สัตวแพทย์ ม.เกษตรฯ แนะวิธีป้องกันโรคไข้หูดับ เน้นแยกอุปกรณ์คีบระหว่างเนื้อสุก-ดิบออกจากกัน โดยเฉพาะในการทาน ชาบู-หมูกระทะ ย้ำปรุงสุกเท่านั้น เน้นเลือกซื้อเนื้อสัตว์จากผู้ผลิตและแหล่งจำหน่ายที่น่าเชื่อถือ ได้รับการรับรองจากหน่วยงานภาครัฐ สังเกตสัญลักษณ์ "ปศุสัตว์ OK" เพื่อยกระดับความปลอดภัย
ผศ.น.สพ.ดร. อลงกต บุญสูงเนิน ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายชันสูตรโรคสัตว์ กำแพงแสน คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีการเผยแพร่เรื่องของผู้ป่วยที่เชื่อว่าเป็นโรคไข้หูดับ จากการรับประทานหมูกระทะ แต่ไม่ได้เปลี่ยนตะเกียบคีบหมูดิบ ล่าสุด แพทย์จากสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ ให้ข้อมูลว่ากรณีดังกล่าวไม่ได้เป็นโรคไข้หูดับ หรือ Streptococcus suis แต่เกิดจากการติดเชื้อที่มีชื่อคล้ายกันคือ Streptococcus agalactiae หรือ Streptococcus group B อย่างไรก็ตาม ไข้หูดับ ยังคงเป็นโรคที่ผู้บริโภคต้องเฝ้าระวังและสามารถป้องกันได้
"ไข้หูดับ เป็นโรคที่ไม่ติดต่อระหว่างคนสู่คน แต่เกิดจากการรับเชื้อที่ปนเปื้อนในอาหาร หรืออยู่ในผลิตภัณฑ์จากเนื้อสุกร ซึ่งโอกาสเกิดขึ้นไม่มาก การป้องกันคือต้องระวังพฤติกรรมในการบริโภค โรคนี้มีรายงานว่าสัมพันธ์กับพฤติกรรมการกินอย่างมาก โดยเฉพาะผู้ที่ชื่นชอบการทานเนื้อสุกรดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ หรือมีการใส่เลือดเข้าไป อาทิ ลาบ ลู่ หมู-ตับหมก ซอยจุ๊ ที่เพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อ Streptococcus suis จนเกิดไข้หูดับได้ ดังนั้นต้องทานอาหารที่ปรุงสุกเท่านั้น ส่วนผู้ที่ต้องสัมผัสกับเนื้อสุกรดิบโดยตรงก็ควรสวมอุปกรณ์ป้องกัน โดยเฉพาะบริเวณผิวหนังที่มีแผล ซึ่งเสี่ยงติดเชื้อได้ง่าย" ผศ.น.สพ.ดร. อลงกต บุญสูงเนิน กล่าว
สำหรับเกษตรกรผู้ทำงานในฟาร์มเลี้ยงสุกร หรือพ่อค้า-แม่ค้าเนื้อสุกร ซึ่งมีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อโรคไข้หูดับมากกว่าคนทั่วไป ควรสวมรองเท้าบูทยาง สวมถุงมือ หากมีบาดแผลต้องปิดแผลให้มิดชิด ควรล้างมือล้างเท้าให้สะอาดทุกครั้งหลังสัมผัสสุกรหรือเนื้อสุกร ส่วนผู้บริโภค ที่ชื่นชอบชาบู หรือหมูกระทะ อุปกรณ์และภาชนะในการใช้รับประทานอาหาร ต้องเน้นย้ำเรื่องสุขอนามัยในการใช้อุปกรณ์ร่วม ระหว่างเนื้อที่สุกแล้วกับเนื้อที่ยังไม่สุก หากใช้ร่วมกันจะทำให้เกิดการสัมผัสกันระหว่างเชื้อจากเนื้อที่ยังไม่สุกได้ แนะนำให้แยกอุปกรณ์ที่คีบระหว่างเนื้อที่ปรุงสุกแล้วกับที่เนื้อที่ยังดิบอยู่ และต้องปรุงสุกด้วยอุณหภูมิ 60-80 องศาเซลเซียส เพื่อให้มั่นใจว่าจะได้รับประทานอาหารที่ปลอดภัยและปลอดโรค
"การเลือกซื้อเนื้อสุกรที่ปลอดภัยเป็นสิ่งที่สำคัญ เนื้อสุกรต้องมาจากฟาร์มมาตรฐาน และร้านจำหน่ายมีสัญลักษณ์ "ปศุสัตว์ OK" ที่กรมปศุสัตว์รับรองความปลอดภัยตลอดกระบวนการผลิต ซึ่งกรมฯ มีการส่งเสริมและเข้าตรวจสอบฟาร์มอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ผู้บริโภคจึงมั่นใจได้ว่า เนื้อสุกรมีความปลอดภัยอย่างแน่นอน นอกจากนี้ ควรสังเกตลักษณะของเนื้อสุกร ต้องเป็นสีธรรมชาติ มีสีอมชมพู ไม่เข้มหรือซีดเกินไป มีความฉ่ำน้ำแต่ต้องไม่เหลวหรือแข็งเกินไป และสังเกตรอยโรค หรือลักษณะผิดปกติ เช่น เป็นก้อนเนื้อ ก้อนเลือด หรือจุดหนอง ลักษณะแบบนี้ไม่ควรเลือกซื้อ เพราะมีโอกาสที่จะมีการปนเปื้อนของเชื้อโรคได้ และควรเก็บรักษาเนื้อสุกรที่อุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียสเป็นอย่างน้อย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเพิ่มจำนวนขึ้นของเชื้อที่อาจจะปนเปื้อนมา" ผศ.น.สพ.ดร. อลงกต บุญสูงเนิน กล่าวทิ้งท้าย