กรุงเทพฯ--9 เม.ย.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ปรับแนวโน้มอันดับเครดิตของ บมจ. ปูนซีเมนต์ไทย หรือ SCC เป็นลบจากแนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ ในขณะเดียวกัน ฟิทช์คงอันดับเครดิตระยะยาวของ SCC และของหุ้นกู้ของบริษัทที่ระดับ ‘A+(tha)’ และคงอันดับเครดิตระยะสั้นของ SCC ที่ระดับ ‘F1(tha)’
การปรับแนวโน้มอันดับเครดิตสะท้อนถึงสภาวะที่อ่อนแอลงในธุรกิจหลักของ SCC อันเนื่องจากผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนวัตถุดิบและพลังงาน รวมถึงอุปทานที่ล้นตลาดและความไม่แน่นอนของอุปสงค์ในระดับโลกในส่วนของธุรกิจหลัก ซึ่งอาจจะทำให้ผลประกอบการและระดับของอัตราส่วนกำไรของบริษัทลดความแข็งแกร่งลงไปอีกได้ รวมถึงทำให้ความคล่องตัวทางการเงินของบริษัทลดลงด้วย ปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้เกิดขึ้นในช่วงที่ SCC กำลังมีแผนการลงทุนในระดับที่สูงเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตในธุรกิจหลักในช่วงปี 2551-2553 ในขณะที่การเพิ่มขึ้นในส่วนของกำลังการผลิตของคู่แข่งอาจจะมีผลทำให้ SCC มีอัตราส่วนกำไรลดลงไปอีก และอาจจะทำให้ SCC ต้องเผชิญกับอัตราหนี้สินที่สูงเกินกว่าที่ฟิทช์คาดการณ์ไว้ ถึงแม้ว่าความเสี่ยงดังกล่าวจะถูกลดทอนลงบ้างจากความสามารถในการปรับเปลี่ยนแผนการลงทุนของบริษัทในช่วงปี 2552-2553 และความสามารถของ SCC ที่จะสร้างกระแสเงินสดจากการขายการลงทุนที่ไม่ใช่ธุรกิจหลักออกไป นอกจากนี้ แนวโน้มการอ่อนตัวลงของเศรษฐกิจโลกซึ่งเกิดจากภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐยังอาจจะทำให้สภาวะอุตสาหกรรมที่อยู่ในช่วงขาลงในธุรกิจหลักของ SCC โดยเฉพาะในธุรกิจปิโตรเคมี ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 50% ของกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของเครือ ลดลงมากขึ้นและอยู่ในช่วงขาลงที่ยาวนานขึ้น
SCC มีกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (ไม่รวมเงินปันผลรับจากเงินลงทุนในบริษัทร่วม) ที่ระดับ 3.87 หมื่นล้านบาทในปี 2550 ซึ่งต่ำกว่าที่บริษัทประมาณการไว้กว่า 20% อันมีผลมาจากต้นทุนที่สูงขึ้นและการแข็งค่าของเงินบาทที่มีผลต่อรายได้จากการส่งออก อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (Operating EBITDA Margin) ลดลงต่อเนื่องมาที่ 14.5% ในปี 2550 จาก 25.3% ในปี 2547 อย่างไรก็ตาม SCC มีอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (รวมเงินปันผลรับจากเงินลงทุนในบริษัทร่วม) อยู่ที่ระดับ 2.1 เท่า ณ สิ้นปี 2550 (เทียบกับ 1.9 เท่า ณ สิ้นปี 2549) ซึ่งเป็นระดับที่บริษัทประมาณการไว้โดยเป็นผลจากระดับของกระแสเงินสดที่ใช้เพื่อการลงทุนต่ำกว่าที่คาดไว้ เมื่อพิจารณาถึงแผนการลงทุนที่เพิ่มขึ้นและแนวโน้มที่อ่อนตัวลงของกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย บริษัทคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (รวมเงินปันผลรับจากเงินลงทุนในบริษัทร่วม) น่าจะเพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ในระดับ 2.5-3.0 เท่า ในช่วงปี 2551-2552 ในขณะที่การเติบโตของกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่ายจากกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นจะช่วยลดอัตราส่วนหนี้สินให้ลงมาที่ระดับต่ำกว่า 2.5 เท่าได้ภายในสิ้นปี 2553
