นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่จังหวัดจันทบุรีเพื่อติดตามควบคุมมาตรฐานการส่งออกผลไม้ไทยโดยเฉพาะทุเรียน โดยพบปะผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุ ผู้แทนสมาคม กลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ภาคตะวันออก เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะและความคิดเห็น และสร้างความเชื่อมั่นการบูรณาการทำงานทุกภาคส่วน สำหรับการดำเนินการรองรับการขับเคลื่อนส่งออกผลไม้ภาคตะวันออกโดยเฉพาะทุเรียนฤดูกาล ปี 2566 โดยได้เน้นย้ำการแก้ไขปัญหาทุเรียนอ่อน ทุเรียนด้อยคุณภาพ พร้อมกับมีเป้าหมายยกระดับทุเรียนไทย ทุเรียนคุณภาพ มุ่งสู่ทุเรียนพรีเมี่ยมที่ 1 ของโลก
นางสาวมนัญญา กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายมุ่งเน้นการผลิตทุเรียนคุณภาพเพื่อส่งออก ภายใต้มาตรการส่งออกทุเรียนไทยตามข้อตกลงทางพิธีสารไทย-จีน เพื่อตอกย้ำว่าทุเรียนไทยเป็นทุเรียนที่ดีที่สุดในโลก ทั้งด้านรสชาติและคุณภาพ โดยเฉพาะทุเรียนภาคตะวันออกเป็นที่ต้องการของตลาดจีน โดยในปี 2565 นี้ จีนตรวจเข้ม ZERO COVID ต้องเพิ่มมาตรการตรวจโควิด 19 ในทุเรียนก่อนส่งออก กรมวิชาการเกษตรจึงได้จัดทำมาตรฐาน GAP Plus และ GMP Plus ทำให้การส่งออกทุเรียนปี 2565 ไม่มีปัญหา สามารถสร้างมูลค่าการส่งออกได้กว่า 82,805 ล้านบาท ปริมาณรวม 779,206 ตัน โดยในจำนวนนี้เป็นผลผลิตในภาคตะวันออกถึง 504,280.03 ตัน
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะดำเนินการอย่างเคร่งครัดเพื่อรักษาชื่อเสียง ตลาดส่งออก และมาตรฐานการผลิตของทุเรียนไทย สร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภคทั่วโลก ดังนั้นที่สำคัญคือต้องควบคุมคุณภาพไม่ให้มีทุเรียนอ่อนหลุดเข้าไปในตลาด จึงขอฝากชาวสวนและผู้ประกอบการในช่วงต้นฤดูที่ผลผลิตทุเรียนออกสู่ตลาดขอความร่วมมืออย่าตัดทุเรียนอ่อนหรือทุเรียนด้อยคุณภาพส่งออกไปเด็ดขาดเพราะจะสร้างความเสียหายกับการส่งออกทุเรียนของไทยและกระทบกับความเชื่อมั่นในคุณภาพ โดยต้องเสริมสร้างแนวคิดและผลักดันเอกลักษณ์ "ผลไม้ไทย ผลไม้คุณภาพ" (Premium Thai Fruits) พร้อมกันนี้ได้สั่งการให้กรมวิชาการเกษตรบูรณาการความร่วมมือกับผู้ว่าราชการจังหวัด หน่วยงานความมั่นคง และหน่วยงานในพื้นที่ให้ความรู้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการ รวมถึงรณรงค์ป้องกันการตัดทุเรียนอ่อน การปนเปื้อนของเชื้อไวรัสโควิด 19 รวมถึงการป้องกันการสวมสิทธิ์ส่งออกผลไม้ไทยด้วย
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า สำหรับการเปลี่ยนรหัสรับรอง GAP รูปแบบใหม่ ตามที่นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ ได้มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตร เร่งการดำเนินการตรวจรับรองแหล่งผลิตพืช GAP ในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคตะวันออกจำนวน 89,157 แปลง 74,302 ราย 966,510 ไร่ โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดจันทบุรีมีจำนวนแปลง GAP ที่ผ่านการรับรอง 60,478 แปลง 48,267 ราย 707,224 ไร่ และอยู่ระหว่างตรวจ 2,543 แปลง 1,729 ราย 37,628 ไร่ โดยกรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินการเปลี่ยนใบรับรองรหัสใหม่ในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคตะวันออกจำนวนทั้งหมด 80,779 ใบ ซึ่งครบ 100 เปอร์เซ็นต์แล้วทำให้การปรับ GAP รูปแบบใหม่เสร็จสิ้นสมบูรณ์ทั้งประเทศครบ 100 เปอร์เซ็นต์แล้ว
พร้อมกันนี้ในวันที่ 19 ธันวาคม 2565 กรมวิชาการเกษตรเตรียมจัดสัมมนา "ทุเรียนไทย ทุเรียนคุณภาพ" (Premium Thai Durian) โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนา จำนวน 250 คน ได้แก่ ผู้ประกอบการส่งออก ผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุและตัวแทนผู้ประกอบการส่งออกผลไม้ไปจีน เพื่อให้ผู้ประกอบการส่งออกทุเรียนสดของไทยเข้าใจในการผลักดันนโยบาย ทุเรียนไทย ทุเรียนคุณภาพ (Premium Thai Durian)และได้รับความรู้ความเข้าใจ สามารถแสดงข้อมูลประกอบการยื่นคำขอใบรับรองสุขอนามัยพืช ได้อย่างถูกต้อง เข้าใจในกระบวนการตรวจสอบคุณภาพ และรับรองสุขอนามัยพืชสำหรับการส่งออกทุเรียนทั้งระบบ
"ปัจจุบันจีนให้ความสำคัญกับทุเรียนสดที่มีคุณภาพและมาตรฐานมากยิ่งขึ้น บทบาทในการกำกับดูแลของกรมวิชาการเกษตร ตั้งแต่กระบวนการผลิต ต้องผ่านมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีของทุเรียน (GAP) การตัดทุเรียนคุณภาพ การรวบรวมและคัดบรรจุทุเรียนผลสดที่ได้มาตรฐาน เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นและรักษาภาพลักษณ์ของทุเรียนไทยอย่างยั่งยืน โดยมีการติดตาม ทวนสอบมาตรการตรวจสอบคุณภาพและรับรองสุขอนามัยพืชสำหรับทุเรียนส่งออกไปจีน ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม ร่วมกับกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระบบการส่งออกทุเรียนสดไทยไปต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งในการส่งออกทุเรียนไทย ซึ่งผู้ประกอบการส่งออกทุเรียนสดมีส่วนช่วยผลักดันให้การส่งออกทุเรียนสดของไทยมีความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ รวมทั้งยกระดับการแข่งขันในเรื่องคุณภาพ มาตรฐานของทุเรียนไทย" อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว