หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) จับมือศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านกลยุทธ์ธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (วีกรีน) และสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม (สมอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม พัฒนามาตรฐานระบบการจัดการเศรษฐกิจหมุนเวียนองค์กร เพื่อผลักดันและขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียนระดับชาติ มุ่งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันแก่ผู้ประกอบการไทย โดยได้จัดพิธีลงนามความร่วมมือทางวิชาการกับ 32 บริษัทนำร่อง เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2565 ณ ห้องประชุมกำพล อดุลวิทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (บางเขน)
จากความร่วมมือทางวิชาการของวีกรีน คณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กับ สมอ. กระทรวงอุตสาหกรรม ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจาก บพข. เพื่อขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียน ในโมเดล BCG ของประเทศ ซึ่งปัจจุบันบริษัทเอกชนหลายแห่งได้ตื่นตัวและเริ่มตอบรับนโยบายดังกล่าวเป็นอย่างมาก และต้องการแนวทางเชิงปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมสำหรับองค์กรนำไปประยุกต์ใช้ จึงเป็นที่มาในการพัฒนามาตรฐานที่เรียกว่า ระบบการจัดการเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy Management System (CEMS) ซึ่งมาตรฐานนี้จะเป็น management system standard สำหรับองค์กร ซึ่ง บพข. ได้ให้การสนับสนุนทุนวิจัยในโครงการ "การพัฒนาระบบการตรวจสอบและรับรองระบบการจัดการเศรษฐกิจหมุนเวียนองค์กรเพื่อผลักดันนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียน" โดยมี รศ. ดร.รัตนาวรรณ มั่งคั่ง ผู้อำนวยการวีกรีน เป็นหัวหน้าโครงการฯ เพื่อพัฒนาระบบการตรวจสอบและรับรองสำหรับระบบการจัดการเศรษฐกิจหมุนเวียนองค์กรของประเทศไทย ให้เป็นที่ยอมรับในระดับชาติและสากล และยกระดับการดำเนินธุรกิจภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนสู่การประยุกต์ใช้จริงตามมาตรฐานการตรวจสอบและรับรองแห่งชาติ พร้อมทั้งพัฒนาผู้ตรวจประเมินให้มีองค์ความรู้และทักษะในการตรวจประเมินความสอดคล้องตามข้อกำหนดของระบบการจัดการเศรษฐกิจหมุนเวียนองค์กร รวมทั้งการจัดทำคู่มือการใช้งานสำหรับผู้ประกอบการ โดยทาง สมอ. ได้เป็นผู้ออกมาตรฐานที่ชื่อว่า มตช. 2 เล่ม 2 ว่าด้วยข้อมูลซึ่งเป็นแนวทางที่ชัดเจนสำหรับภาคเอกชนที่จะนำไปปฏิบัติ ซึ่งโครงการนี้ได้มุ่งเป้าที่การยกระดับการดำเนินธุรกิจภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน นำไปสู่การประยุกต์ใช้และตอบสนองต่อความต้องของภาคเอกชน ในการขอรับการรับรองว่าภาคเอกชนได้นำเอาเศรษฐกิจหมุนเวียนไปประยุกต์ใช้จริง
