สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (GCNT) ร่วมกับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) จัดการประชุมระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ครั้งที่ 6 ภายใต้ประเด็น "การเสริมสร้างความเข้มแข็งในการเข้าถึงกลไกการเยียวยาและการจัดการข้อร้องเรียน สำหรับแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย" ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน(UNGPs) หวังเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และยกระดับการเข้าถึงกลไกการเยียวยาและการจัดการข้อร้องเรียนอย่างมีประสิทธิภาพของบริษัทไทย
นางพงษ์สวาท กายอรุณสุทธิ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวเปิดการประชุมครั้งนี้ว่า ความเข้าใจและตระหนักรู้ในหลักการ มาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการเยียวยาและการจัดการที่เป็นไปตามกลไกของตุลาการและกลไกอื่นๆ เป็นหน้าที่ของทุกภาคส่วนในการช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติ ในขณะที่ภาครัฐ มีหน้าที่ในการคุ้มครองแรงงาน ภาคธุรกิจ ซึ่งมีประสบการณ์ในการช่วยเหลือและจัดการข้อร้องเรียนที่เกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติ และภาคประชาสังคมที่ให้ความช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติให้เข้าถึงความคุ้มครอง รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศ ที่มีส่วนร่วมในการส่งเสริม สนับสนุน และผลักดันการคุ้มครองสิทธิของแรงงานข้ามชาติ ทุกภาคส่วนจึงมีบทบาทสำคัญในการดำเนินงานเรื่องนี้ให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง
นางสาวอาริสรา สุธาสุทธิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักกิจการองค์กรและเลขานุการบริษัท บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) กรรมการบริหาร สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย ร่วมกล่าวเปิดงานว่า ภายในปี 2566 สังคมไทยจะกลายเป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ ในขณะที่ประชากรวัยแรงงานจะมีสัดส่วนลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ต้องพึ่งพาแรงงานต่างชาติมากขึ้น ดังนั้น การบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะการเข้าถึงกลไกการเยียวยาและการจัดการข้อร้องเรียน จึงถือเป็นประเด็นที่ทุกภาคส่วนควรตระหนักและเตรียมความพร้อม
ภายในงาน มีการนำเสนอแนวคิด หลักการ และมาตรฐานของการเยียวยาที่มีประสิทธิภาพและความรับผิดชอบขององค์กร รวมทั้งการเสวนาของ 3 ภาคส่วน ได้แก่ บทบาทรัฐในการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติตามมาตรการทางตุลาการและมาตรการอื่นๆ บทบาทของภาคธุรกิจในการช่วยเหลือและจัดการข้อร้องเรียนที่เกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติ ซึ่งมีตัวแทนจากองค์กรสมาชิก GCNT ร่วมเสวนาด้วย คือ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์จำกัด นอกจากนี้ ยังมีเวทีเสวนาของภาคประชาสังคมที่พูดคุยกันเรื่องการส่งเสริมเข้าถึงการเยียวยา และปิดท้ายด้วยการประชุมระดมความคิดเห็น
นางสาววรรัตน์ เลิศอนันต์ตระกูล ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคล บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวในเสวนาว่า ไทยยูเนี่ยนมีนโยบายในเรื่องนี้อย่างชัดเจนและครอบคลุมในห่วงโซ่อุปทาน เริ่มตั้งแต่การสรรหา การอบรมร่วมกับคู้ค้า และมีคณะทำงานติดตามในเรื่องนี้โดยเฉพาะ ซึ่งมีการใช้เทคโนโลยีร่วมเก็บข้อมูลและรับข้อร้องเรียน ทั้ง Proactive คือรับฟังปัญหาจากแรงงานโดยตรง และReactive คือสื่อสารผ่านช่องทางต่างๆ เช่น Hotline สายด่วน Speak out channel โดยแต่ละปีจะมีการสรุปเป็นสถิติและรายงานต่อสาธารณะ โดยถือเป็นส่วนหนึ่งการดำเนินงานด้านความยั่งยืนขององค์กร
ด้านนายภูมิ ศิรประภาศิริ รองกรรมการผู้จัดการ สำนักความร่วมมือระหว่างประเทศด้านความยั่งยืนและสื่อสารองค์กร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด เครือเจริญโภคภัณฑ์มีพนักงานทั่วโลกรวมกันมากกว่า 450,000 คน กระจายอยู่ใน 21 ประเทศทั่วโลก ตระหนักดีถึงความสำคัญของการบริหารจัดการประเด็นเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะแรงงานช้ามชาติ โดยกำหนดนโยบายเฉพาะในเรื่องนี้ และทำงานกับคู่ค้ารวมทั้งผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ รวมทั้งหน่วยงานระหว่างประเทศ เช่น Labor Protection Network Foundation : LPN เพื่อผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในระดับท้องถิ่นจนถึงระดับนานาชาติ และยังได้จัดทำ "รายงานสิทธิมนุษยชน" เผยแพร่ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 โดยยึดมาตรฐานสากลตามกรอบ UN Guiding Principles Reporting Framework (UNGPRF)
ปัจจุบันพบว่ามีบริษัทไทยจำนวนมากที่แสดงความมุ่งมั่นด้านสิทธิมนุษยชนตามหลักการของ UNGPs และแผนปฏิบัติการแห่งชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน(NAP) โดยบริษัทจดทะเบียนไทยเกือบ 170 แห่ง ถือเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานและรายงานการดำเนินงานด้าน ESG ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ก.ล.ต.) ได้กำหนดให้บริษัทต้องเปิดเผยข้อมูลในการเข้าถึงกลไกการเยียวยาและการจัดการข้อร้องเรียนในรายงาน One-Report 56-1 ด้วย อย่างไรก็ตาม ยังมีบริษัทไทยบางส่วนยังคงไม่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้เท่าที่ควร จากข้อมูลของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พบว่า ข้อร้องเรียนที่เกี่ยวข้องกับปัญหาแรงงานข้ามชาติเป็นหนึ่งในข้อร้องเรียนที่ได้รับมากที่สุด โดยเฉพาะในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 โดยเรื่องแรงงานช้ามชาติยังเป็นประเด็นเปราะบางที่ต้องได้รับการใส่ใจดูแลเนื่องจากสถานะการเข้าเมืองและความไม่มั่นคงทางการเงิน ที่นำไปสู่อุปสรรคใหญ่ในการเข้าถึงการเยียวยาอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการขาดกลไกการร้องทุกข์ อุปสรรคด้านภาษา ความกลัวการตอบโต้กระบวนการที่ยาวนานและเป็นระบบราชการ ความโปร่งใสในระดับต่ำและมีค่าใช้จ่ายสูงสำหรับแรงงานข้ามชาติ
ภาคธุรกิจในประเทศไทยจำนวนมากยังต้องพึ่งพาการจ้างงานแรงงานข้ามชาติ ความท้าทายหนึ่งสำหรับบริษัทไทย ในฐานะส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานระดับโลก คือการบังคับใช้กฎหมายตรวจสอบวิเคราะห์สถานะด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุโรป จึงเป็นประเด็นสำคัญที่บริษัทควรแสดงความรับผิดชอบในการบรรเทาผลกระทบทางลบผ่านบทบัญญัติการแก้ไขที่เหมาะสม ตลอดจนส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงานของแรงงานข้ามชาติตามหลักการของ UNGPs และ NAP