มกอช. ติวเข้มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการ ใช้งานระบบ QR Trace on Cloud และ DGTFarm.com เดินหน้าขับเคลื่อนสร้างความเชื่อมั่นคุณภาพมาตรฐาน ความปลอดภัยและการตามสอบได้
นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ผู้บริโภคให้ความสำคัญในเรื่องคุณภาพ มาตรฐาน และความปลอดภัยของสินค้าเกษตรและอาหารเป็นอย่างมาก ผู้ผลิตจึงมีความจำเป็นต้องใช้ระบบตามสอบสินค้าเกษตร มกอช. ตระหนักถึงสิ่งต่างๆ ดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง จึงได้มีการพัฒนาระบบตามสอบสินค้าเกษตรบนระบบคลาวด์ (QR Trace on Cloud) ซึ่งเป็นการพัฒนาต่อยอดจาก QR Trace ให้ระบบรองรับการใช้งานครอบคลุม ทั้งสินค้ากลุ่มพืช ผัก/ผลไม้ กลุ่มสินค้าข้าว สินค้าไข่ สินค้าประมง สินค้าปศุสัตว์ และสินค้าแปรรูป/อาหาร และเริ่มสร้างความเข้าใจและผลักดันให้ใช้ระบบ QR Trace on Cloud ตั้งแต่ปี พ.ศ.2560 จนถึงปัจจุบัน มีผู้สนใจลงทะเบียนกว่า 2,300 ราย รวมทั้งได้พัฒนาเว็บไซต์สินค้าเกษตรมาตรฐาน- ออนไลน์ (DGTFarm) ที่ทำหน้าเป็นสื่อกลางในการจับคู่สินค้าที่ผู้ผลิตและผู้ประกอบการต้องการขายกับสินค้าที่ผู้บริโภคต้องการซื้อ ให้ตรงตามความต้องการของทั้งสองฝ่ายซึ่งสามารถช่วยสร้างโอกาสทางการค้าให้แก่ผู้ผลิตและผู้ประกอบการ รวมถึงสร้างโอกาสให้แก่ ผู้ซื้อและผู้ประกอบการที่ต้องการสินค้าดีมีคุณภาพ ปัจจุบันผู้สมัครลงทะเบียนเข้าใช้งานในตลาด DGTFarm จำนวนกว่า 3,100 ราย
ทั้งนี้ การใช้งานระบบ QR Trace on Cloud และเว็บไซต์ DGTFarm จะช่วยส่งเสริมสนับสนุนการผลิตสินค้าคุณภาพให้สามารถสร้างความแตกต่างจากสินค้าอื่นๆ จึงยังมีผู้สนใจและต้องการ นำระบบไปใช้จำนวนมาก เช่น เกษตรกร/กลุ่มเกษตรกร ในจังหวัดต่างๆ ที่ต้องการสร้างมูลค่าเพิ่มในสินค้าเกษตรที่ผลิต ดังนั้น มกอช. จึงได้จัด "โครงการอบรมการใช้งานระบบตามสอบสินค้าเกษตรบนระบบคลาวด์ (QR Trace on Cloud) และเว็บไซต์สินค้าเกษตรมาตรฐาน-ออนไลน์ (DGTFarm)" เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้งานระบบตามสอบสินค้าเกษตรบนระบบคลาวด์ (QR Trace on Cloud) และเว็บไซต์สินค้าเกษตรมาตรฐาน-ออนไลน์ DGTFarm สำหรับผู้ผลิตที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (Organic Thailand) มาตรฐานการปฏิบัติที่ดีสำหรับกระบวนการผลิต (GMP) ได้แก่ เกษตรกรรายเดี่ยว กลุ่มเกษตรกร กลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มสหกรณ์ และผู้ประกอบการ
"การอบรมในครั้งนี้ จะช่วยให้ผู้ผลิตเพิ่มศักยภาพและความโดดเด่นในการผลิตสินค้าเกษตร เป็นการสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการในภาคการเกษตรและอาหารของไทยให้สามารถแข่งขันทางการค้าและสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งเป็นการขับเคลื่อนการสร้างความเชื่อมั่นด้านคุณภาพมาตรฐาน ความปลอดภัยและการตามสอบได้ และสอดรับกับการดำเนินการภายใต้นโยบายตลาดนำการผลิต ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์"เลขาธิการ มกอช. กล่าว