ทิศทางขับเคลื่อนการดำเนินงานของ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) มุ่งสร้างให้องค์กรเป็นส่วนสำคัญในการสร้างสรรค์ผลงานวิจัยพัฒนา ที่มีผลกระทบสูงต่ออุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ โดยเร่งสร้างเครือข่ายพันธมิตรในการทำงานร่วมกันสร้างสรรค์เทคโนโลยีและนวัตกรรมเชิงบูรณาการ สร้างความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน และลดความเหลื่อมล้ำ เป็นองค์กรที่สามารถประยุกต์ใช้ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) พัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ด้วยบุคลากรที่เป็นมืออาชีพ และการบริหารจัดการที่ทันสมัย มีธรรมาภิบาล ไตรมาสแรกในการดำเนินงานของ วว. ในปีงบประมาณ 2566 ได้ร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนในการร่วมขับเคลื่อนประเทศด้วย วทน. ดังนี้
ความร่วมมือกับ อพวช.
ผนึกกำลังความร่วมมือกับ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ หรือ อพวช. ในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2565 ณ วว. เทคโนธานี เพื่อร่วมศึกษา วิจัย และถ่ายทอดความรู้ด้านสิ่งแวดล้อม นิเวศวิทยาป่าเขตร้อน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพให้ยั่งยืน ทั้งนี้ วว. และ อพวช. มีภารกิจและกิจกรรมในการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกัน ดังนั้นจึงเป็นโอกาสอันดีที่ ได้ร่วมดำเนินกิจกรรม แลกเปลี่ยนประสบการณ์และองค์ความรู้ เพื่อพัฒนาบุคลากร ส่งเสริมการศึกษาวิจัย ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมและนิเวศวิทยาป่าเขตร้อน เพื่อสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพให้ยั่งยืน ผ่านการจัดทำโครงการด้านศึกษา วิจัย การจัดแหล่งเรียนรู้ และการสื่อสารวิทยาศาสตร์ให้เป็นที่ยอมรับทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของทั้งสองหน่วยงาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ
ความร่วมมือกับการประปานครหลวง
ผนึกกำลังความร่วมมือกับการประปานครหลวง หรือ กปน. ในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2565 ณ วว. เทคโนธานี ในโครงการการใช้ทรัพยากรร่วมกันของรัฐวิสาหกิจเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการดำเนินงาน โดยเพิ่มกรอบความร่วมมือให้มากยิ่งขึ้น เช่น ด้านการวิจัยและพัฒนา การศึกษาวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีและการควบคุมคุณภาพน้ำประปา ตลอดจนการจัดการวัสดุเหลือทิ้งที่เกิดจากกระบวนการผลิตน้ำประปา เป็นต้น รวมทั้งการถ่ายทอดองค์ความรู้ พัฒนาบุคลากรทางการวิจัยและพัฒนา การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ โดยใช้เทคโนโลยี ทรัพยากรของทั้งสองหน่วยงานร่วมกัน
ทั้งนี้ วว. และการประปานครหลวง มีความร่วมมือกันมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2562 ก่อให้เกิดการดำเนินงานผ่านโครงการต่างๆ อาทิ โครงการที่ปรึกษาการจัดทำแผนแม่บทด้านวิจัย พัฒนา และนวัตกรรมของการประปานครหลวง ฉบับที่ 2 (ฉบับทบทวนครั้งที่ 1) (พ.ศ.2563-2565) ที่ วว. ได้มีส่วนร่วมในการรวบรวมข้อมูลและประเมินสภาพแวดล้อม รวมถึงการวิเคราะห์จัดทำร่างแผนแม่บท ด้านการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม ของ กปน. อีกทั้ง วว. ยังได้รับทุนสนับสนุน จาก กปน. ในโครงการออกแบบและพัฒนาระบบการนำน้ำใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ จากความสำเร็จในการดำเนินงานร่วมกันและความสัมพันธ์อันดี จึงเป็นที่มาของการลงนามเพื่อขยายระยะเวลาความร่วมมือ โดยเพิ่มกรอบความร่วมมือให้มากยิ่งขึ้น เช่น ด้านการวิจัยและพัฒนา การศึกษาวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีและการควบคุมคุณภาพน้ำประปา ตลอดจนการจัดการวัสดุเหลือทิ้งที่เกิดจากกระบวนการผลิตน้ำประปา เป็นต้น รวมทั้งการถ่ายทอดองค์ความรู้ พัฒนาบุคลากรทางการวิจัยและพัฒนา การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ โดยใช้เทคโนโลยี ทรัพยากรของทั้งสองหน่วยงานร่วมกัน
ถ่ายทอดเทคโนโลยีการสกัด "สารสกัดรำข้าว" ให้แก่ บริษัทโฮปฟูลฯ
