Mitsubishi Electric จัดงานขอบคุณพันธมิตรเครือข่าย Digital Manufacturing Ecosystem ที่ร่วมกันสนับสนุนและผลักดันการปฏิรูปอุตสาหกรรมในประเทศไทยให้ขับเคลื่อนสู่โรงงานอัจฉริยะตามแนวทาง e-F@ctory & SMKL-Smart Manufacturing Kaizen Level ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ให้มีความพร้อมในการดึงดูดและจูงใจผู้ประกอบการทั่วโลกให้มาลงทุน และตอกย้ำความสำคัญของ System Integrator ด้วยความร่วมมือแบบ Ecosystem ในธุรกิจที่ต้องใช้เทคโนโลยีระดับสูง ด้วยการดึงศักยภาพของกลุ่มพันธมิตรทั้งไทยและญี่ปุ่นมาใช้เสริมสร้างความแข็งแกร่งในการจัดตั้งโครงข่ายการถ่ายทอดความรู้เทคโนโลยีขั้นสูง และการผลิตบุคลากรด้านระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์รองรับการใช้โซลูชันการผลิตอัจฉริยะ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและศักยภาพในการแข่งขันของอุตสาหกรรมการผลิตของประเทศไทยในระยะยาวต่อไป
ดร. อภิชาต ทองอยู่ ประธานคณะทำงานประสานงานด้านการพัฒนาบุคลากรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC HDC) กล่าวว่า "ด้วยความร่วมมือของ Mitsubishi Electric ตลอดจนพันธมิตร Ecosystem ทำให้ทุกวันนี้ EEC Automation Park ได้กลายเป็นเสาหลัก (Pillar) สำคัญในการศึกษาระบบออโตเมชั่นและหุ่นยนต์ให้กับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ไปจนถึงระดับ SME เพื่อจะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผลิตใน EEC และช่วยยกระดับการพัฒนาบุคลากรไปสู่ดิจิทัลแพลตฟอร์ม โดยใน EEC Model Type A ปัจจุบันได้มีการดึงเอาเครือข่ายของมหาวิทยาลัยทั่วประเทศเข้ามาด้วยนอกเหนือจาก 8 สถาบันในเขต EEC เพื่อปรับเปลี่ยนการศึกษาแบบเดิมมาสู่การศึกษารูปแบบใหม่ที่มีคุณค่า มีพลัง ตอบโจทย์ตรงตามทุกอุตสาหกรรมที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย และเรายังมี EEC Model Type B หรือหลักสูตรฝึกอบรมระยะสั้น (Short Courses) เพื่อผลิตกำลังคน ปรับทักษะ (Re-skill) เพิ่มทักษะ (Up-skill) ในระยะเร่งด่วน โดยอีอีซีจะสนับสนุน 50% ในทุกการฝึกอบรมที่จะยกระดับทักษะความรู้ ซึ่งจะเป็นโหมดสำคัญในการพัฒนาบุคลากรเข้าสู่โลกการผลิตยุคใหม่"
ดร. ชิต เหล่าวัฒนา ที่ปรึกษาพิเศษด้านพัฒนาการศึกษา บุคลากร และเทคโนโลยี โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เผยว่า "ปัจจุบันมีบริษัทสนใจเข้ามาลงทุนใน EEC เป็นจำนวนมาก ซึ่งเรากำลังวางเงื่อนไขในการพิจารณาบริษัทเหล่านั้นว่า ต้องการให้นำ Supply Chain ที่สามารถทำงานร่วมกับ Supply Chain ของประเทศไทยเข้ามาด้วย รวมถึงช่วยเรื่องการพัฒนาบุคลากร เพื่อที่จะถ่ายทอด Know-how ทักษะความรู้ความชำนาญให้กับทางเรา แม้ว่าเราจะไม่ได้เป็นเจ้าของเทคโนโลยี แต่ถ้ารู้ว่าจะนำไปใช้ประโยชน์ในธุรกิจหรืออุตสาหกรรมได้อย่างไรก็เท่ากับเราได้มูลค่ากลับมาแล้วครึ่งหนึ่ง และในปีหน้าจะมีบริษัทต่าง ๆ ที่เข้ามาลงทุน DATA Center ใน EEC ซึ่งทำให้เกิด DATA Industry และการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี ซึ่งผมเชื่อว่า