ตลาดหลักทรัพย์ฯ เผยแผนกลยุทธ์ระยะ 3 ปี (2566-2568) ขยายการเติบโตไปพร้อมกัน ทั้งธุรกิจ อุตสาหกรรมตลาดทุน สังคม และประเทศ เพื่อสร้างโอกาสที่มากกว่าเพื่อทุกคน (Growth for Business, Industry, Society) โดยมุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานกลาง เชื่อมระบบนิเวศการลงทุนในตลาดทุนปัจจุบันกับการลงทุนแห่งอนาคต ทำให้ตลาดทุนเป็นเรื่องง่ายสำหรับผู้ประกอบการและผู้ลงทุน ตอบโจทย์ความต้องการที่แตกต่าง ครอบคลุมตั้งแต่เป็นแหล่งระดมทุนสำหรับภาคธุรกิจทุกขนาดและเดินหน้าเชิงรุกดึงดูดอุตสาหกรรมใหม่ (new economy) รวมทั้งสนับสนุนการระดมทุนผ่านการออกโทเคนดิจิทัล และออกผลิตภัณฑ์ที่ใช้เงินลงทุนจำนวนน้อย ไปจนถึงการศึกษาความเป็นไปได้ในการออกผลิตภัณฑ์การลงทุนด้านสิ่งแวดล้อม (environment-linked) ควบคู่กับการส่งเสริมการพัฒนาความรู้ด้านการเงินของคนไทย นอกจากนี้ ยังมุ่งขับเคลื่อนความยั่งยืนอย่างต่อเนื่องทั้งภายในและภายนอกองค์กรผ่านความร่วมมือกับพันธมิตร เพื่อให้ตลาดทุนและเศรษฐกิจของประเทศไทยเติบโตได้อย่างสมดุลและยั่งยืน
นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วทั้งเทคโนโลยี พฤติกรรมผู้บริโภค ความผันผวนของการเคลื่อนย้ายเงินทุน และความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของโลกจากภาวะเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง รวมถึงความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งใน 3 ปีข้างหน้านี้ (2566-2568) ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะมุ่งเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของตลาดทุนไทย ควบคู่ไปกับการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนทั้งสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล เพื่อให้ตลาดทุนเป็นประโยชน์แก่ทุกภาคส่วน ตามวิสัยทัศน์ตลาดหลักทรัพย์ฯ "To Make the Capital Market 'Work' for Everyone" ผ่านกลยุทธ์ 4 ด้าน ดังนี้
ด้านที่ 1: ทำตลาดทุนให้เป็นเรื่องง่าย (Make fundraising & investment simple)
- เพิ่มโอกาสการระดมทุน โดยมุ่งส่งเสริมให้ธุรกิจทุกขนาดทั้งเล็ก กลาง ใหญ่ เข้ามาใช้ประโยชน์จากตลาดทุนได้ง่ายขึ้นและมากขึ้น โดยเฉพาะการสนับสนุนอุตสาหกรรมใหม่ตั้งแต่กระบวนการให้ข้อมูลและเตรียมความพร้อมให้กับธุรกิจที่มีศักยภาพ และจะมุ่งพัฒนาเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ ต่อยอดจาก LiVE Academy และ LiVE Platform เพื่อให้มีความพร้อมในการเข้าถึงแหล่งระดมทุนได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ จะพัฒนาศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลไทย (Thai Digital Assets Exchange: TDX) เป็นแพลตฟอร์มสำหรับการซื้อขายโทเคนดิจิทัลทั้ง investment token และ utility token ในไตรมาส 3/2566
- เพิ่มโอกาสการลงทุน มุ่งเพิ่มความหลากหลายด้วยผลิตภัณฑ์ที่ใช้เงินลงทุนไม่มากสำหรับผู้ลงทุนรายเล็ก รวมทั้งศึกษาการออกผลิตภัณฑ์ลงทุนที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (environment-linked) และการขยายเวลาซื้อขายหลักทรัพย์เพื่อเพิ่มความสะดวกในการลงทุน เพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการเปิดบัญชีลงทุนเพื่อสร้างโอกาสการเข้าถึงตลาดทุนที่ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น ควบคู่ไปกับการพัฒนาแพลตฟอร์มของ Settrade เพื่อเป็น "Capital Market Super App" ในการเชื่อมต่อโอกาสการลงทุนในหลากหลายสินทรัพย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ด้านที่ 2: ยกระดับมาตรฐานเพื่ออุตสาหกรรม (Move industry & ecosystem with standard) พัฒนาระบบซื้อขายใหม่ภายในไตรมาส 1/2566 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบนิเวศการลงทุน และรองรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุนใหม่ ๆ พร้อมยกระดับความปลอดภัยทางไซเบอร์ร่วมกับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม รวมทั้งปรับปรุงกฎเกณฑ์การซื้อขายที่เกี่ยวข้องให้ทันสมัย และให้สอดคล้องกับสภาวะตลาดที่เปลี่ยนไปและระบบซื้อขายใหม่
