เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ลงพื้นที่เยี่ยมชมผลสำเร็จโครงการวิจัยฯ โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้มอบหมายให้ นายธีรวัฒน์ บุญสม ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม นำ นายธานินทร์ ผะเอม ผู้ทรงคุณวุฒิ วช. พร้อมด้วยสื่อมวลชน ลงพื้นที่ติดตามผลสำเร็จโครงการวิจัยฯ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก วช. โครงการ เรื่อง "การเพิ่มศักยภาพการผลิตและยกระดับรายได้ชุมชนด้วยนวัตกรรมเครื่องสีเปลือกแมคคาเดเมีย" โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ธานี ศรีวงศ์ชัย ภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร แห่ง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หัวหน้าโครงการวิจัย ได้มอบให้ นางสาวริยา ด่อนศรี ทีมนักวิจัย สถานีวิจัยเพชรบูรณ์ ศูนย์วิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร คณะเกษตร แห่ง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลสำเร็จโครงการวิจัยฯ ในครั้งนี้ซึ่งการลงพื้นที่เพื่อการส่งเสริมการปลูกแมคคาเดเมียเพื่อเพิ่มความมั่นคงทางอาชีพให้แก่เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์
นายธีรวัฒน์ บุญสม ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัย กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวง อว. เป็นหน่วยงานหลักที่ให้การสนับสนุนทุนวิจัย พัฒนาบุคลากร ด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งจากผลสำเร็จของโครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตและยกระดับรายได้ชุมชนด้วยนวัตกรรมเครื่องสีเปลือกแมคคาเดเมีย ที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก วช. ได้เกิดผลผลิตที่สำคัญสู่การผลักดันให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่สามารถจำหน่ายได้ในเชิงพาณิชย์และขยายผลสู่วงกว้างจากองค์ความรู้และผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่ได้รับการพัฒนามาขยายผลต่อยอดสู่วิสาหกิจชุมชนที่มีศักยภาพ พร้อมทั้งใช้องค์ความรู้ที่มีอยู่ในการผลักดันให้เกิดผลิตภัณฑ์มูลค่าในรูปแบบ ผลิตภัณฑ์ แมคคาเดเมีย แกะเปลือก อบธรรมชาติ บรรจุกระป๋องซีล ผลักดันพื้นที่ต้นแบบชุมชนเศรษฐกิจฐานรากชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืนต่อไป
นายธานินทร์ ผะเอม ผู้ทรงคุณวุฒิ วช. กล่าวว่า จะเห็นได้ว่าโครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตและยกระดับรายได้ชุมชนด้วยนวัตกรรมเครื่องสีเปลือกแมคคาเดเมีย สอดคล้องกับศาสตร์พระราชา วช.มีส่วนช่วยสนับสนุนนวัตกรรมและเทคโนโลยีให้กับกลุ่มเกษตรกรสร้างรายได้ให้กับชุมชนไปสู่ชุมชน Zero Waste การหมุนเวียนทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืนอย่างแท้จริง
นางสาวริยา ด่อนศรี ทีมนักวิจัย กล่าวว่า วช. ได้มีการนำนวัตกรรมจากโครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตและยกระดับรายได้ชุมชนด้วยนวัตกรรมเครื่องสีเปลือกแมคคาเดเมีย ต่อยอดจากโครงการเดิม โครงการพัฒนามาตรฐานการผลิตแมคคาเดเมียอบแห้งสำหรับชุมชน ซึ่งนำไปสู่การเพื่อเพิ่มมูลค่าสำหรับชุมชนในพื้นที่ตั้งของสถานีวิจัยเพชรบูรณ์ 2 แห่ง 1) บ้านเข็กน้อย ตำบลเข็กน้อย อำเภอเขาค้อ และ 2) บ้านทับเบิก ตำบลวังบาล อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ ด้านเทคโนโลยีการผลิตและแปรรูปแมคคาเดเมียแบบครบวงจรที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับสำหรับเกษตรกรในชุมชนและบุคคลที่สนใจได้เข้ามาเรียนรู้รวมถึงการส่งเสริมการแปรรูปผลผลิตแทนการจำหน่ายผลผลิต โดยกระบวนการแปรรูปแมคคาเดเมียเริ่มตั้งแต่การเก็บผลร่วงจากต้น การกะเทาะเปลือก การผึ่ง การอบ การกะเทาะกะลา และการอบก่อนบรรจุลงภาชนะสำหรับจำหน่ายจำเป็นต้องใช้เครื่องมือกะเทาะเมล็ดแมคคาเดเมียที่เหมาะสำหรับกลุ่มเกษตรกร หรือเกษตรกรรายย่อยสำหรับใช้ในการแปรรูป จึงได้คิดค้นเครื่องกะเทาะเมล็ดแมคคาเดเมีย ซึ่งใช้เครื่องบรรจุภัณฑ์เมล็ดแมคคาเดเมียเพื่อยืดอายุของสินค้าและสร้างมูลค่าให้แก่เกษตรกรในกระบวนการการแปรรูปแมคคาเดเมีย ลักษณะการใช้งาน คือ เมื่อนำผลกะลาแมคคาเดเมียใส่เข้าด้านบนของเครื่องกะเทาะ ผลกะลาแมคคาเดเมียจะตกลงไปภายในเครื่องมีแกนหมุนเพื่อให้ผลกะลาที่ตกลงไปกระทบกับชุดใบมีดสำหรับการกะเทาะผลกะลาให้แตก จากนั้นกะลาและเนื้อในที่แยกออกจากกันตกลงสู่ถาดรองรับภายนอกเครื่องกะเทาะและนำไปสู่กระบวนการอื่นต่อไป และเป็นศูนย์กลางในการรับซื้อแมคคาเดเมียจากเกษตรกรในชุมชนมาแปรรูปต่อ โดยการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายช่วยเพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภคและเพิ่มมูลค่าสินค้า อีกทั้งยังลดปริมาณวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรด้วยการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้อย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ ผู้บริหาร วช. และผู้ทรงคุณวุฒิ วช. พร้อมด้วยสื่อมวลชน ได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมศูนย์เรียนรู้การแปรรูปแมคคาเดเมียสำหรับชุมชนที่แปลงภูทับเบิกสถานีวิจัยเพชรบูรณ์ ณ ศูนย์การเรียนรู้การพัฒนามาตรฐานการผลิตแมคคาเดเมียสำหรับชุมชนซึ่งเป็นศูนย์หลักของโครงการฯ ทั้งนี้ที่สถานีวิจัยเพชรบูรณ์ ได้มีการให้ความรู้เกี่ยวกับการปลูกและดูแลรักษาต้นแมคคาเดเมียที่ปลอดภัยจากสารเคมีทุกชนิดและในทุกกระบวนการผลิตตั้งแต่ขั้นตอนการปลูกตลอดจนถึงจนสำเร็จเป็นสินค้าออกจำหน่าย ซึ่งได้เปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าเยี่ยมชมการแปรรูปผลผลิตการเกษตรของแมคคาเดเมียเรียนรู้วิถีชุมชน หากผู้ใดสนใจเข้าเยี่ยมชมสามารถติดต่อได้ที่ โทรศัพท์ : 02-5796515, 02- 5791254