ผลวิจัย Mastercard New Payments Index 2022 ชี้ผู้บริโภคชาวไทยเกือบ 80% ยอมรับว่าการใช้ข้อมูลไบโอเมทริกซ์ (Biometric) หรือ การเก็บข้อมูลอัตลักษณ์บุคคลสำหรับยืนยันตัวตน เช่น การสแกนลายนิ้วมือ การยืนยันลักษณะบนใบหน้า มีความปลอดภัยสูงกว่าวิธีการอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการกรอกรหัส PIN อย่างไรก็ดียังคงมีประเด็นเรื่องความเป็นส่วนตัว โดยผู้ตอบแบบสอบถามราว 79% มีความวิตกกังวลว่าอาจมีองค์กรธุรกิจต่าง ๆ สามารถเข้าถึงข้อมูลไบโอเมทริกซ์ของพวกเขาได้
ข้อมูลล่าสุดทั้งในด้านพฤติกรรม ทัศนคติ และความชื่นชอบด้านการใช้จ่าย จากผลสำรวจความคิดเห็นผู้บริโภคของ Mastercard's second annual New Payments Index จาก 40 ประเทศใน 5 ภูมิภาค รวมถึง 7 ประเทศในเอเชียแปซิฟิก ได้แก่ เวียดนาม ออสเตรเลีย จีน อินเดีย ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ และไทย แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคชาวไทยมากถึง 50% ใช้ระบบไบโอเมทริกซ์ในการซื้อสินค้าและบริการเมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งมีอัตราเกือบเทียบเท่าค่าเฉลี่ยของผู้บริโภคในเอเชียแปซิฟิกซึ่งอยู่ที่ 53% ที่ใช้ระบบนี้ในการซื้อสินค้าและบริการในช่วงเวลาเดียวกัน
นอกจากนี้ผู้บริโภคชาวไทยถึง 62% มีการใช้ระบบไบโอเมทริกซ์บ่อยขึ้นในปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงความตื่นตัวต่อเทคโนโลยีใหม่ ๆ และผู้บริโภคมีแนวโน้มจะใช้งานระบบดังกล่าวมากขึ้น หากผู้ให้บริการสามารถจัดการเรื่องความเป็นส่วนตัว (privacy) และความปลอดภัยในการใช้งานของผู้บริโภคได้อย่างเหมาะสม
"ผู้บริโภคชาวไทยเปิดกว้างในการรับเอาเทคโนโลยีดิจัลใหม่ ๆ มาใช้งาน แสดงให้เห็นถึงทัศนคติเชิงบวกต่อการยืนยันตัวตนด้วยข้อมูลไบโอเมทริกซ์ในการชำระเงิน งานวิจัยชิ้นนี้ถือเป็นเครื่องชี้วัดที่ดีซึ่งทำให้เราเล็งเห็นถึงศักยภาพของเทคโนโลยีไบโอเมทริกซ์ที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดการใช้งานแพร่หลายขึ้นในประเทศไทย และชี้ให้เห็นว่าผู้บริโภคชาวไทยสามารถนำวิธีการชำระเงินผ่านอุปกรณ์สมาร์ทโฟนไปใช้งานในชีวิตจริงได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้นประเทศไทยจึงมีศักยภาพสูงในการเติบโตสู่การเป็นสังคมไร้เงินสดในอนาคตผ่านการให้ข้อมูลแก่ประชาชนเพื่อส่งเสริมการใช้ระบบไบโอเมทริกซ์ในการชำระเงินควบคู่กับการพยายามลดปัญหาเรื่องการปกป้องความเป็นส่วนตัวของข้อมูลส่วนบุคคล" ไอลีน ชูว ผู้จัดการประจำประเทศไทยและเมียนมาร์ มาสเตอร์การ์ด กล่าว
โดยผู้บริโภคชาวไทยมีอัตราสูงเมื่อเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยของประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่ปัจจุบันใช้ระบบไบโอเมทริกซ์ หรือมีแนวโน้มที่จะใช้ในอนาคต โดยประเภทที่นิยมกันมากที่สุดคือการสแกนลายนิ้วมือ (82% ต่อ 72% ของค่าเฉลี่ยในเอเชียแปซิฟิก) การจดจำใบหน้า (80% ต่อ 68% ของค่าเฉลี่ยในเอเชียแปซิฟิก) และการจดจำเสียง (74% ต่อ 59% ของค่าเฉลี่ยในเอเชียแปซิฟิก)