ด้วยความสามารถที่หลากหลายของกลุ่มพันธมิตร Digital Manufacturing Ecosystem ของเราจะนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศไทย และภายในไตรมาสแรกของปีหน้า ผมมั่นใจว่าจะได้เห็นการลงทุนใน EEC กว่า 500,000 ล้านบาท ทั้งนี้ต้องขอขอบคุณ Mitsubishi Electric ที่เป็นตัวอย่างของสมาชิกที่ดีของสังคมไทย (Corporate Citizenship) ที่ร่วมจัดทำเครือข่าย Ecosystem เพื่อขับเคลื่อนนโยบาย Thailand 4.0 รวมถึงสร้าง Smart City ให้สำเร็จเร็วขึ้น"
การนำระบบออโตเมชั่นและหุ่นยนต์เข้าไปใช้งานได้หลากหลายในภาคอุตสาหกรรม ทำให้ความต้องการ System Integrator หรือ ผู้ทำหน้าที่ส่งมอบโซลูชันตามที่ลูกค้าองค์กรต้องการ ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบติดตั้งฮาร์ดแวร์และซอฟแวร์ บริการด้านระบบเครือข่าย บริการซ่อมบำรุง เรียกได้ว่าเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างทางด้านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศให้กับองค์กรต่าง ๆ จึงเป็นหนึ่งในธุรกิจดาวรุ่งที่จะเป็นที่ต้องการตัวในอุตสาหกรรมการผลิต ดังนั้นด้วยการสนับสนุนของพันธมิตรจากประเทศญี่ปุ่นที่มีความโดดเด่นด้านอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และออโตเมชั่น ในการพัฒนาศักยภาพของ System Integrator จะมีความสำคัญอย่างยิ่งในการยกระดับศักยภาพการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยในเวทีระดับโลกในอนาคต
มร. คาซึโอะ คูโบตะ (Mr. Kazuo Kubota) ประธานสมาคม Japan Factory Automation & Robot System Integrator Association หรือ JARSIA ที่มีบทบาทสำคัญอยู่ในธุรกิจ System Integrator ประเทศญี่ปุ่น เผยว่า "งานหลักของ JARSIA มี 3 ประการ คือ 1. การสร้างเครือข่ายบริษัทญี่ปุ่นที่ทำเกี่ยวกับเรื่องระบบออโตเมชั่นและหุ่นยนต์ในโรงงาน 2. ส่งเสริมความรู้ในเรื่องธุรกิจ System Integrator และ 3.อบรมเพิ่มความรู้เฉพาะทางให้กับบุคลากรที่จะเข้ามาทำงานด้าน System Integrator ซึ่งตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561-2565 จากสมาชิก 144 บริษัทเพิ่มเป็นกว่า 300 บริษัท หรือเพิ่มขึ้นกว่า 1 เท่าตัว และในปีหน้านี้ JARSIA ได้ร่วมสานต่อนโยบายของกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม ประเทศญี่ปุ่น อย่างเป็นทางการในการโอนถ่ายเทคโนโลยีหลักสูตรการพัฒนาทักษะ System Integrator ให้กับต่างประเทศ และประเทศไทยเป็นประเทศแรกที่ได้รับเลือก โดยสิ่งที่ JARSIA ต้องการเริ่มจัดทำในประเทศไทย คือ โครงการสอบเทียบวัดระดับทักษะ System Integrator ซึ่งจะมีทั้งการสอบเชิงทฤษฎี และปฏิบัติ รวมถึงการให้ความรู้เกี่ยวกับอาชีพ System Integrator ด้วยการจัดกิจกรรมแข่งขันเรื่องไอเดียคอนเทสต์เกี่ยวกับออโตเมชั่นและหุ่นยนต์ในกลุ่มมัธยมศึกษาตอนปลายและอาชีวศึกษา เป็นต้น"
