ส่งออกอัญมณีไทยพุ่งอย่างต่อเนื่อง สวนทางภาพรวมการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมซึ่งชลอตัวลง ชี้ผู้ประกอบการต้องรักษาตลาดเดิม หาตลาดเกิดใหม่ พร้อมสร้างประสบการณ์และความประทับใจให้ผู้บริโภค
ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยยังคงพุ่งอย่างต่อเนื่อง คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5.60 ของสินค้าส่งออกโดยรวมของไทย เป็นสินค้าส่งออกในอันดับที่ 3 โดย ระหว่างเดือนมกราคม-ตุลาคม 2565 มีมูลค่าการส่งออก 13,620.86 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 66.50 แต่หากพิจารณาถึงมูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทย เมื่อไม่รวมการส่งออกทองคำ พบว่า มีมูลค่า 6,778.55 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 37.38
นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทย สินค้าที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุดในรอบ 10 เดือนแรกของปีนี้ คือ ทองคำที่ยังมิได้ขึ้นรูปหรือทองคำกึ่งสำเร็จรูป โดยมีสัดส่วนร้อยละ 50.23 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยโดยรวม ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 110.74 โดยราคาทองคำเฉลี่ยของตลาดโลกในเดือนตุลาคมยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากเดือนสิงหาคม มาอยู่ที่ระดับ 1,664.45 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ (https://www.kitco.com) เนื่องจากเฟดใช้นโยบายปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.75 ติดต่อกัน 4 ครั้ง นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา ทำให้อัตราดอกเบี้ยมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 3.75-4.00 (ณ เดือนพฤศจิกายน 2565) ซึ่งสูงสุดนับแต่เดือนมกราคม 2551 เป็นปัจจัยลบต่อราคาทองคำ แต่อย่างไรก็ตามเริ่มมีแนวโน้มว่า เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยช่วงกลางเดือนธันวาคมในอัตราที่ลดลง จะเป็นปัจจัยบวกต่อราคาทองคำที่สามารถปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้ได้ ทั้งนี้ มีข้อมูลจาก World Gold Council ระบุว่า อุปสงค์ทองคำในช่วงตุลาคมยังได้รับอานิสงส์จากการบริโภคเครื่องประดับและการสำรองทองคำของธนาคารกลางในประเทศต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยหลัก
ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทย (ไม่รวมทองคำ) ในช่วงมกราคม-ตุลาคมของปี 2565 เติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 37.38 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยเป็นสินค้าที่มีการเติบโตต่อเนื่องสวนทางกับกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมหลายรายการ อย่าง คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ เหล็ก และ ผลิตภัณฑ์ ที่ชลอตัวลงครั้งแรกในรอบ 20 เดือน เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากนโยบายการเงินที่คุมเข้มในหลายประเทศ ภาวะการขาดแคลนพลังงานในยุโรปที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น จึงส่งผลกระทบต่อทั้งภาคการผลิตที่อาจลดกำลังผลิตลงและการบริโภคของประชาชนที่ต้องกันเงินมาใช้ในส่วนนี้เพิ่มขึ้น
แต่อย่างไรก็ตาม ไทยยังคงมีปัจจัยสนับสนุนการส่งออก อย่างเช่น การอ่อนค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักของโลก รวมทั้งเริ่มเข้าสู่ช่วงเทศกาลจับจ่ายใช้สอยปลายปีเข้ามากระตุ้นการบริโภค ซึ่งถือได้ว่าเป็นปัจจัยบวกสนับสนุน ทำให้การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยสามารถเติบโตได้ต่อเนื่อง โดยตลาดส่งออกที่สำคัญของไทยทั้ง 10 อันดับแรก อย่างสหรัฐอเมริกา อินเดีย ฮ่องกง เยอรมนี สหราชอาณาจักร สิงคโปร์ สวิตเซอร์แลนด์ เบลเยียม สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และญี่ปุ่น ล้วนมีมูลค่าเพิ่มขึ้นตามลำดับ
โดยภาพรวมสถานการณ์ส่งออกในรอบ 10 เดือนแรกของปีนี้ สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับเป็นหมวดหนึ่งที่ยังสามารถเติบโตสวนกระแสได้ แม้การส่งออกเริ่มมีสัญญาณการหดตัวของคำสั่งซื้อจากประเทศคู่ค้า แต่การเข้าสู่ช่วงเทศกาลจับจ่ายใช้สอยปลายปีจะเป็นปัจจัยหนุนทำให้มีการบริโภคเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อการส่งออกช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปีนี้
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการควรมีแนวทางมองหาแนวทางการทำตลาดในประเทศกลุ่มตลาดเกิดใหม่โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียและตะวันออกกลางที่สามารถสร้างอัตราการเติบโตได้สูง ควบคู่ไปกับการรักษาตลาดเดิมที่ควรเน้นสินค้าที่มีภาพลักษณ์เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมกับรักษามาตรฐานคุณภาพให้ได้ตรงกับความต้องการผู้บริโภค หรือการทำสินค้าเกรดพรีเมียมเพื่อตอบสนองลูกค้ากลุ่มบนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจน้อยกว่า และการใช้แทคโนโลยีอย่าง AR หรือ VR นำเสนอสินค้าออนไลน์ เพื่อสร้างประสบการณ์ให้ผู้บริโภคได้สัมผัสสินค้าใกล้เคียงความจริง ก่อให้เกิดความประทับใจและสร้างโอกาสในการซื้อได้เร็วขึ้น
นอกจากนี้ สำหรับผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับยังต้องแสวงหาความรู้เพิ่มเติม เพื่อให้ทันต่อความต้องการของตลาดโลก ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT ให้บริการด้านข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ การตรวจสอบ และสร้างมาตรฐาน GIT STANDARD และ บริการด้านการอบรมด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งแรงสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทยให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก