กรุงเทพฯ--9 เม.ย.--กทม.
ผลวิจัยมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ สอบถามชาวกรุงเทพที่มีต่อการบริหารตามนโยบายของกรุงเทพมหานคร กว่า 1 หมื่นคนทั่วกรุงเทพฯ พบพึงพอใจค่อนข้างมาก ส่วนใหญ่ชอบโครงการโรงเรียนต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง โครงการไบโอดีเซล โครงการคอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษา โครงการชุมชนพึ่งตนเองตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง และโครงการศูนย์ส่งเสริมการบริหารเงินออมครอบครัว
ผลการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร โดยมี ดร.วัลลภ สุวรรณดี รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเกี่ยวกับผลสำรวจความพึงพอใจของชาวกรุงเทพมหานครที่มีต่อการบริหารตามนโยบายของกรุงเทพมหานคร โดยศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ สำรวจระหว่างวันที่ 25—31 ม.ค. 51 โดยสอบถามชาวกรุงเทพฯ จากทุกเขตกระจายตามอาชีพต่างๆ จำนวน 10,770 คน พบว่า ความพึงพอใจของชาวกรุงเทพฯ ที่มีต่อการบริหารตามนโยบายของกรุงเทพมหานครโดยรวมอยู่ใน “ระดับค่อนข้างมาก” ซึ่งมีความพึงพอใจโดยรวมเฉลี่ยเท่ากับ 3.70 จาก 5.00 (คิดเป็นร้อยละ 74.00)
สำหรับโครงการที่ชาวกรุงเทพมหานครพึงพอใจสูงสุด 5 อันดับแรก คือ โครงการโรงเรียนต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวพระราชดำริ (พึงพอใจเฉลี่ย 3.89) โครงการไบโอดีเซล พลังงานเพื่ออนาคต (พึงพอใจเฉลี่ย 3.84) โครงการคอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษา (พึงพอใจเฉลี่ย 3.80) โครงการชุมชนพึ่งตนเอง ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง (พึงพอใจเฉลี่ย 3.80) และโครงการศูนย์ส่งเสริมการบริหารเงินออมครอบครัว (พึงพอใจเฉลี่ย 3.78) ส่วนโครงการที่ชาวกรุงเทพฯ รับรู้มากที่สุด 5 อันดับแรก คือ โครงการรถไฟฟ้ากรุงเทพมหานคร เร่งรัดส่วนต่อขยายขนส่งมวลชนระบบราง เพื่อการแก้ปัญหาจราจรอย่างบูรณาการและยั่งยืน (ร้อยละ 87.72) โครงการไบโอดีเซล พลังงานทดแทนเพื่ออนาคต (ร้อยละ 87.50) โครงการเพิ่มพื้นที่สีเขียว (ร้อยละ 86.46) โครงการควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (ร้อยละ 86.40) โครงการส่งเสริมสุขภาพคนเมืองด้วยกีฬา (ร้อยละ 83.72) โครงการที่ชาวกรุงเทพฯ เคยใช้บริการมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ โครงการคอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษา (ร้อยละ 20.09) โครงการกรุงเทพฯ เมืองอาหารปลอดภัย (ร้อยละ 18.53) โครงการสายตรวจเพื่อนชุมชน (ร้อยละ 18.40) โครงการศูนย์ส่งเสริมการบริหารเงินออมครอบครัว (ร้อยละ 18.32) โครงการบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขแนวใหม่มาตรฐานสากล (ร้อยละ 17.54)
สำหรับความพึงพอใจของชาวกรุงเทพฯ ที่มีต่อการให้บริการของสำนักงานเขตโดยรวมอยู่ใน “ระดับปานกลาง” ซึ่งมีความพึงพอใจโดยรวมเฉลี่ยเท่ากับ 3.35 จาก 5.00 (คิดเป็นร้อยละ 67.00) ส่วนใหญ่เป็นการให้บริการด้านงานทะเบียน และการจัดเก็บภาษีและรายได้ต่างๆ ด้านเรื่องที่ดีที่สุด 5 ลำดับแรกของกรุงเทพมหานคร ที่ชาวกรุงเทพฯ เอ่ยถึงในรอบปี พ.ศ. 2550 คือ รถไฟฟ้า (BTS) / รถไฟฟ้าใต้ดิน (MRT) (ร้อยละ 20.09) สวนสาธารณะ / พื้นที่สีเขียว (ร้อยละ 14.81) ต้นไม้ในบริเวณต่างๆ / การรณรงค์ปลูกต้นไม้ (ร้อยละ 8.37) สะพานและอุโมงค์ข้ามแยก (ร้อยละ 7.86) ความสะอาดบริเวณถนน/ซอย/ตรอก (ร้อยละ 6.80) ผลงานของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร 5 ลำดับแรกที่ชาวกรุงเทพฯ นึกถึงมากที่สุดในรอบปี พ.ศ. 2550 คือ สวนสาธารณะ/พื้นที่สีเขียว (ร้อยละ 12.15) การป้องกันและแก้ปัญหาน้ำท่วม / ระบบระบายน้ำ (ร้อยละ 10.37) รถไฟฟ้าลอยฟ้า (BTS) / รถไฟฟ้าใต้ดิน (MRT) (ร้อยละ 10.01) การศึกษา (ร้อยละ 9.37) สะพานและอุโมงค์ข้ามแยก (ร้อยละ 8.31)
เรื่องที่ชาวกรุงเทพฯ เห็นว่าควรปรับปรุงแก้ไขมากที่สุด 5 ลำดับแรก คือ การจราจรทางบก / พื้นผิวจราจร (ร้อยละ 36.94) มลภาวะทางอากาศ (ร้อยละ 9.47) การจัดการขยะมูลฝอย / การคัดแยกขยะ / การเพิ่มจำนวนถังขยะ (ร้อยละ 7.99) การประทุษร้ายต่อชีวิตและทรัพย์สิน / อาชญากรรม / การเพิ่มกล้องวงจรปิด (CCTV) (ร้อยละ 7.71) น้ำท่วม / ระบบระบายน้ำ (ร้อยละ 5.35) และโครงการที่ควรเร่งประชาสัมพันธ์ ซึ่งเป็นโครงการที่มีลักษณะที่สำคัญ ได้แก่ โครงการที่มีร้อยละของการไม่เคยรับรู้หรือไม่เคยใช้บริการสูง โครงการที่เกี่ยวข้องกับประชาชนโดยส่วนใหญ่ โครงการที่มีส่งผลต่อความรู้สึกของประชาชน