กรุงเทพฯ--9 เม.ย.--สปส.
สำนักงานประกันสังคม (สปส.) เผยปี 50 จ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตรไปแล้ว 5 พันกว่าล้านบาท ยอดผู้ประกันตนใช้สิทธิ 1.1 ล้านราย ชี้ขอรับประโยชน์ทดแทน ผ่านธนาคาร สะดวกได้เลย
นายสุรินทร์ จิรวิศิษฎ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า สปส.ได้จัดเก็บเงินสมทบจาก นายจ้าง ลูกจ้าง ฝ่ายละเท่า ๆ กัน และรัฐบาลสมทบให้อีกส่วน ซึ่งปัจจุบันจัดเก็บเงินสมทบในอัตราร้อยละ 5 ของค่าจ้างโดยคำนวณจากค่าจ้างต่ำสุด 1,650 บาท จะต้องจ่ายเงินประกันสังคม 83 บาท และสูงสุดไม่เกิน เดือนละ 15,000 บาท จ่ายเงินประกันสังคม 750 บาท โดยผู้ประกันตนจะได้รับความคุ้มครอง 7 กรณี ได้แก่ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตายที่ไม่เกี่ยวกับการทำงาน คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และกรณีว่างงาน โดยเงินสมทบที่ลูกจ้าง ผู้ประกันตน จ่ายสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมทุกเดือน ๆ ละ 5% แบ่งเป็น 1.5% ให้ความคุ้มครอง 4 กรณี ได้แก่ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย ไม่เกี่ยวกับการทำงาน และคลอดบุตร และอีก 0.5% ให้ความคุ้มครองกรณีว่างงาน ที่เหลืออีก 3% ให้ความคุ้มครองกรณีสงเคราะห์บุตร และชราภาพ ซึ่งผู้ประกันตนจะมีสิทธิได้รับเงินกรณีสงเคราะห์บุตรเป็นจำนวนเงิน 350 บาท/เดือน/บุตร 1 คน สำหรับบุตรตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ปีบริบูรณ์ คราวละไม่เกิน 2 คน และอีกส่วนหนึ่งจะเป็นเงินออมในกรณีชราภาพ สำหรับในปี 2550 ที่ผ่านมา สปส.มีผู้ประกันตนทั่วประเทศมาขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตรจำนวนมากถึง 1,169,778 ราย สปส.สั่งจ่ายประโยชน์ทดแทนไปแล้วทั้งสิ้น 5,218,675,100 ล้านบาท
ทั้งนี้ ผู้ประกันตนที่มีสิทธิขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตรจะต้องมีการนำส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน ภายในระยะเวลา 36 เดือน ในกรณีใช้สิทธิของผู้ประกันตนหญิงจะต้องยื่นแบบ สปส. 2-01 พร้อมแนบหลักฐานประกอบได้แก่ สำเนาสูติบัตรของบุตร (กรณีคลอดบุตรแฝดให้แนบสูติบัตรของคู่แฝดด้วย)สำเนาบัตรประชาชน และสำเนาสมุดบัญชีธนาคารออมทรัพย์หน้าแรก ซึ่งมีชื่อและเลขที่บัญชีของผู้ประกันตน โดย สปส.จะโอนเงินผ่านบัญชีออมทรัพย์ของผู้ประกันตนทั้งหมด ปัจจุบันมี 9 ธนาคารให้บริการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตรผ่านธนาคารให้กับผู้ประกันตน ได้แก่ ธนาคารกสิกรไทย กรุงเทพ กรุงไทย กรุงศรีอยุธยา ไทยพาณิชย์ ทหารไทย นครหลวงไทย ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย และธนาคารไทยธนาคาร หากใช้สิทธิผู้ประกันตนชาย จะต้องเป็นบุตรที่ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น โดยจะต้องแนบหลักฐานข้างต้นเหมือนกับการใช้สิทธิของผู้ประกันตนหญิง แต่จะต้องมีหลักฐานเพิ่มอีกหนึ่งอย่าง คือ สำเนาทะเบียนสมรสหรือหนังสือรับรองบุตร (กรณีไม่ได้จดทะเบียนสมรส) ทั้งนี้ผู้ประกันตนสามารถยื่นขอรับประโยชน์กรณีดังกล่าว ได้คราวละไม่เกิน 2 คน ได้ที่ สปส.เขตพื้นที่/จังหวัด/สาขา หากผู้ประกันตนมีข้อสงสัยสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่/จังหวัด/สาขาทั่วประเทศ หรือที่สายด่วนประกันสังคม 1506 ติดต่อระบบโทรศัพท์ตอบรับอัตโนมัติ ให้บริการทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง หรือติดต่อเจ้าหน้าที่โดยตรง ให้บริการทุกวันไม่ เว้นวันหยุด ตั้งแต่เวลา 07.00 — 19.00 น.
ศูนย์สารนิเทศ สายด่วนประกันสังคม 1506 www.sso.go.th