พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลีฯ ทรงอ่านสังวัธยายพระไตรปิฎกสากลถวายพระราชกุศลแด่ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ

ข่าวทั่วไป Wednesday April 9, 2008 10:39 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 เม.ย.--กทม.
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จทรงเป็นประธานในพิธีอ่านสังวัธยายพระไตรปิฎกสากล ถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในวาระเสด็จสู่สวรรคาลัยบรรจบครบ 100 วัน ณ ลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร
กรุงเทพมหานคร ร่วมกับกองทุนสนทนาธัมน์นำสุข ท่านผู้หญิง ม.ล.มณีรัตน์ บุนนาค ในพระสังฆราชูปถัมภ์สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก กำหนดจัดงานสวดพระไตรปิฎกสากลขึ้น เพื่อถวายเป็นพระกุศลแด่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในโอกาสเสด็จสู่สวรรคาลัยบรรจบครบ 100 วัน ในการนี้ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จเป็นประธาน พร้อมนำสวดพระไตรปิฎกสากล (ภาษาไทย) บทสุดท้าย และทอดพระเนตรนิทรรศการสวดสังวัธยายพระไตรปิฎกสากล ณ พุทธคยา ซึ่งจัดขึ้นบริเวณห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ด้วย
พระไตรปิฎกสากลฉบับสังคายนาสากลที่จัดพิมพ์ใหม่ในประเทศไทย เริ่มดำเนินการเมื่อปี พ.ศ. 2498-2500 โดยพระภิกษุสงฆ์เถรวาทผู้ทรงความรู้พระไตรปิฎกบาลีจากทั่วโลกได้ร่วมประชุมสังคายนาระดับนานาชาติครั้งสำคัญของโลก ณ กรุงย่างกุ้ง ประเทศสหภาพพม่า โดยสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ได้ทรงเป็นผู้แทนในคณะสงฆ์จากประเทศไทย และเสด็จไป ทรงร่วมประชุมสังคายนาด้วยพระไตรปิฎกบาลีฉบับนี้ คือ ฉบับ “ฉัฎฐสังคีติ”
จากนั้น สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก จึงทรงให้ดำเนินการนำต้นฉบับดังกล่าวมาตรวจทานและปรับปรุงการพิมพ์ให้เป็นมาตรฐานสากลทั้งชุด จำนวน 40 เล่ม โดยใช้เวลารวมประมาณ 6 ปี (พ.ศ. 2542-2548) จึงแล้วเสร็จ และได้ประทานนามพระไตรปิฎกชุดใหม่นี้เป็นภาษาไทยว่า “มหาสังคายนาสากลนานาชาติ พ.ศ. 2500” ซึ่งพระไตรปิฎกฉบับนี้ ถือเป็นพระไตรปิฎกภาษาบาลีฉบับสากลต้นฉบับการสังคายนาระดับนานาชาติจัดพิมพ์ด้วยอักษรโรมันที่สมบูรณ์ชุด 40 เล่ม ชุดแรกของโลก
ต่อมาในปี พ.ศ. 2548 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเป็นองค์ประธานกิตติมศักดิ์การพระราชทานและประดิษฐานพระไตรปิฎกสากลอักษรโรมันในนานาประเทศ อาทิ ทำเนียบประธานาธิบดีแห่งศรีลังกา ศาลรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หอสมุดมหาวิทยาลัยอุปซาลา สวีเดน รัฐสภาแห่งศรีลังกา สมาคมพุทธศาสนาเถรวาทญี่ปุ่น มหาวิทยาลัยโคมาซาวา ญี่ปุ่น และศาลยุติธรรมระหว่างประเทศเนเธอร์แลนด์ และได้ทรงโปรดให้จัดพิมพ์พระไตรปิฎกชุดพิเศษ พร้อมหนังสือพระไตรปิฎกบาลีอักษรโรมัน และหนังสือพระไตรปิฎกศึกษาอ้างอิง นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี
จากนั้นในปี 2550 สมาคมมหาโพธิแห่งประเทศอินเดีย ซึ่งเคยได้รับพระไตรปิฎกชุดพระราชทานจากสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ได้ขอให้ประเทศไทยจัดพิมพ์พระไตรปิฎกสากลอักษรโรมันเป็นฉบับพิเศษ สำหรับมอบให้พระสงฆ์เถรวาทจากนานาประเทศทั่วโลก 600 รูป ได้ใช้สวดในพิธีสวดสังวัธยายพระไตรปิฎกประจำปีโดย “สังวัธยาย” แปลว่า “การเปล่งเสียงพร้อมกัน” การสังวัธยายพระไตรปิฎกบาลี จึงเป็นการเปล่งเสียงสวดพระไตรปิฎกร่วมกันเป็นภาษาบาลี การถวายเสียงเป็นพุทธบูชาจึงเป็นเหตุแห่งอานิสงส์ อันล้ำเลิศ ทั้งนี้พิธีดังกล่าวจัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-22 ก.พ. 51 ที่ผ่านมา ซึ่งพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ได้เสด็จเป็นประธานในงานประทานพระไตรปิฎกสากล ฉบับสวดสังวัธยายแก่สมาคมมหาโพธิแห่งประเทศอินเดีย เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ด้วย
ในพิธีอ่านพระไตรปิฎกครั้งนี้มีการคัดเลือกบทพุทธพจน์จากพระไตรปิฎกสากลชุดดังกล่าว สำหรับอ่านออกเสียงสังวัธยายเป็นภาษาบาลี และภาคแปลเป็นภาษาไทย รวมสามบท คือ บทแรก “ศรัทธาในพระตถาคต” บทที่สอง “พระธัมมนครที่สันติและมั่นคง” และบทสุดท้าย “เดชแห่งพระพุทธเจ้า”

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