ในงานเฉพาะทาง เช่น หุ่นยนต์ดับเพลิง การทหาร เป็นต้น "ให้ดูว่าประเทศไทย มีการพัฒนาเทคโนโลยี สามารถรองรับ การเติบโตของอุตสาหกรรมได้ เป็นการจูงใจให้เกิดการลงทุนเพิ่มขึ้นในประเทศ อีกทั้งหากมีการผลิตหุ่นยนต์มากขึ้น ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ผลิตชิ้นส่วนในการผลิตก็จะรับประโยชน์ตามไปด้วย" นายมงคลกล่าว อย่างไรก็ตามสถาบันไทย-เยอรมัน ในช่วงที่ผ่านมาได้มีการฝึกอบรมบุคลากรด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ แต่จำนวนคนที่ผ่านการอบรมยังมีจำนวนน้อยมาก โดยขณะนี้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก็มีโครงการพัฒนาในส่วนนี้ อยู่ด้วย คิดว่าภายใน 5 ปีน่าจะมีบุคลากรที่มีความรู้ด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมากขึ้น อนึ่งในระหว่างวันที่ 19-22 มิถุนายนนี้ ณ ไบเทค บางนา จะมีงาน Assembly Technology 2008 งานแสดงเทคโนโลยีและอุปกรณ์ด้านระบบอัตโนมัติที่ครบวงจร มีผู้ร่วมแสดงสินค้ากว่า 120 บริษัท จาก 12 ประเทศทั่วโลก โดยมีกิจกรรมพิเศษ Assembly Arms @ Automation World เป็นการรวมแขนกล ที่ร่วมกันโชว์อัจฉริยะภาพการผลิตจำนวนมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากแบรนด์ดังระดับโลกมากที่สุดกว่า 15 ตัว อาทิ ABB, KUKA, FANUC, YASKAWA, OTC และ SMC เป็นต้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