กรุงเทพฯ--9 เม.ย.--การเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ชูนโยบายการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เน้นทบทวนความตกลงการค้าเสรีกับประเทศต่างๆ หารืออุตสาหกรรม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาแนวทางการใช้ประโยชน์ เร่งประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจสู่รากหญ้า พร้อมจัดตั้งหน่วยงานกลาง ให้คำปรึกษาการใช้ประโยชน์จาก FTA ยึดรับฟังความคิดเห็นและดึงทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมให้ข้อมูล ย้ำไทยต้องทำ FTA อนาคตเล็งการเจรจาในกรอบอาเซียน คือ อาเซียน+3 ส่วน FTA ของไทยที่ค้างกับเปรู EFTA อินเดียและสหรัฐฯ ต้องทบทวนก่อนหากเป็นประโยชน์เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีให้เจรจาต่อ
นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงนโยบายการเจรจาการค้าระหว่างประเทศและทิศทางการเจรจาความตกลงการค้าเสรีในอนาคตว่า จะให้มีการทบทวนความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับประเทศต่างๆ เพื่อพิจารณาแนวทางการใช้ประโยชน์จาก FTA ให้เกิดกับประเทศไทยมากที่สุด โดยจะหารือกับกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาที่เกิดจากความตกลง FTA และผลักดันให้ภาคเอกชนออกไปเจาะตลาดสินค้าที่เรามีศักยภาพ อีกทั้งจะเพิ่มการประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จาก FTA ให้มากขึ้น โดยเน้นกระจายให้ลงลึกถึงประชาชนระดับรากหญ้า เพราะขณะนี้เกษตรกร ส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจและมองเห็นแต่สินค้าต่างชาติส่งเข้ามาขายในบ้านเราจนทำให้เขาเดือดร้อน
นอกจากนี้จะให้มีการจัดตั้งหน่วยงานรองรับการดำเนินงานตามความตกลง FTA เพื่อทำหน้าที่ให้คำแนะนำวิธีการใช้ประโยชน์ ติดตามผล/แก้ไขปัญหาการใช้ประโยชน์จาก FTA เพื่อเป็นหน่วยงานกลาง หรือเป็น one stop service for FTA ให้กับผู้ประกอบการ ผู้ผลิต ผู้ส่งออกและเกษตรกร ในการขอคำปรึกษาเพื่อใช้ประโยชน์จากความตกลง
“การเจรจาการค้าในกรอบเวทีต่างๆ ที่เปิดการเจรจาแล้วคงต้องเจรจาต่อแต่ต้องบอกประชาชนได้ว่า “ไทยได้ประโยชน์อะไร” หากไทยเสียเปรียบต้องยืนยันไม่ยอมและไม่เจรจาต่อ อย่างไรก็ตาม ต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ซึ่งขณะนี้เราต้องเร่งรัดการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ให้บรรลุเป้าหมายภายในปี 2015 ให้ได้เพราะตลาดอาเซียนเป็นทั้งตลาดการค้า การลงทุน ที่ผู้ประกอบการของไทยมีศักยภาพสูงในการแข่งขัน อย่างไรก็ตามภาครัฐจะเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการเจรจาการค้า เนื่องจากการเปิดตลาดการค้ามีผลทั้งด้านบวกและด้านลบต่อทุกภาคส่วน ดังนั้น จะเน้นเรื่องการเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการให้ข้อมูล ข้อคิดเห็นต่างๆ เน้นการทำประชาพิจารณ์ให้ทั่วถึงทุกระดับ เช่น รัฐสภา กลุ่มผู้ประกอบการ ผู้ผลิต ผู้นำกลุ่มเกษตรกร/เกษตรกร กลุ่มองค์กรอิสระ นักวิชาการ และสถาบันการศึกษา ” นายวิรุฬกล่าว