พบเด็กอ้วนเกือบ 400 ล้านคนทั่วโลก สสส. สานพลัง กทม. - ภาคีเครือข่าย เดินหน้าโครงการอย่าปล่อยให้เด็กอ้วน ปี 4 ผุด 23 โรงเรียนต้นแบบ ทำสื่อสร้างสรรค์ รณรงค์ลดหวาน มัน เค็ม เตรียมขยายผลส่งต่อโรงเรียนทั่วประเทศ
แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร, สำนักโภชนาการ, กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข, สำนักงานบริหารแผนงานอาหารและโภชนาการ, เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน , เครือข่ายคนไทยไร้พุง และเครือข่ายลดบริโภคเค็ม จัดกิจกรรมรณรงค์โครงการอย่าปล่อยให้เด็กอ้วน The New normal ลดหวาน มัน เค็ม เพิ่มผัก และผลไม้ ปี 4 พร้อมประกาศผลและมอบรางวัลถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กทม. มีการทำงานเชิงรุก ยกระดับมาตรฐานโภชนาการเพื่อทำให้โรงเรียนเป็นแหล่งโภชนาการที่มีคุณภาพ โดยได้ปรับเปลี่ยนหลักการจัดโภชนาการในโรงเรียนโดยคำนึงถึง 3 เรื่องสำคัญ คือ 1.เน้นคุณภาพอาหารโภชนาการ ครบ 5 หมู่ 2.คุณภาพอาหารเช้า / กลางวัน ให้โรงเรียนดำเนินการตามระบบ Thai School Lunch for BMA 3.จัดให้ในแต่ละมื้อได้รับอาหารที่มีประโยชน์ สะอาด ถูกหลักโภชนาการ ประกอบด้วยผักผลไม้ ลด หวานมัน เค็ม และมีปริมาณเพียงพอ โดย กทม. ได้ผลักดันให้โรงเรียนเป็นตัวกลางแจกจ่ายอาหารให้กับนักเรียนและชุมชน และจะร่วมกับภาคเอกชนและภาคประชาสังคมออกแบบเมนูอาหารสร้างสรรค์ ที่นักเรียนสามารถเลือกอาหารที่ต้องการได้ แต่ต้องคำนึงถึงคุณค่าทางอาหารครบถ้วนตามหลักโภชนาการ และจัดทำอาหารที่สอดคล้องกับความต้องการของบริบทและสิ่งแวดล้อมตามโรงเรียนแต่ละพื้นที่
นายสง่า ดามาพงษ์ ที่ปรึกษากรมอนามัย และอุปนายกสมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทย กล่าวว่า รายงาน World Obesity Federation ปี 2565 พบว่าทั่วโลกมีคนเป็นโรคอ้วนประมาณ 800 ล้านคน จำนวนนี้มี 39 ล้านคน เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และอีกประมาณ 340 ล้านคน เป็นเด็กและวัยรุ่น 5 - 19 ปี ขณะที่รายงาน Health Data Center (HDC) กระทรวงสาธารณสุข ปี 2565 พบเด็กวัย 6 - 14 ปี มีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 11.7 ในปี 2561 เป็นร้อยละ 12.4 ในปี 2564 และปี 2565 พบเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 13.7 โดยพบว่าเด็กวัยรุ่นวัย 15 - 18 ปี ร้อยละ 13.1 อ้วนเกินค่าเป้าหมายที่กำหนดจากพฤติกรรมการกินที่ไม่เหมาะสม
"หากปล่อยให้เด็กอ้วนเกิดขึ้นโดยไม่ควบคุม จะทำให้เด็กโตเป็นผู้ใหญ่อ้วน ร้อยละ 80 ปัญหาเกิดจากพฤติกรรมการกินอาหารไม่มีประโยชน์ การให้ความรู้และความเข้าใจกับเด็ก ผู้ปกครอง เป็นเรื่องที่สำคัญ แต่ที่ผ่านมาพบว่า การสื่อสารเรื่องนี้ยังใช้สื่อแบบเดิม ไม่ทันสมัย ไม่เข้าถึงเด็กได้ลึกพอ ครั้งนี้จึงมีนักโฆษณา ครีเอทีฟมืออาชีพมาให้คำปรึกษากับครูตลอดโครงการ โดยให้เด็กได้ลงมาเป็นผู้สร้างสรรค์สื่อด้วยตัวเองด้วย คาดว่าเมื่อทำต่อเนื่อง จะทำให้เด็กเข้าใจโภชนาการทางอาหารเพิ่มขึ้น และทำให้โรคอ้วนและขาดสารอาหารมีแนวโน้มลดลง"
นางเบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร ผู้ช่วยผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า "โรคอ้วน" หรือ ภาวะโภชนาการเกินในเด็กวัยเรียน เป็นปัจจัยเสี่ยงและปัญหาสาธารณสุขที่ต้องร่วมแก้ไข เพราะเด็กที่เป็นโรคอ้วนตั้งแต่อายุน้อย เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ 1 ใน 4 คน มีโอกาสเป็นโรคอ้วน และหากเด็กอ้วนไปถึงวัยรุ่น มีความเสี่ยงสูงที่ 3 ใน 4 คน จะป่วยในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs ส่วนเด็กที่ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอตามเกณฑ์โภชนาการ จะเสี่ยงเกิดภาวะ "ทุพโภชนาการ" น้ำหนักน้อย เตี้ย ผอม แคระแกร็น ส่งผลกระทบต่อร่างกายและพัฒนาการ ขณะที่สถานการณ์โควิด-19 ทำให้เด็กต้องเรียนออนไลน์ ไม่มีกิจกรรมทางกาย ดังนั้น สสส. จึงเร่งผลักดันพัฒนา "นักสื่อสารสุขภาวะ" เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการป้องกันปัญหาโรคอ้วนในเด็กและเยาวชน
"สื่อถือเป็นเครื่องมืออันทรงพลังในการนำมาสร้างเสริมสุขภาพ สามารถสร้างความรู้ความเข้าใจ แรงบันดาลใจ และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมรวมถึงการพัฒนาครูและนักเรียน สู่การเป็นนักสื่อสารสุขภาวะที่มีทักษะเท่าทันสื่อ ร่วมสื่อสารประเด็นสุขภาพผ่านการพัฒนากระบวนการสื่อสาร และกิจกรรมสร้างสรรค์ในโรงเรียน เพื่อช่วยลดปัญหาโรคอ้วนในเด็กและเยาวชนได้ ซึ่งโรงเรียนสังกัด กทม. เป็นอีกเป้าหมาย ที่สามารถร่วมเป็นพลังขับเคลื่อน และเป็นโรงเรียนต้นแบบเรื่องการป้องกันเด็กที่มีภาวะน้ำหนักเกินเกณฑ์ จนขยายผลไปทั่วประเทศได้"
ดร.ดนัย หวังบุญชัย ผู้จัดการแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. กล่าวว่า โครงการมีเป้าหมายสร้างเสริมสุขภาพในเด็กประถมและมัธยมศึกษา เขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล แม้ปีนี้จะต้องทำรูปแบบ The New normal แต่พบว่า 23 โรงเรียนต้นแบบ สร้างสรรค์สื่อนวัตกรรมออกมาได้น่าสนใจ และเพื่อเป็นกำลังใจ จึงคัดเลือกโครงการที่ตอบโจทย์วัตถุประสงค์ และเป้าหมายเป็นรูปธรรม สู่การเรียนการสอนได้จริงขึ้นมา เพื่อรับรางวัลสุดยอดโรงเรียนสร้างสรรค์สื่อนวัตกรรมรณรงค์ลดน้ำหนัก ส่งเสริมสุขภาพในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพฯ รับรางวัลถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
"ผลงานที่ได้จะเป็นต้นแบบสื่อที่ดี เป็นพี่เลี้ยงให้กับโรงเรียนอื่นๆ ยกระดับขยายพื้นที่ ผ่านการประยุกต์ใช้หลักสูตรต่างๆ ให้เหมาะสม เช่น โรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.), กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (อปท.) และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ผ่านการอบรมผู้บริหาร ครู และนักเรียนแกนนำ รูปแบบ Train for The Trainer เน้นกลุ่มนักเรียน ป.4 - 6 ใน 4 ภูมิภาค สร้างนักสื่อสารสุขภาวะ ที่พัฒนาสื่อเป็นนวัตกรรม ให้เหมาะสมกับสิ่งแวดล้อมแต่ละพื้นที่ ลดปัญหาโภชนาการระยะยาว โดยผู้ที่สนใจสามารถติดตามประกาศของโครงการได้ที่ www.artculture4health.com"
สำหรับปีนี้ โรงเรียนที่ได้รับรางวัลถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้แก่ โรงเรียนวัดปากบ่อ โรงเรียนที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ได้แก่ โรงเรียนวัดประชาระบือธรรม รองชนะเลิศอันดับที่ 2 ได้แก่ โรงเรียนวัดอินทราวาส รางวัลชมเชยได้แก่ โรงเรียนวัดบางบอน (พิมพ์ จัน แต้อุปถัมภ์) และโรงเรียนวัดจันทร์ประดิษฐาราม