SCC มีแผนการลงทุนหลักจำนวน 5.7 หมื่นล้านบาทระหว่างปี 2551 ถึงปี 2553 ประกอบด้วยเงินลงทุนในโรงงานโอเลฟินส์แห่งที่สองและโครงการปิโตรเคมีปลายน้ำ โครงการสร้างโรงงานผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์แห่งใหม่ในประเทศเวียดนาม โครงการเพิ่มกำลังการผลิตภายในประเทศของกระดาษพิมพ์เขียน และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของธุรกิจปูนซีเมนต์ นอกจากนี้ บริษัทยังมีโครงการลงทุนเพิ่มเติมอีก 3.5 หมื่นล้านบาทในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ โดยโครงการเพิ่มเติมดังกล่าวนี้ SCC มองว่าสามารถที่จะปรับลดระดับของการลงทุนหรือเลื่อนเวลาการลงทุนออกไปได้ถ้าหากผู้บริหารระดับสูงของบริษัทมองว่าอาจจะมีผลกระทบต่ออัตราส่วนหนี้สินระยะยาวของ SCC
ฟิทช์กล่าวว่าการลดลงของอัตราส่วนกำไรอย่างต่อเนื่องและระดับของหนี้สินสุทธิที่สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้อาจส่งผลกระทบในทางลบต่ออันดับเครดิตของ SCC ได้ ในทางตรงกันข้าม ความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่แข็งแกร่งซึ่งส่งผลให้ระดับของอัตราส่วนหนี้สินปรับลดลงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าอัตราส่วนหนี้สินระยะยาวที่บริษัทกำหนดไว้ที่ 2.5 เท่า หรือต่ำกว่านั้นได้อย่างต่อเนื่อง จะช่วยทำให้แนวโน้มอันดับเครดิตของ SCC มีเสถียรภาพมากขึ้น
SCC เป็นบริษัทอุตสาหกรรมชั้นนำของประเทศไทยโดยมีทรัพย์สินรวม 2.49 แสนล้านบาทและมีรายได้สุทธิ 2.68 แสนล้านบาทในปี 2550 หลังจากเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 SCC มีการปรับโครงสร้างธุรกิจโดยแบ่งออกเป็น 5 ธุรกิจหลัก ประกอบด้วย ธุรกิจปูนซีเมนต์ ธุรกิจปิโตรเคมี ธุรกิจกระดาษ ธุรกิจวัสดุก่อสร้าง และธุรกิจจัดจำหน่าย และมีการขายเงินลงทุนในธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจหลักออกไป SCC มีผู้ถือหุ้นหลักเป็นสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ (CPB) ซึ่งเป็นองค์กรที่ดูแลและจัดการเกี่ยวกับผลประโยชน์ของพระมหากษัตริย์ไทย
หมายเหตุ : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) เป็นการวัดระดับความน่าเชื่อถือในเชิงเปรียบเทียบกันระหว่างองค์กรในประเทศนั้นๆ โดยจะใช้ในประเทศที่อันดับเครดิตแบบสากลของรัฐบาลในประเทศนั้นอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ อันดับเครดิตขององค์กรที่ดีที่สุดของประเทศได้จัดไว้ที่ระดับ “AAA” และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับองค์กรที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศได้ถูกจัดทำขึ้นเพื่อใช้ในตลาดในประเทศเป็นหลักและจะมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับประเทศนั้นๆ เช่น “AAA(tha)” ในกรณีของประเทศไทย ดังนั้นอันดับเครดิตภายในประเทศจึงไม่สามารถใช้เปรียบเทียบระหว่างประเทศได้
ติดต่อ: วสันต์ ผลเจริญ, เลิศชัย กอเจริญรัตนกุล, Vincent Milton + 662 655 4755
คำจำกัดความของอันดับเครดิตและการใช้อันดับเครดิตดังกล่าวของฟิทช์ สามารถหาได้จาก www.fitchratings.com อันดับเครดิตที่ประกาศ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดอันดับเครดิต ได้แสดงไว้ในเว็บไซต์ดังกล่าวตลอดเวลา หลักจรรยาบรรณ การรักษาข้อมูลภายใน ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้น แนวทางการเปิดเผยข้อมูลระหว่างบริษัทในเครือ กฏข้อบังคับรวมทั้งนโยบายและกระบวนการที่เกี่ยวข้องอื่นๆของฟิทช์ ได้แสดงไว้ในส่วน ‘หลักจรรยาบรรณ’ ในเว็บไซต์ดังกล่าวเช่นกัน