ในปี 2565 ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลได้มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของอุตสาหกรรม ตลอดจนทั้งผู้เกี่ยวข้องรวมถึงผู้ลงทุน ตั้งแต่กรณีการล่มสลายของ LUNA และ TerraUSD (UST) ซึ่งเป็น Algorithmic stablecoin หรือเหรียญดิจิทัลที่มีการตรึงมูลค่าให้คงที่โดยใช้ algorithm การล้มละลายของ hedge fund ที่ลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลอย่าง 3 Arrow Capital และผู้ให้บริการแพลตฟอร์มรับฝากและกู้ยืมสินทรัพย์ดิจิทัลอย่าง Celsius ซึ่งส่งผลกระทบถึงลูกค้าของผู้ประกอบธุรกิจในประเทศไทย จนถึงกรณีการล่มสลายของแพลตฟอร์มซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล FTX ซึ่งเป็นผู้ให้บริการรายใหญ่อันดับต้น ๆ ของโลก และทำให้เห็นถึงปัญหาของการขาดการบริหารจัดการและการควบคุมกิจการที่มีประสิทธิภาพ
จากเหตุการณ์ "มาไวไปไว" ที่กล่าวมาข้างต้นสะท้อนให้เห็นถึงช่องโหว่ของอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลที่ปัจจุบันยังไม่มีการกำกับดูแลอย่างเหมาะสม จึงมีความจำเป็นที่หน่วยงานกำกับดูแลจะต้องเข้ามามีบทบาทในการเพิ่มกลไกความคุ้มครองแก่ผู้ลงทุน ซึ่งในปีที่ผ่านมา หน่วยงานกำกับดูแลในหลาย ๆ ประเทศ เช่น สิงคโปร์ สหราชอาณาจักร และญี่ปุ่น ได้ประกาศแนวทางการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล โดยพิจารณาถึงศักยภาพของเทคโนโลยี Distributed Ledger Technology (DLT) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเบื้องหลังของเหรียญดิจิทัล ประกอบกับแนวทางการป้องกันความเสี่ยง สำหรับสหรัฐอเมริกา ช่วงที่ผ่านมา หน่วยงานกำกับบังคับใช้หลักเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลในการปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายที่เกี่ยวกับการโฆษณาสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีการหลอกลวงหรือทำให้เกิดการเข้าใจผิด
ประเทศสิงคโปร์ : Monetary Authority of Singapore (MAS) มีนโยบายไม่สนับสนุนการเก็งกำไรในคริปโทเคอร์เรนซี แต่ไม่ปิดกั้นพัฒนาการทางเทคโนโลยี (Yes to Digital Asset Innovation, No to Cryptocurrency Speculation) โดยมีแนวคิดที่จะพัฒนาระบบนิเวศของสินทรัพย์ดิจิทัล (digital asset ecosystem) และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี DLT ซึ่งถือเป็นวาระหลักในการพัฒนาประเทศไปสู่การเป็น FinTech Hub ทั้งนี้ MAS มุ่งเน้นการกำกับดูแลความเสี่ยงเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลใน 5 ด้าน ได้แก่ (1) การปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย (2) การบริการจัดการเทคโนโลยีและไซเบอร์ (3) การป้องกันความเสี่ยงต่อผู้ลงทุนรายย่อย (4) การรักษาเสถียรภาพของ stablecoin และ (5) การลดความเสี่ยงด้านเสถียรภาพของระบบการเงินที่อาจเกิดขึ้น โดยล่าสุด MAS ได้เปิดรับฟังความเห็น (public consultation) ต่อหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งครอบคลุมประเด็นความเสี่ยงทั้ง 5 ด้านดังกล่าว (เผยแพร่เมื่อตุลาคม 2565)
สหราชอาณาจักร : กระทรวงการคลังของสหราชอาณาจักร เล็งเห็นถึงความเสี่ยงที่อุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลยังไม่มีการกำกับดูแลที่เหมาะสม เช่น การเสนอขายผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ไม่เหมาะสมแก่ลูกค้า (mis-selling) การโฆษณาเท็จ (false advertising) การฉ้อโกง เป็นต้น จึงมีแนวคิดที่จะปรับปรุง Financial Services and Markets Bill เพื่อให้อำนาจ Financial Conduct Authority (FCA) ในการกำกับดูแลกิจกรรมที่เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งจะทำให้ FCA สามารถให้ความคุ้มครองผู้ลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ที่ FCA จะเสนอครอบคลุมประเด็น เช่น (1) การจำกัดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลของผู้ให้บริการต่างชาติ (2) การจัดการกรณีผู้ให้บริการล้มละลาย และ (3) การจำกัดการโฆษณาที่เกี่ยวข้องกับคริปโทเคอร์เรนซี โดยคาดว่าจะจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นในปี พ.ศ. 2566 ต่อไป (ข้อมูลจากบทความใน Financial Times)