ด้านที่ 3: ร่วมสร้างโอกาสเพื่อก้าวข้ามขีดจำกัด (Match partners for synergy) พัฒนาการเผยแพร่ข้อมูลผ่าน SMART Marketplace เพิ่มข้อมูลและฟังก์ชันที่ใช้ในการวิเคราะห์เพื่อตอบโจทย์การใช้งาน รวมทั้งต่อยอดงานวิจัยแบบ Thematic และ Issue-based เพื่อให้สามารถนำไปใช้ได้จริงในการพัฒนาตลาดทุนด้านต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน จะมีการรวบรวมข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) ของบริษัทจดทะเบียนมาไว้บน ESG Data Platform โดยเริ่มเผยแพร่ข้อมูลได้ในไตรมาส 2/2566 นอกจากนี้ จะพัฒนาการจัดทำ ESG Ratings เพื่อสนับสนุนการออกสินค้า ESG-Linked
ด้านที่ 4: ยึดหลักความยั่งยืนเป็นแกนขับเคลื่อนการทำงาน (Merge ESG with substance) ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้นำมิติด้าน ESG ขับเคลื่อนการดำเนินงานทั้งกระบวนการภายใน และภายนอกองค์กรโดยทำงานร่วมกับพันธมิตร นำไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
- ด้าน E หรือ Environmental พัฒนาบุคลากรด้าน ESG ในตลาดทุนและสถาบันการศึกษา รวมทั้งส่งเสริมให้มี ESG Champion ด้านการดูแลสิ่งแวดล้อมผ่าน ESG Academy และพัฒนา Climate Care Platform ให้ครอบคลุมฟังก์ชันการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและการเชื่อมต่อพันธมิตร นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero รวมทั้งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านการใช้ Cloud และการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของ Data Center (Green Data Center)
- ด้าน S หรือ Social ส่งเสริมความรู้ทางการเงินแก่วัยเกษียณและกลุ่มผู้มีรายได้น้อย จัดให้มีการวัดระดับความรู้ทางการเงินของคนไทยเพื่อพัฒนาเนื้อหาและช่องทางที่ตอบโจทย์ พร้อมทั้งเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการโดยจะมุ่งเน้นธุรกิจครอบครัว (Family Business) ผ่าน LiVE Platform และกระบวนการพัฒนาธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise: SE) รวมทั้งร่วมกับมหาวิทยาลัยและอาชีวศึกษาสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ขณะเดียวกัน จะมีการเตรียมความพร้อมและพัฒนาทักษะให้แก่บุคลากรของตลาดหลักทรัพย์ฯ อย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับการขับเคลื่อนตลาดทุนสู่อนาคต
- ด้าน G หรือ Governance เร่งปรับปรุงกฎเกณฑ์การกำกับดูแลให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน พัฒนาเครื่องมือการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพให้สามารถรองรับผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ รวมทั้งประสานการทำงานร่วมกับภาครัฐและหน่วยงานกำกับดูแล นอกจากนี้ จะขยายเครือข่ายความร่วมมือไปยังองค์กรต่าง ๆ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาตลาดทุนในระยะยาว ทั้งนี้ ด้านกระบวนการภายใน ดำเนินการเตรียมพร้อมยกระดับการบริหารความเสี่ยงองค์กร พร้อมนำเทคโนโลยีและข้อมูลเชิงวิเคราะห์มาพัฒนากระบวนการทำงานอย่างต่อเนื่อง
ตลาดหลักทรัพย์ฯ มุ่งหวังว่าการดำเนินกลยุทธ์ 4 ด้านดังกล่าวจะมีส่วนในการสร้างโอกาสที่มากกว่าสำหรับผู้เกี่ยวข้องกลุ่มต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการขยายโอกาสการระดมทุนและการลงทุนสำหรับผู้ประกอบการและผู้ลงทุน การยกระดับโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมตลาดทุน และดูแลสังคม ควบคู่กับสิ่งแวดล้อมเพื่อการเติบโตที่สมดุล และยั่งยืนไปพร้อมกันทั้งธุรกิจ ตลาดทุน เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และประเทศชาติ