เมื่อไม่นานมานี้ได้มีการคัดเลือกบริษัทนำร่องเพื่อเข้าร่วมโครงการฯ ซึ่งมีการกำหนดเกณฑ์พิจารณาคัดเลือกบริษัทนำร่องว่า ต้องมีนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างชัดเจน มีระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐาน ISO14001 หรือเทียบเท่า มีทรัพยากรและบุคลากรที่สามารถจะให้ความร่วมกับทางโครงการฯ และสามารถแสดงข้อมูลในการดำเนินการตามข้อกำหนดของมาตรฐานได้ โดยที่บทบาทและหน้าที่ของบริษัทนำร่องที่สำคัญคือต้องเข้าร่วมกิจกรรมของโครงการ ไม่ว่าจะเป็นการส่งบุคคลกรเข้ารับการอบรมการตีความข้อกำหนดและแนวทางเชิงปฏิบัติที่ดี นำเอาองค์ความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้กับองค์กรของตัวเองภายใต้คำแนะนำและการปรึกษาทางเทคนิคกับที่ปรึกษาของโครงการ มีการเตรียมความพร้อมเพื่อรับการตรวจประเมินในการขอการรับรองมาตรฐาน สมช. 2 เล่ม 2 ซึ่งมีบริษัทนำร่องจำนวน 32 บริษัทซึ่งครอบคลุม 6 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ เกษตรอาหาร วัสดุก่อสร้าง พลาสติก บรรจุภัณฑ์ แฟนชันไลฟ์สไตล์ และพลังงานหมุนเวียน ที่ผ่านการเกณฑ์การคัดเลือก และได้การลงนามความร่วมมือฯ ระหว่างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ต้นสังกัดวีกรีน กับทั้ง 32 บริษัทนำร่อง เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2565
รศ. ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ รองผู้อำนวยการ บพข. ได้กล่าวถึงจุดมุ่งหมายของการสนับสนุนโครงการวิจัยด้านเศษฐกิจหมุนเวียนว่า "บพข. มุ่งเป้าสร้างศักยภาพในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทยภายใต้หลักการของเศรษฐกิจหมุนเวียน ตามนโยบาย BCG ของประเทศ โดยเน้นการทำงานร่วมกันทั้งทางภาครัฐ และภาคเอกชน เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตและความยั่งยืนที่ดีให้กับประชาชนและผู้ประกอบการไทย ควบคู่ไปกับการใส่ใจด้านความหลากหลายทางชีวภาพสิ่งแวดล้อม ซึ่งโครงการนี้ บพข. ได้สนับสนุนทุนวิจัยเพื่อผลักดันและขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียนระดับชาติสู่การประยุกต์ใช้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในภาคเอกชนอย่างเป็นรูปธรรม เราอยากจะเห็นการขับเคลื่อนเพื่อที่จะนำการวิจัยนั้นไปสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ เราพยายามที่จะขับเคลื่อนผู้ประกอบการ และอุตสาหกรรมต่าง ๆ ให้มีการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือที่เราเรียกว่า Green Growth โดย บพข. เองมีเครือข่ายความร่วมมือในการทำงานกับทุกภาคส่วนจากภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มพลาสติกบรรจุภัณฑ์ กลุ่มเกษตรอาหาร กลุ่มวัสดุก่อสร้าง ซึ่งจะช่วยในการขับเคลื่อน circular economy ด้วยกัน และด้วยการขับเคลื่อนเหล่านี้เราจะสามารถเข้าไปสู่เป้าหมายของคำว่ายั่งยืนได้"
อย่างไรก็ตาม เรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนอาจยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับหลายองค์กร ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องมีที่ปรึกษา โดยทางโครงการฯ ได้มีการตั้งเป้าในการพัฒนาผู้ที่มีความสามารถในการเป็นที่ปรึกษา ให้มีองค์ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางในเชิงปฏิบัติที่ดี และสามารถที่จะให้คำปรึกษาทางเทคนิคกับบริษัทนำร่องได้ว่าจะดำเนินการให้สอดคล้องตามข้อกำหนดของ มตช. 2 เล่ม 2 นี้ได้อย่างไร นอกจากนี้ ในแง่ของการตรวจสอบรับรอง สิ่งที่คู่ขนานกันไปและจำเป็นอย่างยิ่งคือ ผู้ตรวจประเมิน (auditors) ซึ่งต้องมีองค์ความรู้และมีทักษะในเรื่องของการตรวจประเมินความสอดคล้องตามข้อกำหนดของมาตรฐานเพื่อที่จะนำไปสู่การพัฒนาระบบตรวจสอบและรับรอง ดังนั้นทางโครงการฯ จึงมีการสร้างเครือข่ายที่ปรึกษากับทางภาครัฐและเอกชน และได้มีการเรียนเชิญหน่วยรับรอง และผู้ตรวจประเมิน เข้าร่วมโครงการโดยพิจารณาคัดเลือกผู้ตรวจประเมินที่มีประสบการณ์ในการเป็นผู้ตรวจประเมิน ISO14001 มาก่อน และเปิดโอกาสให้ที่ปรึกษาสามารถเป็นได้ทั้งบริษัทปรึกษาเอกชน ที่ปรึกษาอิสระ หรืออาจารย์มหาวิทยาลัย แต่ต้องเป็นบุคคลที่มีองค์ความรู้เกี่ยวกับ ISO14001, Circular Economy และ Lifecycle Material รวมทั้งมีประสบการณ์ในการเป็นที่ปรึกษาให้กับโรงงานอุตสาหกรรมมาก่อน
