กรุงเทพฯ--4 เม.ย.--ก.พลังงาน
รัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน นำทีมคณะสื่อมวลชน ลงพื้นที่วางศิลาฤกษ์กังหันลมผลิตไฟฟ้า ขนาด 1.5 เมกะวัตต์ พร้อมเปิดกังหันลมไฟฟ้า ขนาด 250 กิโลวัตต์ ณ บ้านทะเลปัง อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช ในโครงการ “สาธิตผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมในประเทศไทย” ก่อนออกเดินทางต่อเพื่อไปเยี่ยมชมโครงการ “การพัฒนาระบบก๊าซชีวภาพจากขยะในระดับชุมชน เทศบาลเมืองทุ่งสง อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช โดยมีนายวิชม ทองสงค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชให้การต้อนรับ และนายพานิช พงศ์พิโรดม อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) บรรยายประกอบการเยี่ยมชมทั้ง 2 โครงการฯ
พลโทหญิง พูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกล่าวว่า กระทรวงพลังงานมีนโยบาย และแนวทางการส่งเสริมด้านพลังงานลมของประเทศ ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพลังงานทดแทนของประเทศไทย โดยมีเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมรวม 115เมกะวัตต์ ในปี 2554 และกำหนดเป้าหมายในการใช้พลังงานทดแทนให้มีอัตราเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 0.5 ในปี2545 เป็นร้อยละ 8 ในปี พ.ศ. 2554 โดยได้มอบหมายให้ พพ. จัดทำโครงการติดตั้งกังหันลมผลิตไฟฟ้าเพื่อการสาธิตนำร่อง ซึ่งได้ดำเนินการติดตั้งกังหันลมที่บ้านทะเลปัง อ.หัวไทร จ. นครศรีธรรมราช ที่มีขนาด 250 กิโลวัตต์ 1 ชุด ปัจจุบันได้ติดตั้งเสร็จเรียบร้อยแล้ว ส่วนกังหันลมขนาดกำลังการผลิต 1.5 เมกะวัตต์ ที่กำลังติดอีกจำนวน1 ชุด เป็นกังหันลมชนิดมีแบบเกียร์ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในเร็วๆ นี้ และในปี 2551 จะดำเนินการติดตั้งสาธิตอีก 2 ชุด กำลังผลิตรวม 1,750 กิโลวัตต์ ที่แหลมตาชี จ.ปัตตานี
โครงการดังกล่าวถือเป็นโครงการนำร่อง เพื่อสาธิตการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย รวม 2 ชุดมีกำลังการผลิต1,750 กิโลวัตต์ สามารถผลิตไฟฟ้าได้ปีละ 3.4 ล้านหน่วย ส่งเข้ากับระบบสายส่งไฟฟ้าเพื่อจำหน่ายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค คิดเป็นมูลค่าประมาณ 20.7 ล้านบาท สามารถทดแทนน้ำมันเชื้อเพลิงเทียบเท่าน้ำมันดิบได้ปีละ 290 ตัน คิดเป็นมูลค่าปีละ 6.8 ล้านบาท และช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุภาวะโลกร้อนได้ปีละประมาณ 1,000 ตัน
นอกจากนี้ ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาพลังงานทดแทนยังมีเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานขยะรวม 100 เมกะวัตต์ ในปี 2554 ด้วย ทั้งนี้กระทรวงพลังงานจะสนับสนุนให้ภาคเอกชนลงทุนผลิตไฟฟ้าจากขยะในพื้นที่เทศบาลและองค์การปกครองท้องถิ่นที่มีปริมาณขยะมากกว่า 100 ตันต่อวันขึ้นไป ซึ่งมีอยู่ ราว 25 แห่ง สำหรับเทศบาลและองค์การปกครองท้องถิ่นที่มีปริมาณขยะ 5 — 100 ตันต่อวัน ซึ่งมี 466 แห่ง และปริมาณขยะน้อยกว่า 5 ตันต่อวัน มี 6,622 แห่ง กระทรวงพลังงานจะให้การสนับสนุนการลงทุนระบบผลิตก๊าซชีวภาพจากขยะอินทรีย์รวม 142 แห่ง และ 1,400 แห่งตามลำดับ หากการดำเนินงานตามเป้าหมายแล้วเสร็จในปี 2554 คาดว่าจะสามารถผลิตก๊าซชีวภาพเป็นพลังงานได้ประมาณวันละ 0.79 ล้านลบ.ม. ทดแทนก๊าซหุงต้มได้ 0.36 ล้านกิโลกรัม คิดเป็นมูลค่า 6.55 ล้านบาทต่อวันหรือประมาณปีละ 2,400 ล้านบาท และยังสามารถลดค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะอินทรีย์ของทศบาลและองค์การปกครองท้องถิ่นได้อีกประมาณ 40-50%
ในส่วนของโครงการสาธิตการพัฒนาระบบก๊าซชีวภาพจากขยะในระดับชุมชนของเทศบาลเมืองทุ่งสง ซึ่งเป็นหนึ่งในห้าแห่ง ปัจจุบันมีปริมาณขยะประมาณ 20-30 ตันต่อวัน สถานที่ตั้งระบบผลิตก๊าซชีวภาพจากขยะ อยู่ในบริเวณโรงฆ่าสัตว์ของเทศบาล เพื่อจะสามารถนำก๊าซชีวภาพไปใช้กับเตาหุงต้มในโรงฆ่าสัตว์และตามครัวเรือนของพนักงานในเบื้องต้นคาดว่าจะมีขยะอินทรีย์เข้าระบบไม่ต่ำกว่าวันละ 15 ตัน ซึ่งช่วยลดค่าใช้จ่ายในการนำขยะไปกำจัดที่เทศบาลนครนครศรีธรรมราชซึ่งห่างจากเทศบาลเมืองทุ่งสงประมาณ 60 กม. โดยมีค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะสูงถึง 530 บาทต่อตัน คิดเป็นมูลค่าวันละ 7,950 บาท และนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนก๊าซหุงต้มได้ คิดเป็นเงินวันละ 4,800 บาท ซึ่งคิดเป็นผลตอบแทนรวมวันละ 12,750 บาท หรือมีระยะเวลาคืนทุนประมาณ 1.26 ปี ดังนั้นแนวทางที่จะให้โครงการนี้บรรลุเป้าหมายจะต้องประสานงานกับเทศบาลคัดแยกขยะอินทรีย์นำเข้ามาเข้าระบบผลิตก๊าซชีวภาพนี้ให้มากที่สุด เพื่อให้ระบบผลิตก๊าซชีวภาพดำเนินการได้มีประสิทธิภาพสูงสุด และยังสามารถช่วยแก้ไขปัญหาน้ำเสียจากโรงฆ่าสัตว์ได้อีกด้วย
ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานได้กำหนดนโยบายพลังงานทดแทนให้เพิ่มขึ้นจากเดิมอีก เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการใช้พลังงานในอนาคต โดยกำหนดเป้าหมายในการใช้พลังงานทดแทน ในปี 2565 ให้มีสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนให้ได้ 13.8% หรือคิดเป็น 15,885 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ โดยปัจจุบันมีสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนอยู่ที่ 4.7 % เทียบเท่าการทดแทนพลังงานได้ 3,160 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ และลดก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 9.7 ล้านตัน