ธนาคารกสิกรไทย ร่วมสมทบทุน 33.6 ล้านบาทให้โรงพยาบาลสระบุรี สร้างหอผู้ป่วยวิกฤตศัลยกรรมหัวใจและทรวงอก พร้อมจัดซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์ รองรับการผ่าตัดหัวใจแบบเปิด-ผ่าตัดลิ้นหัวใจ เพื่อขยายการบริการให้ผู้ป่วยในพื้นที่จังหวัดสระบุรีและใกล้เคียงได้รับการผ่าตัดเร็วขึ้น ตอกย้ำความมุ่งมั่นของธนาคารที่ส่งเสริมการนำเทคโนโลยีช่วยพัฒนาบริการทางการแพทย์ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงอย่างเท่าเทียมกัน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทย นำไปสู่การขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศ ทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เผยในอนาคตธนาคารเตรียมพัฒนาโครงการเพื่อช่วยส่งเสริมให้ประชาชนสามารถใช้บริการจากผู้ให้บริการขนาดเล็กที่มีคุณภาพ ทั้งผู้ให้บริการคลินิก หรือบริการผ่านเทคโนโลยีเฮลท์เทค อย่างทั่วถึง
นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ธนาคารกสิกรไทยดำเนินธุรกิจควบคู่กับการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ โดยให้ความสำคัญแก่การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยยกระดับบริการในอุตสาหกรรมต่าง ๆโดยเฉพาะบริการด้านสุขภาพที่เป็นหัวใจสำคัญในการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีอีกทั้งเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างการเติบโตและการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ธนาคารจึงได้เข้าร่วมพัฒนาระบบนิเวศการดูแลสุขภาพของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมบริการในโรงพยาบาลรัฐขนาดใหญ่ที่ต้องรองรับการใช้บริการของประชาชนจำนวนมาก ล่าสุด ธนาคารกสิกรไทยได้สนับสนุนงบประมาณ 33.6 ล้านบาท แก่โรงพยาบาลสระบุรี เพื่อสร้างหอผู้ป่วยวิกฤตศัลยกรรมหัวใจและทรวงอก พร้อมจัดหาครุภัณฑ์ทางการแพทย์ รองรับการผ่าตัดหัวใจแบบเปิด-ผ่าตัดลิ้นหัวใจ เพื่อให้โรงพยาบาลสระบุรีซึ่งเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ในพื้นที่ภาคกลางสามารถรองรับผู้ป่วยโรคหัวใจได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สร้างโอกาสและความเท่าเทียมในการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขให้แก่ผู้ใช้บริการทั้งในจังหวัดสระบุรีและใกล้เคียง
ทั้งนี้ ธนาคารกสิกรไทยจะเดินหน้าร่วมพัฒนาระบบนิเวศการดูแลสุขภาพของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ด้วยความมุ่งหวังที่จะร่วมเป็นกำลังสำคัญของประเทศในการช่วยให้ประเทศไทยมีความพร้อมที่จะดูแลประชาชน และรับมือกับสถานการณ์การเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ของประเทศมากยิ่งขึ้น โดยที่ผ่านมาธนาคารได้มีการร่วมพัฒนาดิจิทัลเฮลท์แคร์แพลตฟอร์มเพื่อเพิ่มศักยภาพการให้บริการด้านสุขภาพให้แก่โรงเรียนแพทย์และโรงพยาบาลภาครัฐขนาดใหญ่ต่าง ๆ รวมทั้งการพัฒนาแอปพลิเคชัน "หมอพร้อม" ของกระทรวงสาธารณสุข และ "หมอ กทม." ของกรุงเทพมหานคร นอกจากนี้ ในอนาคตธนาคารจะมีการพัฒนาโครงการเพื่อช่วยส่งเสริมให้ประชาชนสามารถใช้บริการจากผู้ให้บริการขนาดเล็กที่มีคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็นผู้ให้บริการคลินิก หรือบริการผ่านเทคโนโลยีที่เรียกว่าเฮลท์เทคได้อย่างทั่วถึง
นายแพทย์อนันต์ กมลเนตร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสระบุรี เปิดเผยว่า โรงพยาบาลสระบุรีเป็นโรงพยาบาลศูนย์ระดับตติยภูมิ ขนาด 700 เตียงในเขตสุขภาพที่ 4 สังกัดกระทรวงสาธารณสุข มีศักยภาพเป็นศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะโรค ได้แก่ โรคมะเร็ง ทารกแรกเกิด อุบัติเหตุ โรคหัวใจ และการปลูกถ่ายอวัยวะ อีกทั้งทำหน้าที่เป็นศูนย์รับส่งต่อผู้ป่วยที่มีอาการซับซ้อนในจังหวัดสระบุรีและใกล้เคียง ทั้งนี้ตั้งแต่ปี 2555 โรงพยาบาลสระบุรีได้เริ่มพัฒนาศักยภาพเพื่อเปิดบริการศูนย์โรคหัวใจดูแลผู้ป่วยในเขตสุขภาพที่ 4 เนื่องจากสถิติพบว่า มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นในทุกปี โดยมีทีมแพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจที่สามารถรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะเส้นเลือดหัวใจอุดตันด้วยวิธีการสวนหัวใจด้วยบอลลูนเพื่อขยายหลอดเลือด โดยในปี 2561-2564 มีผู้ป่วยได้รับการสวนหัวใจประมาณ 800-1,000 รายต่อปี แต่ด้วยข้อจำกัดในเรื่องบุคลากรทางแพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจด้านผ่าตัดหัวใจแบบเปิด ทำให้มีจำนวนผู้ป่วยที่ต้องรอคิวการผ่าตัดหัวใจแบบเปิด 60-80 รายต่อปี ระยะเวลารอคอยประมาณ 1-2 เดือน และรอคิวผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจประมาณ 40-50 รายต่อปี ระยะเวลารอคอยประมาณ1 ปี
เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาที่ได้กล่าวมาข้างต้น ทีมผู้บริหารของโรงพยาบาลจึงได้วางแผนดำเนินการมาโดยตลอดจนสามารถทำการผ่าตัดหัวใจแบบเปิด (Opened Heart Surgery) ให้กับผู้ป่วยรายแรกได้สำเร็จ เมื่อเดือนมกราคม 2565 ขณะเดียวกันได้มีแพทย์ศัลยกรรมทรวงอก สำเร็จการศึกษากลับมาประจำการเพิ่มอีก 2 คน โรงพยาบาลจึงได้วางแผนขยายการให้บริการผ่าตัดหัวใจแบบเปิดให้กับผู้ป่วยที่รอคิวผ่าตัดเป็นจำนวนมาก โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากธนาคารกสิกรไทย ในการปรับปรุงพื้นที่ภายในอาคาร 100 ปีสาธารณสุขไทย ชั้น 6 เพื่อเปิดบริการหอผู้ป่วยวิกฤตสำหรับดูแลผู้ป่วยหลังผ่าตัดหัวใจ (ICU CVT) จำนวน 8 เตียง รวมทั้งจัดหาครุภัณฑ์ที่จำเป็นโดยได้ดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2565 ที่ผ่านมา
นายแพทย์อนันต์ กล่าวด้วยว่า เมื่อโรงพยาบาลสามารถเปิดให้บริการหอผู้ป่วยวิกฤตสำหรับดูแลผู้ป่วยหลังผ่าตัดหัวใจ (ICU CVT) จะทำให้โรงพยาบาลสามารถเปิดบริการผ่าตัดหัวใจแบบเปิดได้ตามแผนที่กำหนดไว้ผู้ป่วยได้รับการดูแลหลังผ่าตัดตามมาตรฐาน สามารถลดระยะเวลารอคอยในผู้ป่วยโรคหัวใจที่ได้รับการรักษาเบื้องต้นที่โรงพยาบาลสระบุรีและที่จำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัด และที่สำคัญโรงพยาบาลสระบุรีมีห้องผู้ป่วยวิกฤตสำหรับดูแลผู้ป่วยหลังผ่าตัดหัวใจที่มีความพร้อมในด้านอุปกรณ์ทีมแพทย์ และพยาบาลทีมสหสาขาวิชาชีพ ที่มีศักยภาพในการดูแลผู้ป่วยในอนาคต