วว. ลงนามการถ่ายทอดเทคโนโลยี การผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เพื่อลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดจากภาวะความดันโลหิตสูงด้วยสารสกัดเพปไทด์ไฮโดรไลเซทจากข้าว และโครงการบริการวิจัยการสกัดสารสกัดรำข้าวเพื่อใช้เป็นสารออกฤทธิ์ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อลดความเสี่ยงโรคหัวใจ และหลอดเลือดจากภาวะความดันโลหิตสูงด้วยสารสกัดเพปไทด์ไฮโดรไลเซทจากข้าว ให้แก่บริษัทโฮปฟูล จำกัด เพื่อพัฒนาองค์ความรู้และพัฒนาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดความเสี่ยงโรคหัวใจ-หลอดเลือด เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2565 ณ วว. เทคโนธานี
ทั้งนี้ ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร วว. ประสบผลสำเร็จในการศึกษาวิจัยสารสกัดเพปไทค์ไฮโดรโลเซทจากข้าว โดย พบว่าเป็นสารสกัดในกลุ่มโปรตีนหรือเพบไทด์ที่มีขนาดโมเลกุลเล็ก และมีสาร g-aminobutyric acid (GABA) ซึ่งมีสรรพคุณในการยับยั้ง Angiotensin II ที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคความดันโลหิตและลดไขมันชนิดเลวในเลือด จากนั้นได้ทดสอบในสัตว์ทดลองพบว่า สามารถลดความดันโลหิตได้ ซึ่งเป็นการลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือดจากภาวะความดันสูงได้ และเมื่อนำมาใช้กับมนุษย์พบว่า เป็นสารสกัดที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ช่วยในเรื่องลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดจากภาวะความดันสูง ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงและได้ผลจริง
โดยกรรมวิธีการสกัดได้เลือกใช้วัตถุดิบที่มีความใหม่ ภายหลังการสีข้าวแล้ว เพื่อให้ได้สารสกัดที่มีสารออกฤทธิ์ตามที่ต้องการในปริมาณที่สูง ซึ่งผลิตภัณฑ์จากข้าวส่วนใหญ่จะเน้นการใช้น้ำมันรำข้าวเป็นส่วนประกอบที่มีปริมาณของ linoleic acid และ oryzanol สูงและสารในกลุ่มของสารสี anthocyanin หรือ สารในกลุ่ม Flavonoid แต่ผลิตภัณฑ์ที่ วว. พัฒนาขึ้นจะเน้นสารสกัดในกลุ่มโปรตีนหรือเพปไทด์จากข้าวมาใช้ประโยชน์ในการบำรุงสุขภาพ ป้องกันการเกิดโรคเรื้อรัง ลดความเสี่ยงโรคหัวใจ หลอดเลือด จากภาวะความดันสูง ถือเป็นนวัตกรรมใหม่ โดยในขั้นตอนของกระบวนการสกัดสารออกฤทธิ์ วว. ได้จดสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้ว
"... วว. ทำงานวิจัยอย่างครบวงจร มีนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญ มีโครงสร้างพื้นฐาน มีความร่วมมือกับต่างประเทศ ปัจจุบัน วว. ทำงานใกล้ชิดกับ SME มากขึ้น มุ่งพัฒนาสินค้าให้ผู้ประกอบการ ทั้งนี้ วว. เป็นที่ยอมรับในการทำงานวิจัยด้านสมุนไพรมานาน มุ่งให้สินค้ามีมาตรฐาน นอกจากนี้ยังมีห้องปฏิบัติการวิจัยที่ได้รับมาตรฐานสากล ทำให้สินค้าเกษตรมีมูลค่าเพิ่ม ด้วยองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม งานวิจัยของ วว. ได้นำไปใช้ประโยชน์ในวงกว้าง และได้ส่งต่องานวิจัยดีๆ ไปสู่ผู้บริโภค ผลักดันให้เกิดการใช้วัตถุดิบในการผลิตขึ้นภายในประเทศ โดยนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ที่ให้ผลจริง มีข้อมูลด้านการวิจัยรองรับทั้งทางด้านสรรพคุณและความปลอดภัย ช่วยเสริมสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มจากทรัพยากรภายในประเทศซึ่งมีความหลากหลายและมีสรรพคุณไม่แพ้สารที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ..." ศ.(วิจัย)ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าว
วว. พร้อมนำความรู้ ความเชี่ยวชาญ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ที่ผ่านการจัดระเบียบองค์ความรู้ เข้าไปตอบโจทย์ ช่วยแก้ปัญหา เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สร้างผู้ประกอบการรายใหม่ ส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการเดิมให้เข้มแข็ง สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้แก่พี่ประชาชน ชุมชนในพื้นที่ต่างๆของประเทศอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน
สนใจรับบริการด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมจาก วว. ตลอดจนคำแนะนำปรึกษาด้านธุรกิจ การถ่ายทอดเทคโนโลยีเชิงพาณิชย์และเชิงสังคม สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อได้ที่ โทร. 0 2577 9000 โทรสาร 0 2577 9009 เว็บไซต์ www.tistr.or.th E-mail : tistr@tistr.or.th line@TISTR IG : tistr_ig