นายวิเชียร งามสุขเกษมศรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค แฟคทอรี่ ออโตเมชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะแกนนำในการจัดงานครั้งนี้ เผยว่า "ผมขอขอบคุณในความร่วมมือกันของกลุ่มพันธมิตรเครือข่าย Ecosystem ในการเข้าร่วมกิจกรรมที่ผ่านมาตลอด 3 ปี ซึ่งดูเหมือนกลุ่มทำงานเล็ก ๆ ไม่ใหญ่ แต่พอดูรายชื่อของแต่ละองค์กรแล้ว พันธมิตรสมาชิก e-F@ctory ของเราน่าจะเป็น System Integrator 90% ของเมืองไทย ที่มียอดขายปีที่แล้วรวมกันประมาณกว่าสองแสนล้านบาท ซึ่งหมายความว่า ถ้าความร่วมมือของเราทั้งหมดได้ดำเนินงานไปตามเป้าหมายอย่างถูกจุดจะช่วยทำให้เกิดการขับเคลื่อนและเกิดการปฏิรูปอุตสาหกรรมไทยได้อย่างแน่นอน"
สำหรับสมาคมผู้ประกอบการระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ไทย (Thai Automation and Robotics Association : TARA) ซึ่งได้ทำงานร่วมกับพันธมิตรที่หลากหลายทั้งภาครัฐ และเอกชน โดยมีเป้าหมายร่วมกัน คือ การยกระดับศักยภาพของกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมภาคการผลิตให้มีความได้เปรียบทางการแข่งขัน ก้าวทันโลกของเทคโนโลยีด้วยโซลูชันและระบบการทำงานอัตโนมัติ โดย ดร.ประพิณ อภินรเศรษฐ์ นายกสมาคมฯ ให้ความคิดเห็นว่า "การเติบโตของธุรกิจ System Integrator นั้น Ecosystem มีความสำคัญมาก เพราะเป็นธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีและความรู้ความสามารถในหลายสาขาวิชา จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องนำศักยภาพของพันธมิตรมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ ทั้งในด้านการสนับสนุนและแก้ไขปัญหา ช่วยให้ประหยัดต้นทุนและเวลา ขณะเดียวกันก็ทำให้ได้เรียนรู้ในหลากหลายธุรกิจเพิ่มขึ้น ซึ่งในการประชุมร่วมกันกับ JARSIA ในต้นปีหน้าที่จะทำโครงการสอบเทียบวัดระดับเพื่อกำหนดมาตรฐานความรู้ความสามารถของบุคลากรของเราจะช่วยให้ธุรกิจ System Integrator มีการเติบโตต่อเนื่อง ต้องขอขอบคุณ EEC Automation Park และพันธมิตร Ecosystem ทั้งหมด ที่ทำให้ TARA เข้ารับทำงานให้กับกระทรวงอุตสาหกรรม และลูกค้ากว่า 60 บริษัท ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นว่า ความร่วมมือแบบ Ecosystem กำลังเห็นผลในทางธุรกิจแล้ว และเชื่อว่า เราจะสามารถก้าวไปข้างหน้าด้วยกันได้"
หนึ่งในผลงานความร่วมมือกับ Mitsubishi Electric พร้อมพันธมิตรเครือข่ายที่ประสบความสำเร็จเป็นรูปธรรม คือ การพัฒนา EEC Automation Park ให้เป็นฐานหลักขับเคลื่อนการประยุกต์ใช้ระบบหุ่นยนต์และออโตเมชัน สร้างความเชื่อมโยงให้ภาคอุตสาหกรรมไทยปรับตัวไปสู่โรงงานอัจฉริยะ หรือ Smart Factory ใช้นวัตกรรมนำการผลิต พัฒนาให้เกิดอุตสาหกรรม 4.0 ในพื้นที่ EEC ตั้งอยู่ภายในมหาวิทยาลัยบูรพา จังหวัดชลบุรี
ดร. ไพบูลย์ ลิ้มปิติพานิช ผู้อำนวยการ EEC Automation Park เผยว่า "การที่ EEC Automation Park เกิดขึ้นได้นั้น ต้องขอบคุณทั้ง EEC HDC, Mitsubishi Electric และพันธมิตรต่าง ๆ ที่มาร่วมกันทำงานเป็น Ecosystem ที่สมบูรณ์ ทำให้การเติบโตของ EEC Automation Park เป็นไปอย่างรวดเร็ว เป็น Digital Manufacturing ที่เป็น Smart Factory 4.0 โชว์เคสที่สมบูรณ์ที่สุด ครบวงจรเริ่มตั้งแต่การสั่งสินค้า ผลิตตัวอย่างสินค้า และจัดเก็บสินค้าด้วยระบบอัตโนมัติ และยังร่วมกันพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมต่าง ๆ ผมภูมิใจที่เวลามีคนเข้ามาเยี่ยมชม มีลูกค้าเข้ามาดูงานแล้วเกิดการซื้อขายต่อยอดธุรกิจได้จริง ทำให้พันธมิตร Ecosystem ของเราเติบโตในธุรกิจเป็นของตัวเอง และพัฒนาไปสู่การเติบโตของภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยต่อไป"
ด้าน นายบวร เทียนสวัสดิ์ ในฐานะหัวหน้ากลุ่มพัฒนาโครงการและกลุ่มพันธมิตร บริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค แฟคทอรี่ ออโตเมชั่น (ประเทศไทย) จำกัด เผยว่า "ผมจะพูดกับพันธมิตรของเราเสมอว่า อุตสาหกรรมที่ Mitsubishi Electric เข้าไปช่วยสนับสนุนจะไม่สำเร็จได้เลยถ้าไม่มี System Integrator และพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละอุตสาหกรรม ซึ่งความร่วมมือของเราแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ 1. เทคโนโลยีออโตเมชั่น ซึ่งทางเรามีการจัดเตรียมทีมเรื่องการเทรนนิ่ง เรื่องการปรึกษาการใช้งาน รวมถึงการทำ Proposal ร่วมกับพันธมิตรเพื่อไปเสริมกัน 2. การแนะนำสินค้าของกันและกัน และ 3. การส่งเสริมการขาย โดยการทำ Business Matching ซึ่งจะขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไปไม่ได้ เพราะเรามองว่าความร่วมมือจะช่วยสร้างแรงดึงดูดและเพิ่มมูลค่า โดยเราเปิดโอกาสให้พันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญด้าน System Integrator เฉพาะทางในอุตสาหกรรมที่แตกต่างกันให้มาร่วมสร้างโซลูชันร่วมกับเราได้ และสำหรับประเทศไทยในปีหน้า เราเล็งเป้าหมายไปในเรื่อง Digitalization และ Decarbonization ซึ่งได้เริ่มแล้วกับหน่วยงานภาครัฐ หรือหน่วยงานอื่น ๆ ทั้งด้านการเงิน ด้านประกันภัย ในการซับพอร์ตสิ่งเหล่านี้ให้กับ System Integrator หรือคู่ค้าได้ นอกจากนี้ในส่วนเป้าหมายระดับโกลบอลของ Mitsubishi Electric เราได้มีการเปิดตัวโซลูชันใหม่ที่เกี่ยวข้องกับซอฟต์แวร์ นั่นคือ Digital Twin ซึ่งมี 3 แนวคิดหลัก นั่นคือ 1. การออกแบบ (Design) 2. การเริ่มต้น (Push Start) 3. การซ่อมบำรุง (Maintenance) ซึ่งซอฟต์แวร์ที่จะมาซัพพอร์ตในระยะแรก คือ 3D Simulator MELSOFT Gemini, SCADA Genesis64 และ MELSOFT MaiLab Ai Software ซึ่งเราได้เปิดให้พาร์ทเนอร์เข้ามาเรียนรู้ และสามารถนำไปใช้เพื่อเพิ่ม Value Added ให้กับลูกค้าได้"
Mitsubishi Electric สนับสนุนระบบการผลิตตามแนวทาง "e-F@ctory & SMKL-Smart Manufacturing Kaizen Level" ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 ซึ่งใช้ระบบอัตโนมัติ (FA) และระบบสารสนเทศ (IT) ในโรงงานเพื่อแก้ปัญหา และเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการผลิตทั้งหมดของลูกค้ามากกว่า 40,000 เคสทั่วโลก นอกจากนี้ยังได้จัดตั้งกลุ่มพันธมิตรเครือข่ายความร่วมมือ e-F@ctory Alliance Partner Association โดยประมาณ 1,050 บริษัททั่วโลก ครอบคลุมอาเซียน ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ อินเดีย ยุโรป และสหรัฐอเมริกา และก่อตั้งพันธมิตรในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2562 ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 80 บริษัท