"มนัญญา" เปิดงานสัมมนา"ทุเรียนไทย ทุเรียนคุณภาพ (Premium Thai Durian)" สั่งกรมวิชาการเกษตร ตั้งหน่วยเฉพาะกิจ "ระดับกรม" ขึ้นตรงอธิบดี ลุยตรวจสอบทุเรียนต้องได้คุณภาพ ปราบปรามทุเรียนสวมสิทธิ์ขั้นเด็ดขาด พร้อมเน้นย้ำทุกภาคส่วนร่วมทำงานอย่างใกล้ชิดเพื่อยกระดับคุณภาพและมาตรฐานทุเรียนส่งออก อธิบดีกรมวิชาการเกษตรเผยส่งข้อมูลทะเบียนสวนรูปแบบรหัสใหม่ที่ขึ้นทะเบียนแล้วเสร็จ 100 เปอร์เซ็นต์ให้จีนแล้ว
นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานกล่าวเปิดการสัมมนา "ทุเรียนไทย ทุเรียนคุณภาพ" โดยได้เน้นย้ำทุเรียนไทยต้องมีคุณภาพรักษาภาพลักษณ์ห้ามสวมสิทธิ์ สั่งกรมวิชาการเกษตรตั้งหน่วยเฉพาะกิจ "ระดับกรม" ขึ้นตรงอธิบดี ลุยตรวจสอบทุเรียนต้องได้คุณภาพ ปราบปรามทุเรียนสวมสิทธิ์ขั้นเด็ดขาด ผู้ประกอบการและเกษตรกรต้องยกระดับคุณภาพและมาตรฐานทุเรียนส่งออก ผลผลิตต้องผลิตจากสวนมาตรฐาน GAP ที่กรมวิชาการเกษตรเปลี่ยนใบรับรอง GAP รูปแบบใหม่ครบ 100 เปอร์เซ็นต์ ทั่วประเทศแล้ว โดยการสัมมนาในครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจากสมาคมผู้ประกอบการพืชผักผลไม้ไทย สมาคมทุเรียนไทย สมาคมตัวแทนขนส่งทางอากาศไทย สภาหอการค้าไทย สมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย ผู้ประกอบการ และ เกษตรกรร่วมจัดงานเพื่อยกระดับความร่วมมืออย่างใกล้ชิด
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า การบริหารการส่งออกทุเรียนตลอดSupply Chain ต้องร่วมมือกันทุกภาคส่วนจึงจะ ส่งผลต่อความสามารถในการส่งออก เป็น "ทุเรียนไทย ทุเรียนคุณภาพ (Premium Thai Durian)" โดยได้มอบนโยบาย ในการสัมมนา ดังนี้
1. กรมวิชาการเกษตรขึ้นทะเบียน และต่ออายุสวน GAP ให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน และสร้างการรับรู้ด้านการผลิตที่มีคุณภาพ และได้ส่งข้อมูลทะเบียนสวนในรูปแบบรหัสใหม่ที่กรมวิชาการเกษตรขึ้นทะเบียนแล้วเสร็จ 100 เปอร์เซ็นต์ให้จีนแล้ว
2. เพิ่มขีดความสามารถพร้อมยกระดับมาตรฐานโรงรวบรวมและคัดบรรจุทุเรียนสดเพื่อส่งออกเป็นทุเรียนคุณภาพได้มาตรฐาน ไม่เป็นทุเรียนอ่อนมาจากสวนของเกษตรกรในประเทศไทย ตรวจติดตามแหล่งที่มาได้
3. การตรวจและรับรองสุขอนามัยพืชของทุเรียนสดต้องเป็นตามข้อตกลงพิธีสารการส่งออกผลไม้ไทย-จีน
4. การแลกเปลี่ยนข้อมูลรับรองสุขอนามัยพืช ระหว่างกระทรวงเกษตรของไทยและกระทรวงศุลกากรเกษตรของจีน (GACC) เช่น ทะเบียนโรงคัดบรรจุ (DOA) ทะเบียน GAP รูปแบบใหม่ ซึ่ง GACC ได้พิจารณาอนุมัติ และกำหนดให้ใช้รหัสใหม่ตั้งแต่ วันที่ 26 ธันวาคม 2565 และการพัฒนาแลกเปลี่ยนข้อมูลใบรับรองสุขอนามัยพืชอิเล็กทรอนิกส์
5. มอบหมายให้ทูตเกษตรไทยในจีนทั้ง 3 หน่วยงาน มีการติดตามสถานการณ์นำเข้า ณ ประเทศจีน และการตรวจสอบย้อนกลับ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและอำนวยความสะดวกให้กับการส่งออกทุเรียนไทย
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมวิชาการเกษตรได้ขับเคลื่อนนโยบายการผลิตทุเรียนคุณภาพเพื่อการส่งออก ได้มาตรฐานไปจีน จึงได้จัดเสวนา เรื่อง"ทุเรียนคุณภาพ ทิศทาง โอกาส และความท้าทาย" โดยมีนายภัสชญภณ หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ผู้แทน มกอช. ทูตเกษตรประจำประเทศจีน (ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กว่างโจว) ร่วมเสวนา และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น สร้างความเข้าใจกระบวนการตรวจสอบคุณภาพและรับรองสุขอนามัยพืชสำหรับการส่งออกทุเรียนทั้งระบบ สถานการณ์ทุเรียนไทยในตลาดจีน
ทั้งนี้ในปี 2565 กรมวิชาการเกษตร ได้ทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายทางการส่งออก เพิ่มขีดความสามารถในการส่งออก รักษาตลาดการส่งออกทุเรียนสดไทย ตั้งแต่กระบวนการผลิตที่ต้องผ่านมาตรฐาน GAP การตัดทุเรียนคุณภาพ การรวบรวม และคัดบรรจุมีคุณภาพได้มาตรฐานและตรวจสอบทุเรียนประเทศเพื่อนบ้านมาสวมสิทธิทุเรียนไทยต้องเป็น "Zero สวมสิทธิ" สามารถติดตามและทวนสอบมาตรการตรวจสอบคุณภาพและรับรองสุขอนามัยพืชสำหรับทุเรียนส่งออกไปจีน ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม
"การสัมมนาในครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งในการส่งออกทุเรียนไทย สร้างการรับรู้ให้เกษตรกรตระหนักถึงความสำคัญของ GAP เพื่อการผลิตทุเรียนคุณภาพ กรมวิชาการเกษตรได้จัด "GAP เคลื่อนที่" เพื่อให้บริการรวดเร็ว ทั่วถึง พร้อมทั้งสร้างความตระหนักให้เกษตรกรมีความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค โดยไม่ตัดทุเรียนอ่อนมาจำหน่าย ยกระดับมาตรฐานโรงคัดบรรจุทุเรียนสดเพื่อการส่งออก โดยจัดกลุ่มโรงคัดบรรจุตามสมรรถนะจริง นำหลักการบริหารความเสี่ยงมาใช้ในการดำเนินการรับรองคุณภาพและตรวจสอบด้านสุขอนามัยพืช ณ โรงคัดบรรจุ" อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว