การผลักดันให้ประเทศไทยมีเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ให้เกิดพื้นที่ลงทุนใหม่ของประเทศ เพื่อเร่งดึงดูดนักลงทุนจากทั่วโลก สู่อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ อันจะนำไปสู่การยกระดับเศรษฐกิจและสังคมให้ประชาชนและชุมชน
ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา (2561-2565) อีอีซี ได้ผลักดันโครงการลงทุนในพื้นที่ ได้รับอนุมัติการลงทุนเกินกว่าเป้าหมายที่วางไว้ โดยมีเงินลงทุนถึง 1.92 ล้านล้านบาท จากเป้าหมายเดิมอยู่ที่ 1.7 ล้านล้านบาท และเกิดการจ้างงานมากกว่า 200,000 คน
พื้นที่อีอีซี จึงเป็นจุดรวมความสนใจของนักลงทุนทั่วโลก และจำเป็นต้องมีการพัฒนาบุคลากรที่มีทักษะรองรับใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลไทยเร่งส่งเสริมการลงทุนอยู่ด้วย สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี จึงได้ร่วมมือกับ 3 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกระทรวงแรงงาน พัฒนาทักษะบุคลากร ผลิตคนให้ตรงความต้องการตลาด มาตลอด 4 ปีเต็ม ภายใต้โครงการ EEC Model : Demand Driven Education มีเป้าหมายประมาณ 457,000 คน ขณะนี้ได้ดำเนินการอบรมแล้วกว่า 16,000 คน คาดว่าปี 2566 จะดำเนินการได้เพิ่มอีกกว่า 150,000 คน และจะทำต่อให้แล้วเสร็จอีกประมาณ 324,000 คนตามเป้าหมายที่วางไว้
อีอีซี โมเดล ประกอบด้วย 2 รูปแบบ คือ 1. EEC Model Type A เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษากับสถานประกอบการ (เอกชนจ่าย 100%) ในการกำหนดหลักสูตรตอบโจทย์การทำงานในอุตสาหกรรมเป้าหมาย และประกันการมีงานทำของผู้เรียน โดยผู้ประกอบการสนับสนุนค่าเล่าเรียนทั้งหมด เรียนจบได้ปริญญา หรือ ประกาศนียบัตรวิชาชีพ 2. EEC Model Type B เป็นการฝึกอบรมระยะสั้น เพื่อปรับทักษะ เพิ่มทักษะ ในระยะเร่งด่วน ให้กับบริษัทที่สนใจเข้าร่วมโครงการ และต้องการฝึกอบรมพนักงาน โดยภาครัฐอุดหนุนไม่เกินร้อยละ 50 ส่วนที่เหลือเอกชนเป็นผู้สนับสนุน
นายปัญจพล ภู่จีน พนักงาน บริษัท โรเบิร์ต บ๊อช จำกัด บุคคลากรตัวอย่างจากการเข้าร่วมโครงการ อีอีซี โมเดล เปิดเผยว่า "เดิมเลือกเรียนสายช่างยนต์ หลังจากมีโครงการนี้จึงตัดสินใจมาเรียนสาขาเมคคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์ ในปีแรกเรียนที่วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ จากนั้นได้ฝึกงานเป็นเวลา 1 ปี พร้อมเรียนรู้กับผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆที่สถาบันไทย-เยอรมัน เปรียบเสมือนเป็นพนักงานคนหนึ่ง โดยขณะที่ฝึกงานได้มีพี่เลี้ยงสอนงานให้ มีโอกาสได้ลงมือปฏิบัติงานจริง ได้เรียนรู้ชีวิตในการทำงาน และถือเป็นโอกาสที่ดีของชีวิตที่ได้รับทุนการศึกษาตลอดหลักสูตร และได้รับค่าตอบแทนตอนขณะที่ฝึกงาน รวมทั้งได้รับสวัสดิการ ค่าเช่าบ้าน อาหารกลางวัน จบมามีเงินเดือนที่สูงกว่า ไก้ทั้งทักษะการทำงานและ ทักษะด้านภาษา นับว่าได้เปรียบกว่าคนที่เรียนภาคปกติ"
ด้าน นางสาววรรณวิสา สารกุล วิศวะกร บริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี (ประเทศไทย) จำกัด เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ได้เข้าเรียนหลักสูตร EEC Type A หลังได้รับคำแนะนำให้ศึกษาต่อที่วิทยาลัยสัตหีบ รูปแบบของการเรียนจะแตกต่างจากการเรียนปกติ เพราะได้ฝึกงานที่โรงงานฟอร์ด สลับกับการเรียนที่วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ ทำให้เห็นการทำงานและปัญหา พร้อมเรียนรู้การทำงานจากเครื่องมือจริง และระหว่างเรียนยังได้รับเบี้ยเลี้ยง สวัสดิการด้านอาหาร ชุดพนักงาน รถรับส่งนอกเหนือจากการศึกษาที่ได้รับตลอด 2 ปี และเมื่อจบการศึกษายังได้ทำงานในตำแหน่งที่ฝึกงานโดยตรง
"การฝึกงานที่โรงงานได้เห็นว่าต้องทำอะไรบ้าง ต้องเจออะไรบ้าง ได้รับทักษะมากกว่าการที่เรียนในวิทยาลัยที่ได้จับแค่หุ่นยนต์ตัวเล็ก แต่โรงงานจะเป็นหุ่นยนต์ที่เป็นขนาดใหญ่เลย ได้จับโปรแกรมของโรงงานจริงๆว่าควบคุมอย่างไร เมื่อเรียนจบ ทางบริษัทฯก็รับมาในตำแหน่งที่ฝึกงานเลย ทำให้ได้โอกาสมากกว่า" นางสาววรรณวิสา กล่าว
พร้อมกันนี้ การพัฒนาบุคลากรที่มีทักษะสูง ภายใต้ อีอีซี โมเดล ดังกล่าว ยังได้ตอบโจทย์ การศึกษาหัวข้อ ระบบอัตโนมัติในภาคการผลิต : ผลกระทบเชิงเศรษฐกิจ และนัยต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมไทย จากอีอีซี ที่ศึกษาถึงผลของการใช้ระบบอัตโนมัติ และ หุ่นยนต์ต่อผลิตภาพการผลิตและการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมของไทย ซึ่งได้ใช้ข้อมูลที่รวบรวมโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) จำนวน 12,792 โรงงาน (ในช่วงปี 2560 -2563) ครอบคลุมใน 22 สาขาอุตสาหกรรม โดยมีข้อสรุปที่สำคัญ พบว่า การลงทุนระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ของไทย มีสัดส่วนการใช้งานและแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคกลาง และพื้นที่อีอีซี มีสัดส่วนการใช้หุ่นยนต์สูงกว่าพื้นที่อื่น ๆ จากความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานและการสนับสนุนของภาครัฐ โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการใช้งานสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์ เหล็ก และการผลิตเครื่องจักรและอุปกรณ์
ผลการศึกษา ยังได้ชี้ชัดว่า การใช้งานระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ จะช่วยยกระดับการผลิตในภาคอุตสาหกรรมของไทย ไม่ได้ส่งผลลบต่อการจ้างงาน แต่ทำให้เกิดการจ้างงานรวมปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะความต้องการแรงงานทักษะสูง ซึ่งจะเป็นทิศทางสำคัญที่อีอีซี ได้ดำเนินการมาโดยตลอด เพื่อเร่งพัฒนาทักษะแรงงาน รองรับความต้องการบุคลากรทักษะสูง ในภาคอุตสาหกรรมให้แข่งขันและเติบโตได้ในอนาคต สร้างตำแหน่งงานที่มั่นคง และรายได้ดีให้คนไทย
ภายใต้หลักสูตรอีอีซี โมเดล จึงเป็นการศึกษายุคใหม่ พัฒนาบุคลากรให้ทักษะสูงตรงตามความต้องการ หรือ Demand driven ไม่เพียงตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการ เพื่อช่วยสร้างแรงจูงใจให้กับนักลงทุนที่จะเข้ามาร่วมลงทุนในพื้นที่อีอีซี ยังเป็นการสร้างความพร้อมของบุคลากรก่อนลงสู่ตลาดแรงงาน ขับเคลื่อนประเทศไทยก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ และเป็นต้นแบบการศึกษาของไทยที่จะนำไปใช้ทั่วประเทศ เพื่อสร้างโอกาส และป้องกันปัญหาเด็กจบใหม่ไม่มีงานทำได้ด้วย