ประเทศญี่ปุ่น : ประเทศญี่ปุ่นมีนโยบายกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลโดยให้ความสำคัญกับเสถียรภาพของระบบการเงิน และการให้ความคุ้มครองผู้ใช้งาน โดยที่ผ่านมา Financial Services Agency (FSA) มีการออกกฎหมายสำหรับการกำกับดูแล stablecoin ภายหลังจากเหตุการณ์ล่มสลายของ UST โดยกำหนดให้ผู้ออก stablecoin จะต้องเป็นธนาคาร ทรัสต์ หรือผู้ให้บริการโอนเงิน (fund transfer service providers) ที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น และต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ FSA กำหนด ซึ่งรวมถึงหลักเกณฑ์ด้านเงินทุนของผู้ให้บริการ stablecoin ด้วย ทั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของระบบการเงินและเพื่อให้ความคุ้มครองผู้ใช้งาน stablecoin อย่างเหมาะสม
สหรัฐอเมริกา : US Federal Trade Commission (FTC) ซึ่งเป็นหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคของสหรัฐอยู่ระหว่างพิจารณาบังคับใช้กฎหมายเพื่อเอาผิดการโฆษณาโดยบริษัทคริปโทที่ไม่ตรงความจริง ทำให้เกิดการเข้าใจผิด และไม่มีการเปิดเผยข้อมูลตามหลักเกณฑ์คุ้มครองผู้บริโภค ส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับกรณีของ FTX ซึ่งนักลงทุนได้ฟ้องร้องดำเนินคดี FTX กรณีโฆษณาไม่ตรงปกและเปิดเผยข้อมูลไม่ครบถ้วน ซึ่งช่วงที่ผ่านมาผู้ให้บริการเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลหลายรายทุ่มเงินไปกับการโฆษณาโดยว่าจ้างคนมีชื่อเสียงทั้งในวงการดาราและนักกีฬามาชักชวนให้ลงทุน โดยไม่มีการเปิดเผยข้อมูลตามหลักเกณฑ์ นอกจากนี้ เมื่อเร็ว ๆ นี้ ก.ล.ต. สหรัฐฯ ก็มีการบังคับใช้กฎหมายกับดาราทีวีเรียลลิตี้รายหนึ่ง กรณีโปรโมตสินทรัพย์ดิจิทัล (ซึ่งพิจารณาได้ว่าเป็นหลักทรัพย์ตามกฎหมายของสหรัฐฯ) ผ่านอินสตาแกรมของตนเองอย่างผิดกฎหมายและไม่เหมาะสม ซึ่งบุคคลดังกล่าวยินยอมจ่ายค่าปรับเป็นเงินกว่าหนึ่งล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ (ข้อมูลจากบทความใน Bloomberg)
แนวทางการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลของไทย
สำหรับประเทศไทย การกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลอยู่ภายใต้พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 (พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ) โดยปัจจุบันพัฒนาการของสินทรัพย์ดิจิทัลมีความก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดดจากปี พ.ศ. 2561 ที่กฎหมายมีผลใช้บังคับ และมีรูปแบบการใช้งานเกี่ยวข้องกับหลายอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จึงอยู่ระหว่างดำเนินการปรับปรุงการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลให้เท่าทัน โดยได้ตั้งคณะทำงานซึ่งประกอบด้วยหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อศึกษาและเสนอแนะแนวทางการปรับปรุงกฎหมายให้เหมาะสมกับลักษณะและความเสี่ยงของสินทรัพย์ดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงรองรับการนำเทคโนโลยี DLT มาใช้ในภาคธุรกิจ
นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมา สำนักงาน ก.ล.ต. ได้ติดตามและเฝ้าระวังความเสี่ยงใหม่ ๆ ที่อาจเกิดขึ้น และดำเนินการปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำกับดูแลให้เหมาะสมโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ ก.ล.ต. เพื่อยกระดับความคุ้มครองผู้ใช้บริการในหลายด้าน เช่น การเก็บรักษาทรัพย์สินของผู้ใช้บริการ การโฆษณาและการส่งเสริมการขายของผู้ประกอบธุรกิจ การป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ความปลอดภัยด้านไซเบอร์ เป็นต้น ทั้งนี้ การดำเนินการข้างต้นเป็นไปในทิศทางเดียวกับการกำกับดูแลของหน่วยงานกำกับดูแลในต่างประเทศและสากล