รศ. ดร.รัตนาวรรณ มั่งคั่ง ผู้อำนวยการวีกรีน หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า "ประเทศไทยจะเป็นประเทศแรกในภูมิภาคอาเซียนที่มีการพัฒนามาตรฐานและระบบรับรองระบบการจัดการเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งทั้งหมดที่เราทำก็เพื่อที่จะนำไปสู่การสนับสนุนให้ภาคเอกชนนำเอามาตรฐานการจัดการเศรษฐกิจหมุนเวียนไปใช้และขอรับการรับรองเพื่อที่จะนำไปใช้ในการสื่อสารทางด้านการตลาดกับลูกค้า เราคาดหวังว่าบริษัทนำร่องที่เข้าร่วมโครงการจะมีการพัฒนาระบบการจัดการเศรษฐกิจหมุนเวียนตามมาตรฐาน มตช. 2 เล่ม 2 เพื่อที่จะส่งเสริมให้มีการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ นำไปสู่การลดปริมาณของเสีย รวมทั้งลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็น KPI ระดับชาติของนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียน การพัฒนาระบบตรวจสอบและรับรองของประเทศไทยในเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนนั้น จะทำให้เราจะเป็นประเทศแรกในภูมิภาคอาเซียนที่มีการพัฒนาระบบ Certification System ในเรื่องของ Circular Economy Management System ซึ่งช่วยจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับคู่ค้าธุรกิจในตลอดห่วงโซ่อุปทาน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะช่วยเพิ่มโอกาสทางการตลาด และสามารถที่จะเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในภาพรวมได้ การที่เรามีการพัฒนาระบบการตรวจสอบรับรองนี้ ยังเป็นการสร้างกำลังคนของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นที่ปรึกษา ผู้ตรวจประเมิน รวมทั้งบุคคลากรของบริษัทนำร่องทั้งหลายที่เข้าร่วมกิจกรรมของโครงการก็จะได้รับการพัฒนาองค์ความรู้และพัฒนาศักยภาพในเรื่องของการประยุกต์ใช้ในเรื่องของเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างเป็นรูปธรรม"
จากการสนับสนุนทุนวิจัยครั้งนี้ บพข. มุ่งเป้าให้เกิดการยกระดับการดำเนินธุรกิจภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนสู่การประยุกต์ใช้จริงตามข้อกำหนดของมาตรฐานการตรวจสอบและรับรองแห่งชาติ ด้วยการสนับสนุนให้มีการดำเนินงานตามข้อกำหนดของมาตรฐานระบบการจัดการเศรษฐกิจหมุนเวียนองค์กร (มตช. 2 เล่ม 2) รวมทั้งขอรับการตรวจประเมินเพื่อขอรับการรับรอง และให้บริการตรวจสอบและรับรององค์กรว่าดำเนินการตามมาตรฐานระบบการจัดการเศรษฐกิจหมุนเวียนองค์กร เมื่อระบบนี้ถูกนำไปใช้อย่างเป็นระบบแล้วจะช่วยทำให้ทุกภาคส่วนมีขีดความสามารถในการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม ให้ประเทศไทยมี GDP ที่เพิ่มขึ้นจากการที่ได้รับการยอมรับ และได้รับความเชื่อมั่น จากการเป็นองค์กรผู้ผลิตสินค้าที่ได้รับการรับรอง CMS และก้าวเข้าไปเป็นผู้นำในเรื่องของเศรษฐกิจหมุนเวียนในระดับอาเซียนและในระดับสากล