สรุปพัฒนาการสำคัญตามแผนงานปี 2565
ด้านการเชื่อมโยงโอกาสทุกภาคส่วน
- หุ้น IPO มีมูลค่าเสนอขายที่ 127,836 ล้านบาท สูงสุดในอาเซียนและเป็นอันดับ 4 ในเอเชีย โดยมี 9 บริษัทจดทะเบียนอยู่ในอุตสาหกรรมที่เป็น New Economy ช่วยเสริมสร้างความหลากหลายและน่าสนใจให้กับตลาดทุน
- ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีสภาพคล่องสูงสุดในอาเซียนต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2555 โดยในปี 2565 มีมูลค่าการซื้อขายหุ้นเฉลี่ย 76,773 ล้านบาทต่อวัน
- TFEX มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ย 565,627 สัญญาต่อวัน (อันดับ 2 ในอาเซียน ข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการ ณ เดือน พ.ย. 2565)
- ออก 2 ผลิตภัณฑ์ DRx ได้แก่ AAPL80X ซึ่งอ้างอิงหลักทรัพย์ บริษัท แอปเปิ้ล อิงค์ และ TSLA80X ซึ่งอ้างอิงหลักทรัพย์ บริษัท เทสล่า อิงค์ ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ Nasdaq ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อขยายโอกาสในการลงทุนที่ใช้เงินลงทุนจำนวนน้อยให้แก่ผู้ลงทุนโดยเฉพาะรายเล็กและยังเพิ่มโอกาสในการกระจายการลงทุนไปยังต่างประเทศ
- 3 หลักทรัพย์แรกเข้าจดทะเบียนใน LiVE Exchange (LiVEx) ได้แก่ บมจ. แอดวานซ์ เว็บ เซอร์วิส (AWS22) บมจ. สิทรอน เพาเวอร์ (SITRON22) และ บมจ. สตอเรจ เอเชีย (ISTORE22)
- จัดทำแนวทางปรับปรุงกระบวนการและกลไกการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายหลักทรัพย์ ทั้งการพิจารณาลูกค้า พัฒนาศูนย์ข้อมูลลูกค้า รวมถึงการรับหลักทรัพย์ กฎเกณฑ์การซื้อขาย ตรวจสอบข้อมูล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพกลไกการดำเนินงานให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน
ด้านการพัฒนานวัตกรรมโครงสร้างพื้นฐานที่ทุกคนไว้วางใจ
- TDX ได้รับใบอนุญาตการประกอบธุรกิจ และมีระบบพร้อมให้บริการ โดยปัจจุบันมีความร่วมมือกับพันธมิตรซึ่งเป็นผู้ให้บริการ ICO Portal 3 ราย
- FundConnext มีธุรกรรมซื้อขายกองทุนรวม 31,400 รายการต่อวัน และมีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้น 11 ราย (selling agent และบลจ. รวม 78 ราย คิดเป็น 73% ของอุตสาหกรรมกองทุนรวม
- FinNet ครอบคลุมการชำระเงินตลาดหุ้นประมาณ 25% ของทั้งอุตสาหกรรม และปัจจุบันได้เพิ่มบริการ Interbank, Intrabank, QR Code, Direct Debit Registration (DDR) ไปยังธุรกรรมอื่น ๆ ในตลาดทุน เพื่อให้ครอบคลุมธุรกรรมกองทุน สัญญาซื้อขายล่วงหน้า ฯลฯ อย่างต่อเนื่อง
- พัฒนา e-Meeting ระบบการจัดประชุมผู้ถือหุ้นแบบ end-to-end เพื่อรองรับวิถีชีวิตใหม่ (New normal) โดยให้บริการแก่บริษัทจดทะเบียน 80 บริษัท ในปี 2565
- SMART Marketplace เพิ่มข้อมูล ESG และข้อมูล บจ. โดยให้บริการข้อมูลผ่าน API แก่ผู้ใช้งานกว่า 50 บริษัท และเดินหน้าขยายบริการต่อเนื่อง
- เปิดตัว ESG Data Platform ฐานข้อมูลด้าน ESG เชื่อมโยงความยั่งยืนจากบริษัทจดทะเบียน สู่ผู้ลงทุน และสังคม
ด้านการส่งเสริมความยั่งยืน
- สร้างการเรียนรู้ทางการเงินสำหรับคนไทย ผ่านสื่อในแคมเปญ Happy Money รู้สู้หนี้ จำนวน 4.5 ล้านวิว และ มีผู้ประกอบการเข้าร่วม LiVE Platform จำนวน 180,632 ราย
- เสริมสร้างกิจการเพื่อสังคม โดยมี 62 business co-creation ระหว่าง บจ. และ SE
- 26 บจ. อยู่ในดัชนี DJSI มากที่สุดในอาเซียนเป็นปีที่ 9 โดย S&P Global
- กว่า 400 บจ. ไทยร่วมลดโลกร้อนผ่าน Climate Care Collaboration และนำเสนอโครงการ Care the Bear แก่นานาชาติในการประชุม APEC 2022 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ รวมทั้งอาคารตลาดหลักทรัพย์ฯ บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality)