กรุงเทพฯ--9 เม.ย.--สวทช.
สวทช. ร่วมกับ สำนักงานความร่วมมือทางวิชาการของเยอรมัน (GTZ) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ สภาอุตสาหกรรมจังหวัดสงขลา ใน “ โครงการ Mapping and Matching นวัตกรรมในสาขาย่อยของอุตสาหกรรมเกษตรเป้าหมาย ” เพื่อจัดทำระบบฐานข้อมูล 3 กลุ่มอุตสาหกรรมหลักในพื้นที่ภาคใต้ ได้แก่ กุ้ง ยางพารา และปาล์มน้ำมัน สำหรับการจัดทำแผนที่และการจับคู่นวัตกรรม เพื่อมุ่งหากระบวนการทำงานที่เหมาะสมตั้งแต่ต้นน้ำไปสู่ปลายน้ำ ตั้งเป้าสู่การนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์
พื้นที่ภาคใต้ถือเป็นยุทธศาสตร์หลักในการปลูกปาล์มน้ำมัน และยางพารา ซึ่งถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ นอกจากนี้ยังมีการทำอุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูปกุ้ง ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ แต่เนื่องจากปัจจุบันผู้ประกอบการยังไม่มีระบบการจัดการที่ดี และเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการผลิต รวมไปถึงพันธุ์ที่มีคุณภาพ ส่งผลให้ต้นทุนในการผลิตสูง ดังนั้น เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งและพัฒนาศักยภาพความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมหลักทั้ง 3 กลุ่มนี้
โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) ภายใต้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช. ) ร่วมกับ สำนักงานความร่วมมือทางวิชาการของเยอรมัน ประจำประเทศไทย (GTZ) สำนักวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ สภาอุตสาหกรรมจังหวัดสงขลา เพื่อจัดทำระบบข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับ 3 อุตสาหกรรมหลัก คือ ปาล์มน้ำมัน ยางพารา และกุ้ง ในโครงการ Mapping and Matching หรือ โครงการแผนที่นวัตกรรมและการจับคู่นวัตกรรมอุตสาหกรรมเกษตรเป้าหมาย ในระยะเวลา 2 ปี
รศ.ดร.สมชาย ฉัตรรัตนา รองผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ความร่วมมือในโครงการนี้ เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน และยางพารา ในจังหวัดกระบี่ และสงขลา เพื่อสร้างแผนที่นวัตกรรม ด้วยการสำรวจความต้องการของเกษตรกรและผู้ประกอบการปาล์มน้ำมันและยางพารา เป็นวัตถุดิบในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ และสร้างแผนที่นำทางเทคโนโลยี (Technology Roadmap) รวมถึงอุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูปกุ้ง มีขอบเขตการดำเนินการในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้
ขั้นตอนการดำเนินการเริ่มจากการนำข้อมูลพื้นฐานของผู้ที่ต้องการใช้เทคโนโลยีและผู้ที่สร้างเทคโนโลยี คือ การนำนักวิจัยที่มีเทคโนโลยีอยู่ในมือ มาจับคู่ทางเทคโนโลยี ( Matching Inovation ) เพื่อสนับสนุนให้เกิดการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ รวมถึงการผลักดันให้เกิดการวิจัย เรียกว่า การนำเอาความต้องการของ 2 ฝ่ายมาจับคู่กัน ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ
เริ่มจากการสำรวจความต้องการภาคเอกชน และเกษตรกรในทุกๆ ด้านไม่เพียงเทคโนโลยีเท่านั้น อาทิ การเงิน เทคโนโลยี กฎระเบียบ การเจรจาการค้า หรือ ปัญหาการกีดกันทางการค้า ฯลฯ เพื่อรวบรวมนำมาจัดทำเป็นแผนที่ความต้องการของภาคเอกชนที่ต้องการใช้เทคโนโลยี จากนั้นจะดำเนินการสำรวจข้อมูลทางด้านเทคโนโลยีและบริการที่มีอยู่ในมหาวิทยาลัย ศูนย์วิจัย และสถาบันการศึกษาต่างๆ รวมถึงหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง นำมาจัดทำแผนที่ความต้องการของฝ่ายที่ให้บริการหรือฝ่ายเทคโนโลยี ซึ่งการดำเนินการของโครงการดังกล่าวต่างจากโครงการที่ภาครัฐทำอยู่ทั่วไป เมื่อได้แผนที่ความต้องการของทั้ง 2 ฝ่าย จากนั้นก็จะนำมาเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกคู่ที่มีความต้องการตรงกัน
เมื่อจับคู่ได้แล้ว ทางโครงการ iTAP จะเข้าไปสนับสนุนให้ทั้ง 2 ฝ่ายทำงานเพื่อให้เกิดระบบการวิจัยและพัฒนาขึ้น ส่วนทาง GTZ ในฐานะองค์กรจากรัฐบาลเยอรมัน จะมีบทบาทสำคัญในการเชื่อมต่อผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลกมาช่วยสนับสนุน และนำกิจกรรมการค้นหาเทคโนโลยีที่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์จากประสบการณ์ที่ได้จากทั่วโลกเข้ามาช่วยเสริมสร้างการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรที่ยั่งยืนด้วย “นวัตกรรม” ให้กับประเทศไทย
“ สิ่งที่ต้องการให้เกิดขึ้นจากการจับคู่ในโครงการนี้ คือ ‘ ผลลัพธ์ทางธุรกิจ ‘ เพราะการเกิดธุรกิจขึ้นใหม่ ถือเป็นการประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ที่ต้องการให้เกิดความยั่งยืนของโครงการ และหวังให้หน่วยงานภาครัฐอื่นๆ ได้เห็นประโยชน์จากโครงการนี้ ซึ่งถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อประเทศโดยรวม ” รองผู้อำนวยการศูนย์ TMC กล่าว
รศ.ดร.บุญสม ศิริบำรุงสุข อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า จะเป็นการนำองค์ความรู้ที่มีอยู่มากมายจากในมหาวิทยาลัย ไปขยายผลสู่ภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจะส่งผลต่อการกินดีอยู่ดีของเกษตรกรในพื้นที่ และชุมชน ถือเป็นเป้าหมายสูงสุดของมหาวิทยาลัยที่พยายามเสาะหาองค์ความรู้ด้วยงานวิจัย การสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ไปสู่ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้จริง และมั่นใจว่าจากฐานองค์ความรู้ที่มีอยู่จำนวนมากนี้จะช่วยให้ความร่วมมือครั้งนี้มีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น
ด้านนายไชยยศ สินเจริญกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสงขลา กล่าวว่า ภาคเอกชนมีความพอใจกับความร่วมมือครั้งนี้ และเชื่อว่า การดำเนินงานดังกล่าวจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมโดยรวมโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมทั้ง 3 กลุ่ม เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าความเข้มแข็งทางด้านเทคโนโลยีเป็นต้นทุนสำคัญในการเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม ดังนั้น ความร่วมมือในโครงการนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาและส่งเสริมความสามารถของสมาชิกสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสงขลา ซึ่งทางสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสงขลาพร้อมที่จะให้การสนับสนุนการดำเนินการด้านต่างๆ เพื่อให้โครงการประสบผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้อย่างเต็มที่
“ มองว่าการจัดทำดาต้าเบส หรือ ระบบฐานข้อมูลของอุตสาหกรรมทั้ง 3 กลุ่มดังกล่าวเป็นสิ่งที่มีค่ายิ่ง เพราะหากเอกชนจัดทำกันเองอาจไม่ได้รับความร่วมมือเช่นนี้ ที่ผ่านมาเป็นการทำวิจัยแบบต่างคนต่างทำตามกำลังของแต่ละราย ขณะที่ผู้ประกอบการเองจะมองหานักวิจัยในมหาวิทยาลัยเพื่อนำมาพัฒนากระบวนการผลิตก็ไม่สามารถทำได้ เพราะไม่ทราบว่าอาจารย์หรือนักวิชาการท่านใดเก่งในเรื่องใด แต่การจัดทำข้อมูลในครั้งนี้ เชื่อว่าจะช่วยให้แต่ละฝ่ายได้มีโอกาสนำเสนอแนวคิดต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตรได้ทั้งระบบ ” นายไชยยศ กล่าว
จากการสำรวจความต้องการเบื้องต้นนั้น นายอภิชาต เตชะภัทรกุล ผู้จัดการฝ่ายการตลาดต่างประเทศ บริษัท ฉลองอุตสาหกรรมน้ำยางข้น จำกัด ในฐานะเอกชนที่เข้าร่วมโครงการ กล่าวว่า สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมยางพารานั้น ในส่วนของสวนยางพารามีความต้องการที่จะให้เกิดการศึกษาถึงกระบวนการจัดการสวนยาง ขณะที่ผู้ผลิตยางแผ่นมีความต้องการที่จะหาวิธีการลดต้นุทนและประหยัดพลังงาน ด้านผู้ผลิตยางแบบครบวงจรเองก็มีความต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกสู่ตลาด
ทางด้านอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันนั้น ปัจจุบันมาให้ความสนใจกับการผลิตไบโอดีเซลมากขึ้น จึงต้องการเทคโนโลยีใหม่ๆในการผลิต รวมทั้งระบบการจัดการสวนปาล์มแบบครบวงจร ตลอดจนถึงการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ปาล์มเพื่อให้ได้คุณภาพสูงสุดตั้งแต่ต้นน้ำ ขณะที่ความต้องการของอุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูปกุ้ง จากการสำรวจเบื้องต้น พบว่า ปัญหาของผู้เลี้ยงกุ้งมาจากกุ้งใหญ่ซึ่งเคยเป็นพันธุ์กุ้งที่เคยสร้างรายได้ในอดีต แต่ปัจจุบันแทบไม่มีตลาดแล้ว ดังนั้น จึงต้องการที่จะพัฒนาให้เกิดการเลี้ยงกุ้งที่ไม่ทำลายระบบนิเวศน์ มีระบบการจัดการฟาร์มที่ดี และต้องการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์กุ้งสีเข้ามาทดแทน รวมถึงการพัฒนาถุงบรรจุภัณฑ์สำหรับการขนส่งกุ้งที่สามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่และไม่ทำให้กุ้งได้รับความเสียหายระหว่างการขนส่งแทนการใช้ถุงพลาสติก ซึ่งนายอภิชาติ เชื่อว่า โครงการนี้ จะเป็นตัวเชื่อมระหว่างผู้ที่ต้องการใช้เทคโนโลยี กับผู้ที่มีเทคโนโลยีได้เป็นอย่างดี